ปรับ ครม. รอลมเปลี่ยนทิศ ลุ้นโปรเจ็กต์กระทรวงเศรษฐกิจส่อชะงัก

สุญญากาศการเมือง ข้าราชการเกียร์ว่าง รอปรับ ครม. หวั่นโครงการกระทรวงเศรษฐกิจส่อแววแป้ก CPTPP โรงไฟฟ้าชุมชน โซลาร์รูฟท็อป น้ำขาดแคลนใน EEC เผือกร้อนแบนสารพาราควอต คดีเหมืองทองอัครา คลังรอเจ้าภาพเคาะปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน 5 แสนล้านแก้ปัญหาเอสเอ็มอี คมนาคมสวนกระแส “ศักดิ์สยาม” ยันขาเก้าอี้แน่น 4 บิ๊กโปรเจ็กต์ฉลุย

จากกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายกระทรวงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และอาจเกิดสุญญากาศในการทำงาน หลังพรรคร่วมรัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับหน่วยราชการที่ต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายนโยบาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการปรับ ครม. นโยบายต่าง ๆ คงหยุดชะงัก เนื่องจากข้าราชการไม่มั่นใจว่า นโยบายที่ทำไปจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

“ตอนนี้คนทำงานไม่กล้าเริ่มงานใหม่ บางเรื่องต้องการเจ้าภาพ แต่ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ขณะนี้มีโครงการที่ต้องผลักดันคือ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไข เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ และการเตรียมพร้อมรับมือหนี้ตามมาตรการพักหนี้ครบ 6 เดือน ภาพรวมทิศทางจึงต้องมีความชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาคนตกงานจำนวนมากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝากไว้ให้ดำเนินการแต่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม ซึ่งยังมีกลุ่มลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมอีก

“คนที่จะเข้ามาต้องรู้สถานการณ์ คงไปเอาคนนอกวงการมาไม่ได้ และนายกรัฐมนตรีต้องรีบสร้างความชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากนโยบาย Energy for all อาจล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน อาทิ การส่งเสริมติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้านเรือนประชาชน (โซลาร์รูฟท็อป) โดยปี 2562 ติดตั้งไป 100 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนติดตั้งเพียง 1.8 เมกะวัตต์ จึงต้องทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟและปลดล็อกอุปสรรคต่าง ๆ โดยลดเป้าหมายการผลิตให้เหลือเพียง 50 เมกะวัตต์ต่อปีเป็นเวลา 5 ปี จากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี

ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนที่ตั้งเป้าภายใน 1 ก.ค. 2563 จะเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนควิกวิน 100 เมกะวัตต์ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และเร่งไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไฟฟ้าในอาเซียนนั้น คงต้องใช้เวลาผลักดันอีกพักใหญ่

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปีนี้มีโรงแรมและโรงงานปิดตัวจำนวนกว่าครึ่ง แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ริเริ่มไว้แล้วต้องไม่ให้สะดุด ต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนที่มาลงทุนในไทย ชัดเจนเรื่อง CPTPP เพราะการเตะไปเตะมาว่าจะเอาหรือไม่เอาทั้งที่ควรตัดสินใจให้เร็ว ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน และการส่งออก

“การแก้ปัญหาค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงพลังงานต้องเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้เกษตรกรนำวัตถุดิบทางเกษตร ขยะ มาขายให้โรงไฟฟ้าจะได้ใช้ไฟราคาถูก รวมถึงการทำ circular economy ด้วย”

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเผือกร้อนเรื่องการฟ้องร้องคดีแบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่รอผลพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่อง โดยใช้กองทุนเอสเอ็มอี กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและซอฟต์โลน เพื่อให้เอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“จากโรคระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก เหลือแต่ในส่วนของรัฐบาลที่ต้องเร่งลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากกับโครงการต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ทันที ไม่อยากให้เกียร์ว่าง”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับ ครม.ในส่วนกระทรวงคมนาคม ทุกโครงการจึงเดินหน้าเร็ว ครึ่งปีหลังนี้จะเห็นการขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ จะไม่มีข้าราชการคนใดเกียร์ว่าง

คาดว่าจะเซ็นสัญญาเปิดประมูล 4 โครงการใหญ่ช่วงครึ่งปีหลัง วงเงิน 428,301 ล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 50,633 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และ 4.เปิดประมูล PPP รถไฟชานเมือง สายสีแดง

นอกจากนี้ยังรออนุมัติงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมกรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท จะพิจารณารอบ 2 เดือน ส.ค.นี้ โดยยื่นขอไป 137,000 ล้านบาท


นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า เมื่อยังเป็นรัฐบาลเดิม เชื่อว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ยังคงต่อเนื่อง ส่วนการปฏิบัติก็เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องขับเคลื่อนตามนโยบาย การลงทุนของรัฐหรือเอกชนยังเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเดินหน้าต่อไป