ผ่าโมเดล ‘ศบค.เศรษฐกิจ’ ซูเปอร์บอร์ดกู้วิกฤติประเทศ เดิมพัน ‘ประยุทธ์ 2/2’

นายกรัฐมนตรี

แม้การเมืองจะร้อนแรง ม็อบนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่อง แต่การออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หลังนำรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โฟกัสไปที่แนวทางแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ กับวิกฤตโควิด-19 สร้างเซอร์ไพรส์ไม่ได้ให้น้ำหนักประเด็นทางการเมืองมากนัก

แม้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเผชิญแรงกดดันรอบด้านจากเศรษฐกิจที่ยังดิ่งลง แต่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น และพยายามทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาพลิกสถานการณ์ให้คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงและปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ เพราะแม้สถานการณ์โควิดภายในประเทศจะคลี่คลาย แต่ก็ไม่อาจประมาทวางใจ โดยเฉพาะช่วงจากนี้ไปหลังยกเลิกมาตรการคุมเข้ม ปลดล็อกดาวน์ให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ กลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มร้อย

ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ นัดแรกวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดกู้วิกฤตเศรษฐกิจ 2 ชุดรวด ประกอบด้วย 1.ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) โดยจำลองโมเดลการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้วิกฤตโควิด-19 จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกมาปรับใช้ ซึ่ง ศบศ.จะทำหน้าที่คล้าย ๆ ศบค.เศรษฐกิจ มีอำนาจในการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยถอดบทเรียนการกู้วิกฤตโควิดของ ศบค.

สำหรับโครงสร้าง ศบศ. มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 11 กระทรวง ได้แก่ รมว.คลัง การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พาณิชย์ มหาดไทย แรงงาน อุตสาหกรรม และสาธารณสุข นอกจากนี้มีหน่วยงานรัฐ องค์กร สมาคมที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธนาคารไทย โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ ศบศ.จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะยาว ขณะเดียวกันก็รวบรวมแนวและวิธีการแก้ปัญหาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอนายกฯ สั่งการไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาเร่งด่วนได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านรัฐมนตรี

2.คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ มี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เป็นประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อฯมาตรการแก้ไขปัญหา การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลในทางปฏิบัติ มีคณะทำงานชุดเล็ก 3 ชุด ได้แก่

1.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เน้นแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี 2.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน 3.คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา

นอกจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่ ซูเปอร์บอร์ด 2 ชุดดังกล่าวแล้ว นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้กำชับสั่งการรัฐมนตรีกระทรวงเสาหลักให้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าหมายพลิกสถานการณ์ติดลบให้กลับมา
เป็นบวก กู้วิกฤตศรัทธาความเชื่อมั่นที่ดิ่งวูบ หลังเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจมีปัญหา คนระดับกลาง ล่าง เศรษฐกิจรากหญ้าเดือดร้อนถ้วนหน้า

โดยเฉพาะรัฐมนตรีในโควตาที่นายกฯเจาะจงเลือกสรรมาโดยตรง อย่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน กับ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เพราะแม้ 2 รัฐมนตรียังอุบเงียบนโยบายและมาตรการที่เตรียมสู้ศึกเศรษฐกิจ แต่ตระเตรียมข้อมูล นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดทั้ง 2 กระทรวงถี่ยิบ พร้อมสปีดทำงานทันทีต้นสัปดาห์หน้า


จากนั้นมาตรการลดภาระค่าครองชีพ ลดค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ฯลฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน กลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อน ลูกหนี้ เอสเอ็มอี ฯลฯ การประกันรายได้พืชเกษตรเศรษฐกิจจะทยอยตามมา เหล่านี้เป็นการบ้านเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้โจทย์ ก่อนแก้สมการเศรษฐกิจติดรูต