กมธ.ตัดงบสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว “ธนาธร” ร่วมยินดีชาวบ้าน

ภาพจากทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ร่วมยินดีกับชาวบ้าน หลังเสนอให้ตัดงบฯ โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง และ ที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ ลงมติเห็นด้วย 

วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น. ที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2564 ได้พิจารณางบประมาณแผนงานบูรณาการ โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา กมธ. ได้อภิปรายเสนอให้ตัดงบประมาณโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนี่องจากประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และมีโครงการอื่นที่จำเป็นมากกว่า

นายธนาธร กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ในปี 2564 มีการตั้งงบประมาณในกรมชลประทาน ซึ่งเป็นของงบประมาณปี 2564 จำนวน 130 ล้านบาท แต่เป็นงบผูกพันทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2564-2566 จำนวนเงินทั้งสิ้น 650 ล้านบาท

โดยโครงการนี้มีปัญหาด้วยกันหลายประการ อาทิ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานการตรวจสอบ ซึ่งระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน และให้จังหวัดและประชาชนร่วมกันหาทางออกในการจัดการน้ำ

นอกจากนี้ พื้นที่โครงการยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และกรมอุทยาน และการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ IEE ยังไม่แล้วเสร็จ ก่อนการมาของบประมาณ หมายความว่ายังบูรณาการระหว่างหน่วยงานไม่เรียบร้อย แต่ดันมาตั้งงบประมาณจัดทำโครงการ

อีกทั้งบริเวณโดยรอบของโครงการ ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว พื้นที่โดยรอบมีอ่างเก็บน้ำอีกจำนวนถึง 3 แห่ง คือ แห่งแรกห่างไปอีก 2 กิโลเมตร มีที่กักเก็บน้ำคลองสะตอ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและไม่มีการดูแลรักษา รวมถึงไม่มีการใช้ประโยชน์น้ำที่กักเก็บไว้

แห่งที่สองห่างไปอีก 3 กิโลเมตร มีอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ที่ปัจจุบันโครงการสร้างเสร็จแล้วแต่มีปัญหาคือไม่ได้วางระบบส่งน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ

แห่งที่สาม ห่างไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีฝายคลองท่ายูง โดยฝายท่ายูงสภาพทั่วไปมีสภาพชำรุดและขาดการดูแลรักษา

และแห่งที่สี่มีอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งสภาพของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ แม้จะสร้างเสร็จแล้วแต่ระบบส่งน้ำ ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

จะเห็นได้ว่าในพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ อยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีให้สามารถนำอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ชาวบ้านในพี้นที่ก็ไม่ได้มีความต้องการน้ำเพิ่ม เนื่องจากพื้นที่แถบนั้นเป็นพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยาง ที่มีการขุดแหล่งน้ำใช้เอง มีน้ำใช้ตลอดปี และไม่ได้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก หรือพี้นที่แล้งซ้ำซาก ยังมีพื้นที่ในภาคอีสานอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการโครงการจัดการน้ำ ดังนั้นการลำดับความสำคัญในการทำโครงการจึงมีความจำเป็นต่อการพิจารณา

ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเหมืองตะกั่วใกล้น้ำตกโตนสะตอ มีความเสี่ยงในการสูญเสียแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากถึง 468 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัด เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน

ทั้งนี้ นายธนาธร ได้เสนอให้ตัดงบประมาณโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วออก ที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ ลงมติเห็นด้วย 22 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการตัดงบประมาณ 21 เสียง และงดออกเสียง 9 เสียง ส่งผลให้ข้อเสนอของธนาธรให้ตัดงบประมาณโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง ชนะไปด้วยคะแนน 22 : 21 เสียง

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง และกลุ่มรักษ์โตนสะตอ ได้ปักหลักค้างคืนประท้วงโครงการดังกล่าวนานร่วม 8 วัน บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะย้ายมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และตั้งเป้าหมายว่าจะไม่กลับบ้าน จนกว่ามีคำสั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว

เมี่อชาวบ้านได้ยินข่าวการอภิปรายของนายธนาธร และทราบผลการลงมติให้ตัดงบประมาณสำเร็จ ชาวบ้านก็ต่างแสดงความยินดีและสวมกอดกันด้วยความดีใจ หลังจากนั้น นายธนาธร ได้เดินทางมาแสดงความยินดีและพูดคุยกับพี่น้องที่ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลทันที

ภาพจากทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP
ภาพจากทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP
ภาพจากทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP

ที่มา : ข่าวสด