กมธ.สภา มีมติแก้ มาตรา 256 เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญง่ายขึ้น

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ข่าวสด รายงานว่า ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

เพราะหากไม่แก้ในมาตราดังกล่าว ก็จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นได้ รวมไปถึงข้อเสนอจากทุกภาคส่วนที่เสนอขอแก้ไขก่อนหน้านี้ด้วย และหากจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจจะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะได้ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่นั้น สุดแล้วแต่รัฐบาล ทั้งนี้ หากสภาฯ เห็นชอบตามรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ก็จะส่งต่อให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะแก้ไขหรือไม่ หากรัฐบาลไม่แก้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะหน้าที่ของเรามีแค่นี้ ยืนยันว่าทำงานตามหน้าที่ไม่ได้ใช้การเมืองนำเหตุผล

ด้านนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการศึกษาและทำรายงานสรุปสภาฯ หลายเรื่อง ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้าแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการมี ส.ส.ร.ก็จะคล้ายกับปี 34 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนได้รัฐธรรมนูญปี 40 ฉบับประชาชน ทั้งนี้ หากแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน จะได้ ส.ส.ร. และใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่งก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงนำมาใช้แทนฉบับปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้เสนอญัตติเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผู้เสนอได้แก่คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ส.ส. และส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 150 คน หรือพลเมืองไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาญัตติ ซึ่งจะกระทำเป็น 3 วาระ วาระที่หนึ่งรับหลักการ วาระที่ 2 แปรญัตติรายมาตรา วาระที่ 3 ลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 2

การออกเสียงในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ใช้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาเป็นเกณฑ์ แต่กรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย โดยเมื่อพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จ ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป

การลงมติในวาระที่สาม นอกจากจะต้องมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาแล้ว ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้ ในจำนวนเสียงสนับสนุน “ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน และมีส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เมื่อลงมติวาระที่ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน จึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯ

กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ

หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ก่อนนายกฯ นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้ง 2 สภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิ์เข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณีว่าร่างรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 255 ให้ประธานแห่งสภาที่รับเรื่อง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯจะนําร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้