ประยุทธ์ 2/2 ปรับดุลอำนาจใหม่ กระชับทีมเศรษฐกิจ คนใน-นอกลุ้นตัวโก่ง

การไขก๊อก-ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีของสมคิด+4 กุมาร ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินมาได้ครบขวบปี

จุดสตาร์ตจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ “ปักหมุด” ทันทีที่สภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เดือนกันยายน 2563 “อาจเร็วกว่าที่คาด”

เพราะการเปลี่ยนม้ากลางศึก “ทีมเศรษฐกิจ” ของทีมสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี-อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน-สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

ไทม์ไลน์ สมคิด-4 กุมาร ไขก๊อก

ย้อนไทม์ไลน์-จุดแตกหักหลังจาก 4 กุมาร “ขาลอย” จากเก้าอี้รัฐมนตรีตั้งแต่ “ถูกปลด” ออกจากตำแหน่งหัวหน้า-เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่สมคิด game over หลังจากพ่ายกลศึกยึดพรรคให้กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกเพื่อนรัก-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร หักเหลี่ยมโหด ทวงเก้าอี้กระทรวงพลังงาน-ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ตัวเปิดเกมหักดิบ 4 กุมาร “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “เด็กบิ๊กป้อม” ยื่นรายนาม 18 กก.บห.พปชร.ลาออก เปิดทางให้ พล.อ.ประวิตรนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐใน 45 วัน

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ นำภาคเอกชนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ท่ามกลางกระแสข่าวเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี 4 กุมาร พร้อมวลีเด็ด “มาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน”

วันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมใหญ่สามัญของพรรคพลังประชารัฐมีการลงมติลับ 516 เสียงเลือก พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค-นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 กลุ่ม 4 กุมาร แถลงข่าวลาออกจากสมาชิกพรรค ยุติบทบาทนักการเมือง-ปิดฉากกลุ่ม 4 กุมาร

วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นายสมคิดยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก่อนจะส่งสัญญาณให้ 4 กุมาร เตรียมยื่นใบลาออก-แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 กลุ่ม 4 กุมาร นายอุตตม-นายสนธิรัตน์-นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ ยื่นใบลาออก ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายอุตตม-4 กุมารแถลงหมดใจถึงสาเหตุการลาออกและอนาคตทางการเมืองที่มีเงาของสมคิด-ลูกพี่ใหญ่ยืนอยู่ข้างว่า เพื่อเป็นการให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ความคลุมเครือหายไป มีส่วนช่วยลดความกดดันทางการเมืองที่อาจจะมีขึ้น

“โดยเฉพาะต่อท่านนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความชะงักงันในการบริหารราชการบ้านเมืองได้ เรามาคิดด้วยกันแล้ว คิดว่าออกเสียในช่วงนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม.ก็ตาม”

ฟางเส้นสุดท้ายสมคิด-4 กุมาร

เบื้องหลังการอยู่-การไป และเป็นฟางเส้นสุดท้ายในการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งสุดท้ายทางการเมืองของนายสมคิด-4 กุมารคือ “พล.อ.ประยุทธ์” ส่งไลน์ส่วนตัวไปถึงนายสมคิด

ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะลงพื้นที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 นำไปสู่การแยกทาง-โบกมือลา เป็นการจากไปที่ไม่ได้เห็นหน้า แม้แต่งานกองทุนหมู่บ้านที่จังหวัดชุมพรที่นายสมคิดมีนัดหมายตัดริบบิ้นก็ต้องยกเลิกไป

“รู้สึกลำบากใจ รู้สึกแย่ ไม่รู้จะพูดต่อหน้าอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรู้สึกในใจถึงความจำเป็นของการปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลทางการเมือง

ก่อนนายสมคิดจะตอบกลับว่า “ไม่มีปัญหา ขอให้สบายใจได้ รู้ถึงความจำเป็น เข้าใจว่าในทางการเมืองนายกฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องกังวล โดยส่วนตัวอย่างที่ได้แจ้งกับนายกฯไว้ อยากกลับไปรักษาสุขภาพ เพราะสุขภาพแย่มาก”

“อุตตม” บอกว่า ไม่ทราบรายละเอียดของการปะทะทางความคิดของผู้ใหญ่ 2 คน

“พวกเรามีเหตุผลของเราในการลาออก เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมือง นำพาบ้านเมืองผ่านวิกฤตไปได้ ส่วนใครจะมารับหน้าที่ต่อไม่ทราบได้ แต่เชื่อว่านายกฯมีความสามารถในการเฟ้นคนที่มีความสามารถมาร่วมทีม”

“และไม่มีอะไรฝากเป็นพิเศษ ทราบอยู่แล้วว่าเรื่องเศรษฐกิจต้องร่วมมือร่วมใจกันไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง”

โควตากลาง ยึด “ป๋าโมเดล”

การลาออกของนายสมคิดและ 4 กุมาร เปิดทางให้เกิดการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ทำให้ “โควตากลาง” ต้องเขย่าขวดกันใหม่ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ดังนี้

1.รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) 2.รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) 3.รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย (นายวิษณุ เครืองาม)

4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) 5.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล) 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) และ 7.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอุตตม สาวนายน)

แนวทางการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 โดยใช้ “กลไกการเมือง” ที่เรียกว่า “ป๋าโมเดล” คือการบริหารเศรษฐกิจ-ความมั่นคงในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ด้วยการตัดโควตาจากพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็น “โควตากลาง” ของนายกฯ เพื่อทำให้นายกฯ และรัฐมนตรีที่มาจาก “คนนอก” ปลอดจากการถูกกดดันทางการเมือง

