ตั้ง ส.ส.ร. รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เข้าทาง “รัฐบาลบิ๊กตู่” อยู่ครบวาระปี’65

รายงานพิเศษ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถอดชนวนออกจากกองไฟม็อบ

เรียกทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ปิดห้องคุยปม “แก้รัฐธรรมนูญ” ก่อนเข้าสู่คิวการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำชับว่า พรรคร่วมห้ามแตกแถว-ฉายเดียวในเกมนี้

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา “พล.อ.ประยุทธ์” เปิดหน้าต่อสาธารณะ ประกาศจุดยืนหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้พิจารณาตาม “ข้อเสนอ” ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน

โยนเผือกแก้รัฐธรรมนูญกลับไปที่สภาว่า สามารถ “คิกออฟ” ได้ในสมัยประชุมหน้า คือ ประมาณ 1 พฤศจิกายน 2563

พลันที่สิ้นเสียงของ “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งพรรคฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เตรียม “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ซุกไว้ในกระเป๋า ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกินกลางเดือนนี้

เกมรัฐธรรมนูญเดินเครื่องอย่างเป็นทางการ….

ฟากรัฐบาลแทงกั๊ก ส.ส.ร.

เป้าหมายใหญ่ของทุกขั้วอำนาจ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อันอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทว่าขณะนี้มีความเห็นที่ปะทะกันอยู่ 2 ก้อนใหญ่ ระหว่างให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อ “ถอดโครง” รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วมาสร้างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เสียงที่เห็นชอบให้มี ส.ส.ร. เกาะกลุ่มใน 6 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย

ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ “คัดค้าน” การมี ส.ส.ร.แบบหัวชนฝา คือ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นกลุ่มอำนาจค้ำบัลลังก์รัฐบาลผสมทหารพลเรือน นำโดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว.

ส่วนนักเลือกตั้งในฝ่ายบริหาร-พรรคร่วมรัฐบาล ยังสงวนท่าทีเรื่องการมี ส.ส.ร. เล่นบทตามน้ำ

ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตในบรรดานักการเมืองฝ่ายค้านว่า จากเงื่อนไขการเมือง จากเสียงชุมนุมม็อบนักศึกษา ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา-การแก้รัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติ การเคลื่อนรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.ร. อาจซื้อเวลาให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้อยู่เวลาลากยาวไปครบวาระหรือไม่

โมเดลแก้รัฐธรรมนูญ ตาม “ธง” ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองประธาน กมธ.ศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้งตุ๊กตาการแก้ไขแบบมี ส.ส.ร.ไว้ว่า จะต้องมีการลงประชามติ 4 ครั้ง ใช้เวลามากกว่า 1 ปี

ครั้งที่ 1 ต้องทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันไว้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถามประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อน

ครั้งที่ 2 เข้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติ เพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.

ครั้งที่ 3 เปิดให้มีการเลือก ส.ส.ร.จากทั่วประเทศ (เท่ากับการมีประชามติ)

ครั้งที่ 4 เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องไปทำประชามติรอบสุดท้าย

“ไพบูลย์” บอกว่า การทำประชามติต้องใช้งบฯกว่า 3 พันล้าน รวม 4 ครั้ง ใช้เงิน 1.2 หมื่นล้าน ไม่คุ้มค่า สุดโต่ง…ไม่เป็นประโยชน์

จึงเสนอโมเดลที่ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยใช้ช่องมาตรา 256 แต่ควรยกเว้นมาตรา 256 (8) ไม่แตะมาตราที่จะต้องทำประชามติ 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่แก้ไขเฉพาะมาตราที่นักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา เพื่อไม่ต้องทำประชามติ

“และเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาล แม้จะเป็นรายมาตราที่ไม่ต้องทำประชามติ แต่เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาตามบทเฉพาะกาลซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี จะไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนบทเฉพาะกาลนั้น”

“ไพบูลย์” บอกไทม์ไลน์ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยไม่ต้องประชามติ จากนั้นแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อย การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจสิ้นสุดกลางปี 2564 หรือจบต้นปี 2565

โมเดล ส.ส.ร.ใช้เวลาปีครึ่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.ศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉายภาพไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญคล้าย ๆ กับของ “ไพบูลย์” ว่าจะต้องใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ 1 ปีครึ่ง

หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติ ซึ่งคาดว่าใช้เวลา 4 เดือน

จากนั้นจะมีการเลือก ส.ส.ร. ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน เพื่อเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาอีก 5-6 เดือน

