“พัชรินทร์” โฆษกใหม่ พปชร. “บิ๊กป้อมไว้ใจ…ไม่เคยวิ่งขอตำแหน่ง”

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ
สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

การปรับโครงสร้างกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งกระบิ ตั้งแต่หัวหน้าและเลขาธิการพรรค เกิดปรากฏการณ์ “แย่งชามข้าว” ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2 นำไปสู่ภาพลักษณ์รัฐบาล “ติดลบ”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ส้ม” พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐโฆษกพรรคหญิงป้ายแดง

ล้างภาพลบ กู้ภาพลักษณ์

“ดร.ส้ม” โฆษกพรรคป้ายแดง เตรียมล้างภาพลบ-กู้ภาพลักษณ์ของพรรคและรัฐบาลประยุทธ์ หลังจากถูกตีตราว่า พรรคพลังประชารัฐมีแต่ความขัดแย้ง-ตั้งกลุ่มก๊วนเพื่อต่อรองตำแหน่ง-แย่งชามข้าวคงต้องใช้เวลาเพื่อสื่อสารให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าใจ พรรคเปิดกว้างทางความคิด แต่อาจมีสมาชิกบางท่านแสดงความเห็นออกไป ทำให้เกิดการตีความผิด

วันนี้พรรคมีโครงสร้างชัดเจนมากขึ้น ข้อมูลที่จะสื่อสารต้องมีการพูดคุยกันก่อนและสื่อสารจากทางเดียว (เน้นเสียง) ผ่านทีมโฆษกพรรคออกไป ทั้งการสื่อสารของคนภายในพรรคและการสื่อสารออกสู่สาธารณะ

วันนี้พรรคจะมีอะไร หรือได้ทำอะไรให้พี่น้องประชาชนบ้าง เราเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลที่สนับสนุนท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อสะท้อนและนำเสนอให้ประชาชนได้เห็น

“ไม่ใช่เป็นการแย่งชามข้าว พรรคน้อมรับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของท่านนายกฯ เราเชื่อมั่นว่าท่านนายกฯจะหาบุคคลที่เหมาะสมและมาทำงานกู้วิกฤตที่เกิดขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ได้”

ท่านหัวหน้าพรรคให้นโยบายตั้งแต่วันแรกที่ท่านเข้ามารับตำแหน่งคือ ความสามัคคีกลมเกลียว วันนี้ภายในพรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำพาพรรคสู่การเป็นสถาบันทางการเมืองในระยะยาว ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ

พลิกโฉมทีมโฆษกพรรคน้ำดี

ในยุคที่เธอเป็นหัวหน้าทีมโฆษกพรรค จะเน้นการสื่อสารสิ่งที่เป็นประโยชน์-เสนอแนะรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก

การทำหน้าที่ในตำแหน่งโฆษกพรรค ตั้งเป้าหมายว่า 1.อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำการเมืองให้พัฒนาประเทศมากขึ้น 2.เลิกวาทกรรมที่ทำให้ประเทศบอบช้ำ

ประเทศบอบช้ำมาเยอะแล้ว การสร้างวาทกรรม สร้างความเกลียดชังให้กับประเทศ โดยบิดเบือนข้อมูล ไม่สร้างสรรค์ ปลุกเพียงอารมณ์ขึ้นมา ไม่มีประโยชน์ ควรเอาข้อมูลและเหตุผลมาพูดกัน

รัฐบาลสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม ฝ่ายค้านเสนอแนะในสิ่งที่มีประโยชน์ ภาคประชาชนแสดงสิทธิหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย ทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราเอง

แน่นอนบทบาทโฆษกพรรคบางครั้งต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้เห็น สำคัญคือจะทำอย่างไรให้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ให้ประชาชนเข้าใจ

ส่วนการตอบโต้ประเด็นการเมืองเข้ามาเราก็ต้องชี้แจง แต่ถ้าไม่เป็นสาระสำคัญ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ทุกเรื่อง เพราะสร้างแต่ความบอบช้ำ ไม่ทำให้ประเทศพัฒนา

