อาณาจักร “อัศวเหม” เบื้องหลังชัยชนะบนภูเขาน้ำแข็ง “กรุงศรีวิไล” พลังประชารัฐ

อาณาจักร “อัศวเหม” เบื้องหลังชัยชนะบนภูเขาน้ำแข็ง “กรุงศรีวิไล” พลังประชารัฐ

อาณาจักรการเมืองของตระกูล “อัศวเหม” เบื้องหลังชัยชนะ บนภูเขาน้ำแข็ง ของ “กรุงศรีวิไล” พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งซ่อม จ. สมุทรปราการ 

ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 5 สมุทรปราการ ที่ “กรุงศรีวิไล สุทินเผือก” จากพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ได้ 46,747 คะแนน

ทิ้งอันดับ 2  สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 21,540 คะแนน ห่างผู้ชนะถึง 21,540 คะแนน อันดับ 3 อิศราวุธ ณ น่าน พรรคก้าวไกล 19,977 คะแนน

เมื่อเทียบกับผลเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562   2 “กรุงศรีวิไล” ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 41,745 คะแนน เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งซ่อม เมื่อ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา “กรุงศรีวิไล” ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 5,002 คะแนน

ส่วน “สลิลทิพย์ สุขวัฒน์” จากที่เคยได้คะแนน 33,007 คะแนน กลับลดลงถึง 11,467 แต้ม และอันดับที่ 3 คือ “ตรัยวรรธน์ อิ่มใจ” จากพรรคอนาคตใหม่ ได้ 31,430 คะแนน แต่ในศึกเลือกตั้งซ่อมได้เปลี่ยนตัวมาเป็น “อิศราวุธ” แต่กลายเป็นว่าคะแนนลดลงถึง 11,453 คะแนน

ชัยชนะของ “กรุงศรีวิไล” อาจเป็นชัยชนะบนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะนอกจากอยู่ในพรรคแกนนำรัฐบาล – พลังประชารัฐ เรื่องเงินถุง เงินถัง กระสุนเลือกตั้งไม่ต้องพูดถึง ยังมีกลไกอำนาจฝ่ายผู้ชนะคอยเป็นแบ็กอัพ โดยมีส่วนผสมพิเศษคือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรค

และปัจจัยสำคัญแห่งชัยชนะของ “กรุงศรีวิไล” 2 ครั้งซ้อน เพราะเขาอยู่ในรั้วบ้านใหญ่ “อัศวเหม” ในยุคที่ “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” ประธานหอการค้าสมุทรปราการ หัวขบวนสมุทรปราการก้าวหน้า เป็นผู้นำทัพทั้งการเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ แม้จะถูกตัดสิทธิห้ามยุ่งกับการเมือง

แต่ก็มี “ประภาพร อัศวเหม” กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ภรรยาของพูลผล อัศวเหม พี่ชายของ “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์” เป็นแม่ทัพการเมือง ออกหน้า – ออกสื่อทั้งงานการเมืองในพื้นที่และการเมืองระดับชาติ

ในรั้วบ้านใหญ่อัศวเหม ปัจจุบันนี้ มี ส.ส.สมุทรปราการในสังกัด  5 ใน 7 เขต เป็นตัวแทนของ เขต 1 นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.เขต 2 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร เขต 3 นางสาวภริม พูลเจริญ, เขต 5 นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก เขต 6 นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ

ในเกมการเมืองท้องถิ่น ครั้งเลือกตั้งนายกองคการบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” ของบ้านใหญ่ คว้าเก้าอี้ ส.อบจ.ได้ถึง 30 ที่นั่ง

ประกอบด้วย อำเภอเมืองสมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 1 นางสาววราภรณ์ อัศวเหม เขตเลือกตั้งที่ 2 นางสาวสุกัญญา อัศวเหม  เขตเลือกตั้งที่ 3 นายประกาศิต สมใจ เขตเลือกตั้งที่ 4 นางสาวมณฑณัท แสงสังข์ เขตเลือกตั้งที่ 5 นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ  เขตเลือกตั้งที่ 7 นางสาวภริม พูลเจริญ  เขตเลือกตั้งที่ 8 นายธงชัย ขำกฤษ  เขตเลือกตั้งที่ 9 นายมานะชัย หัสมาฆะ เขตเลือกตั้งที่ 10 นางนงนุช แพหมอ เขตเลือกตั้งที่ 11 นายพฤหัส รุ่งวิริยะวงศ์

