ประยุทธ์ ยึดอำนาจสภา 500 ตั้งกรรมการ “ขับเคลื่อนไทย”

ประยุทธ์ ยึดอำนาจสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทย แก้ปัญหาประชาชนตรงไม่ผ่าน ส.ส.

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกคน เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ให้เลขานุการร่วมแต่งตั้งข้าราชการจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น

หน้าที่และอำนาจ กำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์
ในระดับพื้นที่เขตตรวจราชการ ให้รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบแนวคิดขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในเขตตรวจราชการที่เกี่ยวข้อง
ในระดับพื้นที่จังหวัด นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รัฐมนตรีคนหนึ่งรับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัดตามที่กำหนดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการคำสั่งนี้

การรับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด หมายถึงการให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร

โดยมีองค์ประกอบหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการในจังหวัดจำนวนไม่เกิน 4 คนผู้แทนหน่วยทหารในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนรัฐวิสาหกิจในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด จำนวนไม่เกิน 2 คน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอน ในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนภาคประชาชนหรือประชาสังคม ในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ในจังหวัดจำนวน 1 คน ผู้แทนคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด จำนวน 1 คน เป็นกรรมการ

ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์แก่การพัฒนาและการแก้ปัญหาในจังหวัด จำนวนไม่เกิน 3 คน ปลัดจังหวัด กรรมการและเลขานุการร่วม หัวหน้าสำนักงานจังหวัด กรรมการและเลขานุการร่วม

หน้าที่และอำนาจ ติดตาม รับฟัง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนในจังหวัด และจัดให้มีการตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และรวดเร็วทันเหตุการณ์ในกรณีที่เกินขีดความสามารถหรือศักยภาพของจังหวัด ให้รายงานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในระดับพื้นที่จังหวัด
บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดชีวิตวิถีใหม่และการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เห็นความจำเป็นในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความสำคัญของสถาบันหลักของชาติในฐานะศูนย์รวมจิตใจของประชาชน

ประสานการปฏิบัติและติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน

รายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยทราบเป็นระยะตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดแล้วส่งสำเนาคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหารือกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดคณะแรก ให้แล้วเสร็จและจัดให้มีการประชุมครั้งแรกภายใน 30 วันโดยกำหนดประเด็นกลุ่มปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนหรือความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัด แนวทาง แผนและขั้นตอนการดำเนินการ ขีดความสามารถของจังหวัด และแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกันและการระดมทรัพยากรของภาคส่วนต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหา

ในการดำเนินการของคณะกรรมการดังกล่าว ให้คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ความเร่งด่วนของปัญหา ความต้องการของประชาชน และข้อเสนอแนะของสมาชิกรัฐสภาด้วย

ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการทุกกระทรวงในเขตพื้นที่ตรวจ ราชการที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และประสานงานกับหน่วยราชการที่ตนสังกัดเพื่อช่วยในการสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับจังหวัดได้

สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 โดยเบิกจ่ายจากกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป