เปิดอีเวนต์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล “ฤดูการเมืองกันยา” สารพัดม็อบชุมนุมต่อเนื่อง

เดือนกันยายนนี้ อุณหภูมิการเมืองแทบลุกเป็นไฟในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

สารพัดปมการเมืองที่ระอุกันอยู่ในเวลานี้จะไปขมวดกันเป็นฟางเส้นสุดท้ายในเดือนกันยายน ทุกเหตุการณ์

เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน “กลุ่มนักเรียนเลว” ที่เคยสร้างปรากฏการณ์บุกกระทรวงศึกษาธิการ ไล่ให้ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาฯ “ไปต่อแถว” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ล่าสุดได้นัดชุมนุมใหญ่ขับไล่เผด็จการ 5 กันยายน ร่วมกับ 24 โรงเรียนทั้ง กทม.และต่างจังหวัด พร้อมตั้ง #หนูรู้หนูมันเลว ปักหมุดเอาไว้ระดมพล

นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของขบวนการนิสิต นักศึกษา ยามนี้คือ “ประชาชนปลดแอก” นัดหมายวันที่ 19 กันยายน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ อันเป็นวันครบรอบรัฐประหาร 14 ปี 19 กันยายน 2549 ด้วย

แกนนำหลักคือ กลุ่ม FREEYouth เยาวชนปลดแอก ที่ยกระดับเป็น “ประชาชนปลดแอก” มี “ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี” เป็นเลขาธิการ ขีดเส้นตายจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง แก้รัฐธรรมนูญ-หยุดคุกคามประชาชน-ยุบสภา ให้รัฐบาลปฏิบัติภายในเดือนกันยายน

ทัตเทพบอกว่า “ขอเรียกร้องไปยังรัฐสภาให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยไม่ล็อกสเป็ก และให้แก้ไขถกเถียงได้ทุกมาตรา หากในวันที่ 30 กันยายนนี้ ยังคงมี ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จะมีการยกระดับการชุมนุม แต่ขอให้ติดตามรูปแบบการชุมนุมกันต่อไป”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเริ่มต้นของ “FREEYouth เยาวชนปลดแอก” ได้แตกหน่อเป็นสารพัดกลุ่มเคลื่อนไหว กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย นำโดย ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง) กลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย “พริษฐ์ ชิวารักษ์” แพนกวิ้น กลุ่มมอกะเสด กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสามพระจอมจะยอมได้ไง กลุ่มลาดกระบังชังเผด็จการ

คณะจุฬา มศว.คนรุ่นเปลี่ยน กลุ่มม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล กลุ่มเกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม คณะอุบลปลดแอก กลุ่มนักเรียนเกียมพัฒนาประชาธิปไตย กลุ่มเด็กวัดนวลไม่มีรุ่นพี่ชื่อประยุทธ์ สมัชชานักศึกษาอีสาน แนวร่วมประชาชนอีสานเพื่อประชาธิปไตย

ขณะที่กลุ่มเยาวชนที่มีจุดยืนตรงข้ามเช่น กลุ่มเยาวชนช่วยชาติ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.)

ถัดจากการนัดหมายชุมนุมใหญ่ของนิสิต นักเรียน นักศึกษา มาถึง “ปฏิทิน” การเมืองของนักการเมืองในสภา-นอกสภา

กับความพยายามของรัฐบาลที่จะถอดชนวนม็อบ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามปฏิทิน พรรครัฐบาลจะมีพิธีกรรมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 1-2 กันยายนนี้ เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 20 พรรค ซึ่งจะส่งถึงมือ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปรวมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่รอในระเบียบวาระอยู่ก่อนแล้ว

จากนั้น 10 กันยายน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน จะส่งผลการศึกษา-ข้อเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ เพื่อส่งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม โมเดลแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี “จุดร่วม” ตรงกันคือ 2 ข้อ 1.ไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์  2.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร.

แต่ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ข้อ มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน คือที่มา ส.ส.ร. ฝ่ายรัฐบาลชงโมเดล 150+50 มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และมาจากการเลือกของ ส.ส.10 คน และมาจากการเลือกของ ส.ว. 10 คนและมาจากการเลือกของที่ประชุมอธิการบดี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ และประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน 20 คน

รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษามีส่วนร่วม จำนวน 10 คน โดยกระบวนการ ในการดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์

ขณะที่โมเดลของ ส.ส.ร.ฝ่ายค้าน ให้มาจากการเลือกตั้งทุกจังหวัดแบบ 100% เต็ม จำนวน 200 คน โดยให้คำนวณจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คนจำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

ซึ่งคิวของผู้ทรงเกียรติทั้ง 750 คน (ส.ส.-ส.ว.) กำหนดคิวถกรัฐธรรมนูญไว้วันที่ 23-24 กันยายน ให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่ 1

จากนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง2 ข้างการเมือง จะถูกนำมา “ยำ-ขยำ” ในชั้นคณะกรรมาธิการ ตามโรดแมปแก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ต้องนำไปสู่กระบวนการประชามติ เพราะรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร.ผู้ยกร่าง กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบ240 วัน แต่ไม่นับการทำประชามติ แต่หากคำนวณตามซีกฝ่ายค้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะได้เห็นโฉมหน้าของ ส.ส.ร.ใหม่

นอกจากเกมแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีนัดหมายสำคัญ 15 กันยายน ที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ตามที่พรรคเพื่อไทยยื่นญัตติไว้ ให้คณะรัฐมนตรีมาตอบข้อซักถาม ใช้เวลาประชุม15 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจะเป็นเวลาของรัฐบาล

“น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะเน้นการอภิปรายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล จนทำให้ประเทศเกิดปัญหาขึ้น จะตั้งคำถามถึงการบริหารงาน ฉายภาพปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง และจะเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้รัฐบาลไปดำเนินการ

แน่นอนว่าข่าวเรื่องรัฐบาลถังแตก-กู้เงินเพิ่ม เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า จะถูกนำมาตั้งคำถามให้รัฐบาลตอบในเวทีนี้

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเตรียมแผน “จัดทีมอภิปรายนอกสภา” นัดกันไว้ประเดิมเวทีขอนแก่น-เชียงใหม่ เพียงแต่เคาะวัน ว. เวลา น. “น.อ.อนุดิษฐ์” กล่าวว่า เป็นเวทีให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเดือนกันยายน

และอีกหนึ่งอีเวนต์ เกิดขึ้นในวันที่ 16-18 กันยายน ประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ต่อยอดจาก จัดซื้อเรือดำน้ำ 22,500 ล้าน นักการเมืองรอสับ-ซักฟอก

โดยเมื่อสภาลงมติให้ความเห็นชอบแล้วทางสภา และจะส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาให้กับวุฒิสภาต่อไป ซึ่งวุฒิสภาจะพิจารณาในวันที่ 21-22 ก.ย.

เดือนกันยายน การเมืองจะลุกเป็นไฟ