คำต่อคำ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ขบวนการนักศึกษา-จุดเปลี่ยนทางปัญญา และอนาคตประชาธิปไตยไทย

“ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักคิด นักเขียน และ เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks ซึ่งครั้งหนึ่งเคยออกมาแนะให้พ่อแม่ ‘ลดเสียงของตัวเองและฟังเสียงลูกให้มากขึ้น’ สร้างความเกรียวกราวในหมู่นักเรียน ถึงขนาดที่เจ้าตัวแอบแซวตัวเองว่า เป็น “บิดาแห่งโรงเรียนสาธิตฯ”

“ประชาชาติธุรกิจ” นั่งสนทนากับ “ภิญโญ” ท่ามกลางเสียงตะโกนเรียกร้อง ที่ไม่มีผู้ใหญ่ได้ยินของนักเรียน-นักศึกษา ในหัวข้อ “ขบวนการนักศึกษา-จุดเปลี่ยนทางปัญญา และอนาคตประชาธิปไตยไทย”

และนี่คือ “คำต่อคำ” ของบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

ประชาชาติธุรกิจ : ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงตุลาคม นักเรียน นักศึกษา และประชาชน มีคิวจะชุมนุมด้วยวาระร้อนแรง อยากให้คุณภิญโญแสดงมุมมองว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรมีบทบาทอย่างไร เพื่อให้ลูกหลานที่ออกไปชุมนุมเดินไปถึงจุดหมาย 

ภิญโญ : วันก่อนท่านอดีตนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ ปันยารชุน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ใหญ่ควรจะเป็นเด็กให้มากขึ้น และเด็กควรจะเป็นผู้ใหญ่ให้มากขึ้น คำถามก็คือว่า ผู้ใหญ่จะเป็นเด็กได้ยังไง ผู้ใหญ่ง่ายที่จะเป็นเด็ก เพราะว่าผู้ใหญ่เคยเป็นเด็กมาก่อน ในทางกลับกัน เด็กนั้นยากที่จะเป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กยังไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน

เรามาเริ่มกันที่ ผู้ใหญ่จะเป็นเด็กได้ยังไง ผู้ใหญ่จะเป็นเด็กได้คือ 1. ต้องมีเมตตา ต้องรู้ว่าเด็กยังไม่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ยังไม่เคยผ่านเรื่องราวหลายอย่างในชีวิตมา ผู้ใหญ่ที่มีเมตตาจะเห็นว่า เฮ้ย นี่มันก็เหมือนเราตอนเราเป็นเด็ก เรายังไม่มีประสบการณ์ชีวิต แต่เรามีความฝัน เราอยากเห็นอนาคตที่ดีขึ้น

คำถามใหญ่ตอนนี้ต้องกลับมาดูที่จุดเริ่มต้นก่อนว่า สิ่งที่เด็กเรียกร้องมาทั้งหมด ข้อเรียกร้องทั้งหมดของเด็ก ตัดเทคนิกออกไปให้หมด ตัด หนึ่ง สอง สาม สี่ อย่าไปงงกับตัวเลข งงกับข้อเรียกร้อง ถามว่าเด็กออกมาเรียกร้องรอบนี้เรียกร้องอะไร เด็กเรียกร้องให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เรียกร้องให้พวกเราประชาชนชาวไทยทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เด็กเรียกร้องอนาคตของสังคมไทยที่ดีขึ้น เด็กเรียกร้องระบบการเมืองที่ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจที่มีความยุติธรรมมากขึ้น  เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมที่มันไม่ยุติธรรมในประเทศนี้ให้มันยุติธรรมจริงๆ เสียที เด็กเขาเรียกร้องสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากเลย

คำถามคือ แล้วทำไมเด็กไม่มีสิทธิเรียกร้องสิ่งเหล่านี้? ถ้าเราตกลงกันเรื่องนี้ได้ก่อนว่า เด็กเขามีสิทธิ์เรียกร้องเหมือนกับเราทุกรุ่นที่ผ่านมาในอดีต ในวันที่เราเป็นเด็กเราก็ใจร้อน เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม เราก็ออกมาเรียกร้องเหล่านี้ เพื่อให้สังคมดีขึ้น แต่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราเห็นชีวิตที่แท้จริงว่าสังคมมีข้อจำกัดมากมาย ต่อให้เราอยากได้ข้อเรียกร้องเหล่านี้ แต่มันไม่สามารถเป็นจริงในเวลาอันสั้น หรือชั่วข้ามคืน เราไม่สามารถขีดเส้นได้ว่า มันจะจบเดือนนี้เดือนหน้า มันมีเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจ เขาจึงเป็นเด็กไง เขาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลองผิดลองถูก แล้วค่อยๆ เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้

คำถามกลับมาก็คือว่า ถ้าการที่เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ได้ เขาจำเป็นต้องใช้เวลา ต้องให้เวลาเขาเรียนรู้ถูกผิด ทั้งทางการเมือง ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้กระบวนการมันเริ่มต้นว่าเด็กกำลังเรียนรู้อยู่