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ไม่น่าจะใช้เวลานาน ไม่ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เพราะทุกฝ่ายรู้ปัญหาของบ้านเมืองกันอยู่แล้ว ดังนั้น หากตกลงใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับอื่น ๆ มาเป็นต้นแบบ คาดว่าใช้เวลา 5-6 เดือน รวมแล้วใช้เวลาทั้งหมด 1 ปีครึ่ง” สุทินกล่าว

มี ส.ส.ร.แล้ว รัฐบาลยุบสภาได้

ส่วนการมี ส.ส.ร.จะต้องประชามติถึง 4 รอบ แบบ “ไพบูลย์โมเดล” หรือไม่ “สุทิน” กล่าวว่า ถ้าเคร่งครัดเป๊ะ ๆ ก็ต้องตามไพบูลย์โมเดล แต่ตนเห็นว่ากระบวนการประชามติ สามารถ “รวบขั้นตอน” ได้ เช่น การทำประชามติให้มี ส.ส.ร. สามารถทำพร้อมกับการเลือก ส.ส.ร.ได้หรือไม่ เพื่อไม่ต้องทำประชามติหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมี “ปัญหากฎหมาย” ที่ต้อง “ตีความ” กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ ถามประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเพียงแค่ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะมีผลผูกพัน

ส่วนเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ลากยาวไปเป็นปี จะเป็นช่องทางยืดอายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่นั้น “สุทิน” แย้งว่า ถ้ามีการตั้ง ส.ส.ร.แล้ว รัฐบาลจะลาออก-ยุบสภา ก็ไม่เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า หากแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว รัฐบาลก็ถูกไล่ออกได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ

เหตุผล ส.ว.ขวางตั้ง ส.ส.ร.

ด้านกระดูกชิ้นโตที่ตั้งโต๊ะขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี ส.ส.ร. คือ สภาสูง หรือ ส.ว.

“สมชาย แสวงการ” เพลย์เมกเกอร์แห่งสภาสูง ไม่ขอพูดแทน ส.ว.ทั้งหมด แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร. เพราะจะมีหลักประกันอะไรที่ไม่ยุ่งหมวด 1 หมวด 2 คือ บททั่วไป กับหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าฝ่าย ส.ส.เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตราไหนไม่ดี ขอให้บอก แต่ไม่ใช่แก้ตามใจชอบ เพราะถ้าตามใจชอบ ทำให้เกิดวิกฤตการเมือง วงจรอุบาทว์มาเยอะแล้ว ท้ายสุดนำไปสู่การชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการรัฐประหาร ที่สุดก็ไม่จบ

“การที่มี ส.ส.ร. ไม่มีหลักประกันรัฐธรรมนูญ 2560, 2550, 2540 ที่ปรับปรุงดีขึ้นมาตลอด ส.ส.ก็ปรับปรุงจากเขตใหญ่ เป็นเขตเล็ก มาเป็นบัตรสองใบ บัตรใบเดียว ส.ว.มาเป็นปลาสองน้ำ คือ เลือกตั้งกับสรรหา มาเป็นให้ประชาชนเลือกกันเอง ก็พัฒนากันมา ถ้าอยากจะแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่มา ส.ว. และองค์กรอิสระ ก็เสนอแก้ ให้สังคมได้เห็นว่าจะแก้อะไร แต่จะมาพูดกลม ๆ ไม่ได้”

ชงไอเดียแก้รายมาตรา

“สมชาย” แนะไอเดียแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่า 1.ถ้าจะแก้เรื่อง ส.ส. รัฐมนตรีไม่ควรเป็น ส.ส. อำนาจนิติบัญญัติกับบริหารควรแยกกันเด็ดขาด เพราะสภาล่มกี่ครั้งแล้ว 2.ถ้าจะแก้บัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ คำถามคือสองใบดีกว่าบัตรเดียวตรงไหน หรือเลือกตั้งกลับไปสองใบแบบพวงใหญ่เขตละ 3 คน จะได้ไม่เกิดความแตกแยก ถ้าเอาบัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคที่จะมี ส.ส. ต้องได้เกณฑ์คะแนนเสียง 2-5% เพื่อให้ได้ ส.ส. 10-25 คนขึ้นไป เพื่อหนีพรรคการเมืองเบี้ยหัวแตก ที่มี ส.ส.คนเดียว