ปรับเล็ก-เน้นทีมเศรษฐกิจ

สูตรการปรับ ครม. และคุณสมบัติของรัฐมนตรี เป็นไปตามคำประกาศิตของนายกฯ ที่ระบุไว้ต่างกรรมต่างวาระ
มีการสับเปลี่ยนกำลัง “คนใน” โควตาระบบพรรค

ต้องมี “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (นายกรัฐมนตรีกำลังเจรจา) ต้องมีคนที่ไว้ใจใน “โควตากลาง” ของนายกฯ และเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจ

ส่วนโควตาพรรคร่วม กระทรวง “สำคัญ”นายกฯขอสิทธิตัดเลือกเอง ไม่เอาคนสีเทา ส่วน “โควตาพรรคร่วมเท่าเดิม”

สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะถูกปรับออก-ปรับเข้า-สลับเก้าอี้ในโผ ครม.2/2 เป็นการ “ปรับเล็ก” เฉพาะทีมเศรษฐกิจ-ไม่เตะโควตาพรรคร่วมรัฐบาล

1.รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด) 2.รมว.คลัง (นายอุตตม) มีทั้งเป็น “คนใน” และ “คนนอก” ที่เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ในระบบ-นอกระบบติดอยู่ในโผแคนดิเดต “ดรีมทีมเศรษฐกิจ”

ตัวเต็งรองนายกรัฐมนตรีที่จะมาแทนนายสมคิดมีชื่อ “คนนอก” อย่าง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็น 1 ในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์โควิด-19

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งมีบทบาท-อยู่ในคณะกรรมการในศูนย์โควิด-19 เกือบทุกชุด

โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการกู้เงิน 4 แสนล้าน และคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นมาใหม่อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อชงมาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่ตำแหน่งขุนคลัง-รมว.คลัง ชื่อที่มาแรงที่สุดคือ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมทหารไทย เป็น 1 ใน 6 อรหันต์-คณะที่ปรึกษาของนายกฯ และอาจควบตำแหน่งรองนายกฯ

รวมถึง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” 1 ในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่เป็น “เต็งจ๋า” ขึ้นแท่นเป็น “ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่” เป็น lender of last resort ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากนี้ ยังมี “ชื่อสำรอง” อย่าง “บุญทักษ์ หวังเจริญ” หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของนายกฯ ปัจจุบันเป็นบอร์ดการบินไทยชุดกู้วิกฤตล้มละลาย

“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” อดีตประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ศึกชิงขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

โฟกัสสำหรับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ก่อนหน้านี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่ม “สามมิตร” เคยแสดงความจำนงต้องการเข้ามานั่ง รมว.พลังงานแทนนายสนธิรัตน์

แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันจะต้องเป็น “โควตากลาง”

และกระทรวงนี้คือ ปฐมเหตุ-จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเขย่าโครงสร้างอำนาจพรรคพลังประชารัฐ

ชื่อของ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีต รมช.คมนาคม ในยุครัฐบาล คสช.และคั่วตำแหน่ง 1 ใน 6 คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กลับเข้ามาติดโผ และมาแรงอีกครั้ง

“ไพรินทร์” ใหญ่กว่าเดิม มีโผระบุให้เป็น “รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน”

“อนุชา-นฤมล” ลุ้นเก้าอี้ตัวโก่ง

อีกตำแหน่งหนึ่ง-รมช.คลังก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวของ “อนุชา นาคาศัย” เลขาธิการพรรค และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ยังต้อง “ลุ้นตัวโก่ง” โดยเปิดตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ปลอบใจคนอกหัก

ส่วนกระทรวงอุดมศึกษาฯ-กระทรวงแรงงาน-กระทรวงการต่างประเทศ “ยังไม่ลงตัว” หลังจากนายสุวิทย์ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ-โควตากลางของพล.อ.ประยุทธ์ ก้ำกึ่งว่าจะถอดใจหรือไม่

โดยเฉพาะ “คุณชายเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จัดแจงส่งชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” จับจองเก้าอี้ไว้

ต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะ “สลับเก้าอี้ 3 ตัว” อย่างไรเพื่อโยกนายอเนกไปนั่งเก้าอี้กระทรวงการต่างประเทศหรือเจ้ากระทรวง อว. “เปิดทาง” ให้ “สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี-ทหารเอกบิ๊กป้อมได้ “สมหวัง”

จับตาเก้าอี้มั่นคง 3 ทหารเสือ

สำหรับ “กระทรวงความมั่นคง” ที่มี 3 ทหารเสือ-3 ป.กุมบังเหียน ทั้งกระทรวงกลาโหมที่มี พล.อ.ประยุทธ์บัญชาการกองทัพ กระทรวงมหาดไทยที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อาจโยก “พล.อ.ประวิตร” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ขณะนี้สวมหมวกนักการเมืองเต็มตัวไปคุมเกมการเลือกตั้งท้องถิ่นในตำแหน่ง รมว.มหาดไทยแทน

ส่วน “บิ๊กป๊อก” ในฐานะอดีตผู้บัญชาการกองทัพบก-หุ้นส่วนการรัฐประหาร 2 ครั้ง ล่าสุดอาจจะถูกสลับมานั่ง
เป็น รมว.กลาโหมแบ่งเบาภาระ พล.อ.ประยุทธ์

กระชับอำนาจ 3 ทหารเสือ-ความมั่นคง อยู่ยาว 8 ปี