เขตเลือกตั้งที่ 13 นายสมควร ชูไสว เขตเลือกตั้งที่ 14 นายสมถวิล พูลเกตุ  เขตเลือกตั้งที่ 15 นางสาวดารารัตน์ คุยยกสุย

อำเภอพระประแดง เขตเลือกตั้งที่ 4 นายกุลชร มีสัมฤทธิ์ เขตเลือกตั้งที่ 5 นางปานทิพย์ บุญแจ่ม เขตเลือกตั้งที่ 6 นายนิมิต เม่นมิ่ง

อำเภอบางพลี เขตเลือกตั้งที่ 1 นายสนั่น พ่วงท้วม เขตเลือกตั้งที่ 2 นางเจียม รุ่งเรือง เขตเลือกตั้งที่ 3 นางธนภรณ์ บุญประเสริฐ เขตเลือกตั้งที่ 4 นายนิคม สมบุญมาก เขตเลือกตั้งที่ 5 นางวารี นกขมิ้น  เขตเลือกตั้งที่ 6 นายแสน บานแย้ม

อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวราวุธ สุขปราการ  เขตเลือกตั้งที่ 3 นายวิเชียร บุญมี  เขตเลือกตั้งที่ 4 นายเฉลิมศักดิ์ จันทร์จีน

อำเภอบางบ่อ เขตเลือกตั้งที่ 1 นายประจักษ์ ดวงเงินสกุล เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวะสัน บรรเจิดศิลป์ เขตเลือกตั้งที่ 3 นายสมชาติ ทองอร่าม

อำเภอบางเสาธง เขตเลือกตั้งที่ 1 นายธนกฤต แก้วเจริญ เขตเลือกตั้งที่ 2 นางณราวดี ปรีเปรม

แบ่งเก้าอี้ให้กับ ผู้สมัครอิสระ จำนวน 5 คน พรรคเพื่อไทย จำนวน 1 คน เท่านั้น

ขณะที่ตำแหน่งท้องถิ่นทางการเมืองอื่น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่บ้านใหญ่อัศวเหมเชื่อมไปถึงข้าราชการท้องถิ่นที่รักษาการผู้บริหารท้องถิ่นทุกหัวระแหง

ทว่า “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” เตรียมผลัดใบดึงคนรุ่นใหม่ขึ้นสู้ หลังถูก “คณะก้าวหน้า” รุกพื้นที่ ผลักดัน  “อัศวเหม” รุ่น new normal ประกอบด้วยนางสาว พิม อัศวเหม (ลูกสาวนายพูลผล อัศวเหม) นายสนธเยศ อัศวเหม  นายสมประสงค์ อัศวเหม ลูกชาย (นายวริทธิ์ชนวีร์  อัศวเหม อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ) เป็นทายาททางการเมืองรุ่นใหม่

ส่วน “ชนม์สวัสดิ์” พลิกคาแรกเตอร์ แทนตัวเองตามโลกโซเชียลว่า “พี่เอ๋” พลิกจากเจ้าพ่อปากน้ำ นักแข่งรถไปเป็นผู้สนับสนุนอี-สปอร์ต ตามเทรนด์โหวตเตอร์รุ่นใหม่ แต่ไม่ทิ้งตัวตนเดิม เพราะทีมที่สร้างขึ้น ชื่อว่า Vattana Motorsport (e-Sport) สามารถคว้ารางวัลจากสนาม Thailand Super Series (TSS Digital Racing) มาการันตี

ตระกูล “อัศวเหม” ครองทุกหัวระแหงในสมุทรปราการ ตั้งแต่ระดับชาติ ถึงการเมืองท้องถิ่น


คุมโหวตเตอร์ตั้งแต่รุ่นเก่า เก๋า จนถึงคนรุ่นใหม่