ไม่ใช่หัวหน้ากลุ่มฟรีแลนซ์

แม้แต่ภายใน 12 ส.ส.ในกลุ่ม กทม.เอง ถูกมองว่ามีการแบ่งก๊วน ทั้งกลุ่ม 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ มี “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าก๊วน

สมาชิกมี นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง และ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ

“ดร.ส้ม” เธอถูกยกให้เป็น “หัวหน้ามุ้งฟรีแลนซ์” เธอปฏิเสธทันควัน ไม่เป็นความจริงเลย วันแรกของการทำงานในพื้นที่เลือกตั้ง กทม. ที่มีพี่บี (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) เป็นประธานยุทธศาสตร์ กทม. เป็นทีมอย่างไรวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ส่วนจะมีกลุ่มมีก๊วนอื่นไปตั้งใหม่หรือไม่ ไม่ทราบเจตนา

เธอมีมุมมองการมีกลุ่ม-มีก๊วนในพรรคในความหมายส่วนตัวว่า เราอยู่ กทม. เราทำงานกันมา เราทำงานกันมาด้วยใจ เราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ด้วยสภาพพื้นที่มีลักษณะเดียวกัน ย่อมมีการประสานงานกัน หารือกัน ต้องโฟกัสอยู่กับ กทม.เพื่อที่จะผลัดันนโยบายให้คนกรุงเทพฯดีขึ้นคล้าย ๆ กันกับของแต่ละภาค สภาพพื้นที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น คนไหนจะสนิทกับกลุ่มไหนอย่างไร อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมคล้าย ๆ กัน ดังนั้น มีข้อนโยบายที่ต้องหารือปรึกษาหารือ

ส่วนที่คนข้างนอกมองในแง่ลบว่า การตั้งกลุ่ม-ตั้งก๊วนเพื่อต่อรองตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าการทำเพื่อประชาชนนั้น เธอตอบว่า ขึ้นอยู่กับเจตนาของแต่ละบุคคล ส่วนตัวทำงานตรงนี้ ไม่ได้มีนัยอะไร ตั้งใจทำงานให้กับประชาชนจริง ๆ

ไขข้อข้องใจเด็กเส้น-เด็กสร้าง

ทันทีที่ “ดร.ส้ม” รับตำแหน่งโฆษกพรรค เธอถูก “รับน้อง” เป็นเด็กสร้าง-เด็กเส้น ทำให้ได้รับตำแหน่งโฆษกพรรค รวมถึงนั่งเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ-วิสามัญ และอนุฯ กมธ. ตลอดจนที่ปรึกษาในสภาผู้แทนราษฎรหลายคณะ

เธอยืนยันว่า ทุกตำแหน่งไม่เคยวิ่งขอตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งโฆษกพรรคที่ได้มาเพราะผู้ใหญ่ไว้ใจ-เห็นความตั้งใจ

“หัวหน้าพรรคมอบความไว้วางใจให้เรา ผ่านการหารือจาก กก.บห.พรรค ผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ตำแหน่งใด ส้มจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่เคยวิ่งขอตำแหน่ง”

ไม่ใช่เด็กสร้างหรือเด็กเส้นใครแน่นอน อาจจะมีเรื่องของการเมืองภายในพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง เวลาได้รับตำแหน่งอาจจะมีทั้งคนที่ชอบเราและไม่ชอบเรา จึงมีการสร้างกระแสข่าวขึ้นมา พร้อมชี้แจงให้เข้าใจ

“ในการเลือกตั้งในเขต กทม.ที่ผ่านมา เราเหมือนครอบครัวเดียวกัน พี่บี (พุทธิพงษ์) พี่ตั้น (ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) และผู้ใหญ่หลายคนเห็นความตั้งใจในการทำงานของเรา”

ส่วนที่มีข่าวนั่ง กมธ.คนเดียว 9 คณะไม่ใช่สาระสำคัญ กมธ.ที่ได้เข้าไปนั่งเช่น กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนฯ เรามองว่าสิ่งใดที่เราอยู่แล้วเราทำงานได้ เราสนใจ

