เปิดกรุค่ารื้อ รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ จ้าง ส.ส.ร. 4 สมัย 185 ล้าน

ตั้งส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” ต้องการให้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ดังไปถึงรัฐสภา-ทะลุทำเนียบรัฐบาล

หากไม่นับปัจจัยที่ควบคุมได้ยากอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ต้องใช้เสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 คน เพื่อสะเดาะกลอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และขั้นสุดท้ายในวาระที่ 3

“หัวใจ” ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในอดีตที่ผ่านมามีการตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้นมาแล้ว 4 คณะ กับรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ จ่ายค่าแรงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 185,876,600 บาท

ส.ส.ร.คณะแรก 40 คน แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2491 เพื่อ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492” ร่างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2491 โดย ส.ส.ร.ใช้เวลาร่าง 147 วัน มีการประชุม 81 ครั้ง มี “มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ” หรือ “จิตร ณ สงขลา” ประธานวุฒิสภา เป็น “ประธาน ส.ส.ร.คนแรก”

ในบรรดา ส.ส.ร.จำนวน 40 คน แบ่งออกเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 10 คน และผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวน 10 คน

ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากผู้สมัครประเภท 1 จำนวน 5 คน ผู้ได้รับเลือกตั้งจากผู้สมัครประเภท 2 จำนวน 5 คน ผู้ได้รับเลือกตั้งจากผู้สมัครประเภท 3 จำนวน 5 คน และผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากผู้สมัครประเภทที่ 4 จำนวน 5 คน

การประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต โดยมี “พล.ท.พระยาเทพหัสดิน” ขึ้นเป็นประธานชั่วคราวในฐานะที่มีอายุสูงสุด ประชุมสัปดาห์ละ 3 วัน คือ จันทร์-พุธ-ศุกร์

ส.ส.ร.คณะที่ 2 มี “ต้นกำเนิด” จากปลายกระบอก “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11” ประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2501 “ข้อ 2 จะได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้ประกาศต่อไป” ลงนามประกาศโดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ”

ส.ส.ร.ชุดนี้มีจำนวน 240 คน มี “พล.อ.สุทธิ์ สุทธิสารรณกร” เป็นประธาน “เพียงชื่อเดียว” นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และนายทวี บุณยเกตุ เป็นรองประธาน

240 ส.ส.ร.แบ่งออกเป็นพลเรือน 59 คน

ทหารบก 109 คน ทหารเรือ 25 คน ทหารอากาศ 26 คน ตำรวจ 18 คน ม.ร.ว. 2 คน ม.จ. 1 คน

ส.ส.ร.คณะที่ 2 ประชุมครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พระยาสุนทรพิพิธ เป็นประธานชั่วคราวเพราะมีอายุสูงสุด

ส.ส.ร.ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2511 ประชุมทั้งหมด 66 ครั้ง รวมใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 จำนวน 9 ปี 2 เดือน 14 วัน โดยมีนายทวี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แทน พล.อ.สุทธิ์ เนื่องจากถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2511

สำหรับเงินประจำตำแหน่งประธาน ส.ส.ร. 8,000 บาทต่อเดือน รองประธาน ส.ส.ร. 6,000 บาทต่อเดือน และ สมาชิก ส.ส.ร. 4,000 บาทต่อเดือน

ค่าแรงร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2511 รวมเป็นเงินราว 106,480,000 บาท

ส.ส.ร.คณะที่ 3 เกิดขึ้นในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 จำนวน 99 คน มี นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน นายกระมล ทองธรรมชาติ และ นางยุพา อุดมศักดิ์ เป็นรองประธาน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

สัดส่วน ส.ส.ร. 99 คน แบ่งออกเป็นตัวแทนจากนักวิชาการ เสนอรายชื่อโดยสถาบันการศึกษา จำนวน 23 คน ตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชน “ทางอ้อม” 76 จังหวัด

โดยให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน รวมเป็น 760 คน ขั้นตอนสุดท้าย คือ การนำรายชื่อทั้ง 760 คน ส่งให้ที่ประชุมของทั้งสองสภา (ส.ส.-ส.ว.) คัดเลือกให้เป็นตัวแทน-เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน ที่มีจาก 76 จังหวัด

สัดส่วน ส.ส.ร. 101 คน (มีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 คน) แบ่งออกเป็นพลเรือน 90 คน ทหารบก 6 คน ทหารเรือ 1 คน ทหารอากาศ 1 คน และตำรวจ 3 คน

สำหรับเงินประจำตำแหน่งประธาน ส.ส.ร. 63,000 บาทต่อเดือน รองประธาน ส.ส.ร. 62,000 บาทต่อเดือน สมาชิก ส.ส.ร. 38,500 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมาชิก ส.ส.ร.ยังได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน 25,000 บาทต่อเดือน

ส.ส.ร.คณะที่ 3 ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ ปี’40 จำนวน 7 เดือน 19 วัน หรืออยู่ภายใต้กรอบ 240 วัน รวมค่าแรงร่างรัฐธรรมนูญ ปี’40 จำนวน ราว 27,181,000 บาท ไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง และค่าเช่าที่พักเหมาจ่าย

ส.ส.ร.คณะที่ 4 ประกาศแต่งตั้ง ณ วันที่ 1 มกราคม 2550 โดยสมัชชาแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานสมัชชาแห่งชาติ ในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จำนวน 100 คน

มี นายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ นายเดโช สวนานนท์ เป็นรองประธาน ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ส.ส.ร.คณะที่ 4 จำนวน 101 คน (มีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างลง 1 คน) แบ่งออกเป็นมาจากภาครัฐ 28 คน เอกชน 27 คน ภาคสังคม 23 คน ภาควิชาการ 22 คน และเป็นพลเรือน 98 คน ทหารเรือ 1 คน ตำรวจ 2 คน

นอกจาก ส.ส.ร.จำนวน 100 คน มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คน มาจากส.ส.ร.คัดเลือกกันเอง 25 คน และมาจาก คมช.คัดเลือก 10 คน มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต ส.ส.ร.คณะที่ 3 เป็นประธาน กมธ.

ส.ส.ร.คณะที่ 4 ประชุมครั้งแรก วันที่ 8 มกราคม 2550 และประชุมครั้งสุดท้าย วันที่ 6 กรกฎาคม 2550 จำนวน 40 ครั้ง รวมใช้เวลาในการร่าง 5 เดือน 14 วัน

สำหรับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มประธาน ส.ส.ร.เงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 45,500 บาทต่อเดือน รองประธาน ส.ส.ร.เงินประจำตำแหน่ง 63,860 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือนและสมาชิก ส.ส.ร. เงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน

รวมค่าแรง-มันสมองในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี’40 ราว 52,215,600 บาท


การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีการตั้ง ส.ส.ร.คณะที่ 5 เกิดขึ้นหรือไม่ และบุคคลใดจะเข้ามาจัดสรรโครงสร้างอำนาจใหม่ น่าติดตามอย่างใกล้ชิด