นักสิ่งแวดล้อมชี้ “บิ๊กตู่” หนุนเอกชนซื้อถ่านหิน แค่สนองทรัมป์-สัญญาณอันตราย

วันที่ 4 ตุลาคม นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน แสดงความเห็นกรณีการเยือนสหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย โดยมีข่าวนายกฯสนับสนุนการเซ็นสัญญาซื้อถ่านหินจากสหรัฐ

โดยนายประสิทธิ์ชัยระบุว่า นัยยะสำคัญจากกรณีดังกล่าว คือการเปิดทางให้มีความชอบธรรมในการกระบวนการใช้ถ่านหินในไทย การที่รัฐบาลสนับสนุนการเซ็นสัญญาซื้อถ่านหินจำนวนมากเป็นการส่งสัญญาณในการใช้ถ่านหินในประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย นอกจากนี้ การนำเข้าถ่านหินอาจต้องมองย้อนไปที่สหรัฐ เพราะตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาสหรัฐมีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก ราว 4 หมื่นเมกะวัตต์ เหมืองถ่านหินนับ 10 บริษัทก็ล้มละลาย สัดส่วนล่าสุด การผลิตไฟฟ้าในสหรัฐจากถ่านหินมีไม่ถึง 10% อุตสาหกรรมถ่านหินในสหรัฐตกต่ำจนแทบไม่มีวันฟื้นคืนได้อีก กระทั่งทรัมป์ประกาศจะฟื้นตัวธุรกิจถ่านหิน และประกาศถอนตัวจากปฏิญญาปารีสเรื่องโลกร้อน การไปเซ็นสัญญาในครั้งนี้

“ส่วนตัวมองว่าเป็นการไปสนองทรัมป์เท่านั้น โดยมีนัยยะที่ต้องสืบต่อว่าทำไมถึงไป มีอะไรแลกเปลี่ยนกันหรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้วถ่านหินที่บริษัทไทยสัมปทานไว้จำนวนมากในอินโดนีเซียก็เหลือเฟือเกินจะใช้ แทนที่จะไปลากข้ามโลกมาจากสหรัฐอเมริกา มันก็สะท้อนนัยยะสำคัญ ว่าทำไมถึงไปลากมา เพราะมันไกลขนาดนั้น โดยตนเองอ่านคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าคุณภาพดีกว่าและคุ้มค่า ตนมีคำถามว่า หากมันคุ้มค่าจริง แสดงว่าถ่านหินต้นทุนถูกมากเมื่อนำมาผลิตไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรม มูลค่าที่เกิดจากการเผามีมหาศาล จนต้องไปลากมาจากอเมริกา และเรื่องคุณภาพดี ผมตั้งคำถามว่าหากถ่านหินคุณภาพดีจริงทำไมสหรัฐต้องปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นจำนวนมาก หากดีจริงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินในสหรัฐก็ควรจะคงเดิมหรือเพิ่มขึ้น จากสถิติมันบ่งชี้ว่า มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น คำพูดของรัฐมนตรีจึงไม่มีเหตุผลรองรับ เมื่อดูรูปการณ์ทั้งหมด ผมมองว่าเป็นการช่วยเหลือทรัมป์เพื่อฟื้นกิจการถ่านหินในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง ซึ่งคนไทยก็ต้องรับมลพิษต่อไป นอกจากนี้ ยังส่งผลให้กระบวนการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยจะรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้นำประเทศเสมือนประกาศชัดว่าข้าพเจ้าต้องการถ่านหิน”

นายประสิทธิชัยระบุอีกว่า ในส่วนความเข้าใจเรื่องนี้ในสังคมไทยนั้น โลกโซเชียลก็ยังเข้าใจถ่านหินไม่กระจ่างชัด สังคมยังมองไม่เห็นผลกระทบ นอกจากมองว่าเป็นแค่การเซ็นสัญญา สำหรับประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องเผชิญกับการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นี่คือสัญญาณอันตราย ตนเห็นว่า ภาพรวมของโลกเขาลดการใช้ถ่านหินลง ด้วยเหตุผลการทำลายสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การที่นายกฯเปิดทางหนุนให้เอกชนดำเนินการดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณว่าไทยไม่ได้แคร์ต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือปฏิญญาปารีสเลย ซึ่งจะมีผลกระทบและความขัดแย้งทางสังคมก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์