พรรคมองเวลาใครตั้งใจทำงานก็ชวนกันมา หรือบางคณะเพื่อน ๆ สมาชิกไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งพรรคมีสัดส่วนของพรรค ก็ต้องหาคนเข้าไปทำงาน

“ไม่ว่าส้มจะอยู่ กมธ.ไหน ไม่ได้สนใจว่าคณะไหนที่คนอยากจะเข้าไปมีบทบาทเยอะแยะ แต่ส้มสนใจว่าเข้าไปทำงานให้กับส่วนรวมได้มากน้อยแค่ไหน”

“ดร.ส้ม” ปฏิเสธด้วยความมั่นใจว่า ข่าว “วิรัช จัดให้” ไม่เป็นความจริง เพราะการจะให้ใครไปนั่งในคณะอนุฯ กมธ.ใดไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของประธานวิป (วิรัช รัตนเศรษฐ)

วันนี้ส้มรับหน้าที่ตรงนี้ มีภาระงาน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.เขต โฟกัสงานสภาและงานพื้นที่ วันนี้ได้รับความไว้วางใจให้เป็นโฆษกพรรค ล้วนเป็นหน้าที่สำคัญและอยู่เหนือกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ที่พยายามโจมตี ดิสเครดิต มีเจตนาอะไร ซึ่งไม่เป็นจริง

คณะอนุฯบางคณะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้รับเงิน เช่น ที่ปรึกษากระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีข่มขืน ซึ่งคณะข่มขืนเป็นเหมือนคณะที่เราเป็นคนปลุกปั้นมากับมือ จึงเป็นภาระที่เราต้องรับผิดชอบด้วย เพื่อเข้าไปติดตามผล

ดร.ส้มบอกถึงทัศนคติของเธอต่อระบบอุปถัมภ์-การมีคอนเน็กชั่นว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้คอนเน็กชั่นนั้นอย่างไร ส้มจะทำตัวเหมือนเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

มองว่าเป็นประโยชน์จากการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ได้ประสบการณ์จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ เป็นการสั่งสมประสบการณ์ทางอ้อม เป็นข้อดีจากการได้รู้จักคนหลาย ๆ คน เช่น พี่บี-พุทธิพงษ์ ทำให้เราไม่ยืนอยู่กับที่ พัฒนาตัวเองต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

ชงขึ้นทะเบียนคนพ้นคุก

“ดร.ส้ม” ในฐานะผู้เสนอญัตติตั้ง กมธ.ป้องกันการข่มขืนฯ เนื่องจากก่อนหน้าเธอเป็นอาจารย์ทางด้านอาชญาวิทยา สัมผัสเรื่องผู้หญิง เด็กและเยาวชนมา จึงเห็นปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา

“วันนี้เราเป็น ส.ส.แล้ว เราอยู่เฉยไม่ได้ เราทำอะไรให้สังคมได้บ้าง เราเห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศ การถูกข่มขืนเป็นหน้าข่าวทุกวัน โทษทุกวันนี้สูงสุดแล้วคือ การประหารชีวิต แต่ทำไมปัญหายังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราอยากผลักดัน”

ประการแรก การสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการกระทำความผิด เช่น ติดไฟส่องสว่าง ใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกัน ชุมชนมีส่วนร่วมสอดส่องดูแล

ประการที่สอง การลงทะเบียนผู้กระทำความผิด เริ่มจากผู้กระทำผิดร้ายแรง ความเสี่ยงสูงในการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อติดตามคนเหล่านั้นเมื่อกลับไปสู่สังคม ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

สลายขั้วการเมืองสร้างชาติ

ในฐานะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่-เธอมองการชุมนุมของนักศึกษา-แฟลชม็อบว่า ทุกคนมีสิทธิแสดงออก แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย วันนี้สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ การช่วยกันกู้วิกฤตโควิด-19 รวมถึงฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

ไม่อยากให้แบ่งว่าเป็นการเมืองของคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ วันนี้อยากเห็นมิติทางการเมืองใหม่ อยากเห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ฝ่ายค้าน รัฐบาล ภาคประชาชนช่วยกันเสนอแนะ ในช่วงวิกฤตเพื่อร่วมกันสร้างประเทศไปด้วยกัน