3.ส.ว.ตามบทหลักที่ให้เลือกกันเองแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะระบบเลือกกันเอง เป็นระบบที่พรรคการเมืองจัดตั้ง จะให้กลับไปใช้ระบบ ส.ว.เลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชน จังหวัดละ 1 คน และมี ส.ว.สรรหา 73 คน ถ้ากรรมการสรรหาแบบเดิม 7 คน ไม่พอ ก็สามารถเพิ่มคณะกรรมการสรรหาให้เป็น 15 คน โดยเพิ่มประธานสภา ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานที่ประชุมอธิการบดี แล้วให้คำอธิบายว่า ทำไมถึงเลือก ส.ว.คนนั้น คนนี้ โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์และห้ามเอาออก เพราะเอกสารนี้จะอยู่ไปตลอดชีวิต ถ้าทำดี คนก็สรรเสริญ ถ้าทำไม่ดี คนจะได้เห็น

ชี้ ส.ส.แก้เพื่อตัวเอง

ส่วนเสียงเรียกร้องทั้งจากม็อบ-นักเลือกตั้งฝ่ายค้าน ให้โละ “ส.ว.บทเฉพาะกาล” ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ 5 ปี “สมชาย” ย้อนถามว่า จะโละไปเลย หรือโละอำนาจเลือกนายกฯ ก็ขอให้เสนอมา

ปม ส.ว.เลือกนายกฯ ก็มีการประชามติผ่านคำถามพ่วง ส.ส.เลือกนายกฯอยู่แล้ว ไม่ใช่ ส.ว.เราเป็นเพียงพระอันดับ ตอนเลือกนายกฯประยุทธ์ ส.ส.เลือกมาแล้ว 254 เสียง ส.ว.จึงลงมติตาม ดังนั้น เชื่อว่า ส.ส.จะเลือกนายกฯหนหน้าได้ มีเกิน 250 เสียงอยู่แล้ว ส.ว.แค่โหวตตาม

“แต่ถ้าจะตัด ส.ว.ออก มีหลักประกันอะไรว่า รัฐบาลใหม่จะทำการปฏิรูปประเทศ วันนี้หมวด 16 เรื่องการปฏิรูปมีแต่บทเร่งรัด แต่ไม่มีบทลงโทษ ทั้งการปฏิรูปตำรวจ และการปฏิรูปการศึกษา จึงไม่มีการปฏิรูป ควรเติมไปด้วยซ้ำว่า รัฐบาลไหนไม่ทำควรถูกถอดถอน หรือส่งไปดำเนินคดีอาญาของนักการเมือง หน่วยงานราชการไหนไม่ดำเนินการปฏิรูป ให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีหัวหน้าหน่วยงานนั้นเติมให้เข้มขึ้น ถ้าเป็นได้อย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.โหวตนายกฯ”

“สมชาย” กล่าวว่า ที่ประชาชนต้องการตอนประชามติ 15 ล้านเสียง เพราะเขาต้องการหลักประกันการปฏิรูปเท่านั้น

“ผมไม่ไว้วางใจการร่างรัฐธรรมนูญที่นำประเทศไปสู่วิกฤต เสียเงินเสียทองเปล่า ๆ อยากได้ตรงไหนเสนอต่อสังคม สังคมจะเห็นด้วย เห็นต่าง สังคมอาจร้องยี้ เพราะสุดท้ายแก้เพื่ออำนาจตัวเอง”

สมชาย “ดักทาง” สภา ส.ส.ว่าที่เขาอยากแก้เรื่องเขตเลือกตั้ง แก้เรื่องโหวตนายกฯ เพราะอยากโหวตกันเอง ใครจะทำปฏิรูปก็ไม่สนใจทำ และต้องการแก้คุณสมบัติ ส.ส.ที่ถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ 10 ปี ก็แค่นั้น…

แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เข้าทางรัฐบาลให้อยู่ได้ยาว ๆ หรือไม่ “สมชาย” ตอบว่า รัฐบาล 377 เสียง ยังอยู่ไม่ยาวเลย อยู่ที่ศรัทธา เชื่อมั่น และผลงาน มี 500 เสียงก็ร่วงได้ หรือแม้เสียงปริ่มน้ำเหมือนรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็อยู่ได้

“ถ้าจะเล่นเกมยื้อ ถ้าฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบอกว่า อยากแก้ 7 ประเด็น 22 มาตรา ถ้าสังคมเห็นด้วยทั้งหมด แล้วรัฐบาลไปยื้อ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ม็อบเหลือง แดง ส้ม ก็จะออกมาไล่รัฐบาลเอง”