“ก้าวไกล” ไม่ให้ “ประยุทธ์” ตีเช็คเปล่า ผ่าเงินกองทัพเล่นกล “ลดงบเชิงบัญชี”

ทิม พิธา พรรคก้าวไกล อภิปราย

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่อยู่ในช่วงต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโควิด-19

กำลังเป็นรัฐบาลที่มีงบประมาณไว้จับจ่ายใช้สอยในคราวเดียวกันสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากเม็ดเงิน 3 ก้อนใหญ่ ก้อนแรก 3 พ.ร.ก.แก้วิกฤตโควิด 1.9 ล้านล้านบาท

ก้อนสอง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสภาในสัปดาห์นี้

รวมวงเงินทั้งหมดกว่า 5.28 ล้านล้านบาท ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ แก้วิกฤต

กับงบประมาณ 64 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสภาถูกกัน “งบฯกลาง” ไว้มากที่สุด สูงถึง 614,616,246,500 บาท มากกว่าปี 2563 ที่ตั้งไว้ 518,770,918,000 บาท และมากกว่าปี 2562 ที่ตั้งไว้ 471,532,000,000 บาท

ไส้ในของ “งบฯกลาง” อันเป็นที่รู้กันว่า ตลอดช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.-รัฐบาลทหารผสมพลเรือนหลังเลือกตั้ง 2562 มักล้วงกระเป๋า “งบฯกลาง” ในส่วน “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสารพัดแพ็กเกจที่ออกมาก่อนหน้านี้

โดยร่างงบประมาณ 64 ในส่วนของ “งบฯฉุกเฉินหรือจำเป็น” ตั้งไว้ 99,000,000,000 บาท เท่ากับปี 2562 แต่มากกว่าปี 2563 จำนวน 3,000,000,000 บาท ที่มีอยู่ 96,000,000,000 บาท

ที่สำคัญในสัดส่วน “งบฯกลาง” ในร่างงบฯปี”64 ยังบรรจุงบฯหัวข้อ “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” อีก 40,325,629,700 บาท

ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณรองลงมา ติดอยู่ใน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ 358,360,958,600 บาท กระทรวงมหาดไทย 328,013,017,700 บาท กระทรวงการคลัง 268,718,598,700 บาทและกระทรวงกลาโหมอยู่ในลำดับ 5 ของบฯไว้ 223,463,652,100 บาท

ขณะที่อันดับ 6-10 ประกอบด้วย ทุนหมุนเวียน 221,981,911,700 บาท กระทรวงคมนาคม 193,554,304,900 บาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 154,729,877,100 บาท กระทรวงสาธารณสุข 140,974,738,700 บาท และหน่วยราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 131,106,474,800 บาท

แต่งบฯที่ถูกคนการเมืองในฝ่ายค้าน-นักเคลื่อนไหวนอกทำเนียบ จับตาเป็นพิเศษคือ “งบฯกองทัพ” ก็ถูกปรับลดลงจากปี 2562 และ 2563

ไส้ในกองทัพในส่วนของงบฯ 64 นั้น กระทรวงกลาโหม ขอตั้งงบฯ 223,463,652,100 บาท มากสุดอยู่ที่กองทัพบก 107,661,700,600 บาท กองทัพเรือ 48,289,133,500 บาท กองทัพอากาศ 40,080,665,400 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 16,710,804,800 บาท สำนักงานปลัดกระทรวง 9,860,351,400 บาท และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 861,016,400 บาท

อย่างไรก็ตาม ในการนี้พรรคฝ่ายค้าน-ก้าวไกลเตรียม 17 ขุนพล เตรียมอภิปราย พุ่งเป้างบฯแก้เศรษฐกิจ-โควิด งบฯความมั่นคง งบฯลงทุน และการหารายได้เข้ารัฐ

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคกล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2563 ไม่มีการแก้ปัญหาของชาวภาคเหนือที่มีปัญหาไฟป่าคู่กับโควิด ภาคอีสานภัยแล้งคู่กับโควิด หรือภาคใต้ที่มีปัญหาการท่องเที่ยวพร้อมกับโควิด พวกเขาเหล่านี้ต้องผิดหวัง

ส่วนตัวมองว่าต้องเร่งเยียวยาภาคใต้ก่อนอันดับแรกตามความเร่งด่วน โดยดูจาก GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด) ของภูมิภาคไม่ใช่ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ดังนั้น จึงหวังว่าคนที่จะเข้ามาทำงาน หลังการปรับ ครม.ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ในการแก้งบประมาณที่ไม่ตรงจุด คิดแผนให้นายกรัฐมนตรี และหวังว่านายกฯจะไม่ใช้อำนาจและตีเช็คเปล่า

และหากโครงการที่เสนอมาใช้จ่ายจากงบเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาทไม่ตอบสนอง จุดประสงค์ก็ต้องโอนกลับมาใช้ในด้านการป้องกันโรคได้

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล ที่เกาะติดงบฯความมั่นคงกล่าวว่า “แม้งบฯกองทัพจะถูกปรับลดลงจากงบฯปี 2563 แต่เมื่อดูจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ที่ถูกปรับลดงบประมาณลงไปก่อนหน้านี้ และเพิ่งผ่านสภาไป ปรากฏว่างบฯกองทัพในปี 2564 กลับปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่าใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เท่ากับว่ากองทัพปรับลดงบประมาณลงใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 แล้วรัฐบาลก็คืนเงินนั้นกลับไปให้กองทัพอีกที”

“ในขณะที่งบฯช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างหนักกลับไม่มี มีแต่งบฯ โครงการของราชการเช่น ดูงาน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องการ” ขณะที่ซีกรัฐบาล อย่าง “ประชาธิปัตย์”ก็เตรียมขุนพลอภิปรายงบประมาณ 64 จำแนกจากปากคำ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุเป้าหมายการอภิปรายของประชาธิปัตย์ว่า

1.การจัดงบประมาณควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู บรรเทา และแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

3.กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ และ พ.ร.ก.โอนงบฯปี 2563 ที่ผ่านสภาไปแล้ว