ในทางกลับกัน ถ้าเด็กใช้เวลาในการเรียนรู้ ผู้ใหญ่จะใช้อะไรในการอยู่กับเด็ก ผู้ใหญ่ต้องใช้เมตตา ผู้ใหญ่ต้องมีเมตตาว่าเด็กเขากำลังเรียนรู้ ถ้าผู้ใหญ่มีเมตตาว่าเด็กเขากำลังเรียนรู้ เพื่อที่เราจะสร้างเด็กให้กลายเป็นผู้ใหญ่ ให้วันหนึ่งเด็กเหล่านี้มีวุฒิภาวะได้ เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกของเวลา เด็กคนหนึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเด็กทั้งสังคมผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เด็กทั้งสังคมจะกลายเป็นผู้ใหญ่ เราต้องการสังคมที่มีวุฒิภาวะ

ประชาชาติธุรกิจ : จะทำอย่างไรให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และพ่อแม่ เดินเป็นขบวนเดียวกันกับเด็ก เพราะตอนนี้เหมือนทุกอย่างแยกส่วน คู่ขนานกันไปเลย

ภิญโญ : เราต้องไม่มองแยกส่วนว่า นี่คือเด็ก นี่คือผู้ใหญ่ เราต้องมองว่านี่คือกระบวนการของสังคมทั้งหมด เด็กคนหนึ่ง อนาคตก็เป็นผู้ใหญ่ วันนี้เราเป็นผู้ใหญ่ ในอดีตเราคือเด็ก เด็กกับผู้ใหญ่คือส่วนเดียวกัน คือไก่และไข่ มันคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของสังคม

ทีนี้ผมย้อนกลับมาประเด็นใหญ่ ถ้าเราจะกลับมาทำความเข้าใจในเรื่องที่มันสลับซับซ้อนยากขนาดนี้ได้ เราต้องดูภาพใหญ่ๆ ให้ออกก่อน ภาพใหญ่ๆ ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ภาพใหญ่ๆ คือ ตอนนี้คือวงรอบใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน เราเป็นผู้ใหญ่ เรามีวุฒิภาวะ เราบอกว่าเรามีความรู้ เรามีปัญญา เรามีเมตตาต่อเด็ก เราต้องจับจุดให้ได้ก่อนว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยของเรา

วันนี้รอบแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นในระดับโลก ทุกคนรู้หมดแหละ มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เกิดการดิสรัปชั่นขึ้น ธุรกิจได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ได้รับผลกระทบหมด เพียงแต่ว่า เมื่อเรามาโฟกัสที่การเมือง เราลืมเรื่องเหล่านี้ไปว่า เฮ้ย พวกเราทั้งหมดทั้งสังคม กำลังอยู่ในวงรอบใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด และเรา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กำลังอยู่รอบแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด และสังคมไทย หลีกหนีความจริงข้อนี้ไปไม่พ้น ว่าเรากำลังอยู่ในขบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง

ทีนี้ถามว่าในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง ใครที่รู้สึกไวที่สุด ก็คือคนที่เขายังอ่อนด้อย นั่นก็คือเด็ก เขารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง เขารู้สึกว่าอยากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องให้มันดีขึ้น ถามว่าใครปรับตัวได้ง่ายที่สุด สุภาษิตไทยบอกไว้ชัดเจนว่า ไม้แก่ดัดยาก ไม้อ่อนดัดง่าย วันนี้ไม้อ่อนเขากำลังดัด ดัดตัวเองให้เข้ากับอะไร ให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ให้เข้ากับค่านิยมสมัยใหม่ ให้เข้ากับคุณค่าใหม่ ให้เข้ากับอนาคตใหม่ ที่เขากำลังจะสร้างขึ้น ซึ่งไม่ใช่พรรคการเมืองนะ คืออนาคตใหม่ที่เขากำลังจะสร้าง

เขารู้ว่าโลกทุกวันนี้มันอยู่เหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ ประเทศไม่สามารถอยู่เหมือนเดิมต่อไปได้ ธุรกิจอยู่เหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ การศึกษาอยู่เหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ เมื่อเขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้อยู่เหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ มันเป็นธรรมดา ไม่ว่าเด็กในประเทศไหนต้องออกมาเรียกร้องว่า เราอยู่กันแบบนี้ต่อไปไม่ได้นะ รุ่นเราจะไม่มีอนาคต รุ่นเราจะไม่สามารถทนรับการไม่เปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นทุกคนต้องออกมา เป็นเรื่องธรรมดามากที่ต้องออกมา

ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจภาพรวมแบบนี้ จะเริ่มมองออกว่า อ๋อ นี้มันเป็นแค่กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น แล้วเด็กเป็นผู้ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง แล้วเขาออกมาเรียกร้อง หลักใหญ่ใจความเรียกร้องสังคมที่ยุติธรรมขึ้น การเมืองที่ดีขึ้น เศรษฐกิจที่ดีขึ้น เรียกร้องกระบวนการปรับตัวของทุกสถาบัน คำถามคือ เขาทำผิดเหรอ? เขาทำไม่ผิด เขาทำหน้าที่แทนเรา เขากำลังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เราพูดกันมานาน เรามีม็อบมาหลายม็อบ เรามีการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย เราพูดเรื่องการปฏิรูป แล้วก็ปฏิรูปกันไม่เคยสำเร็จซักที

แล้ววันนี้เด็กมาพูดเรื่องเดิม พูดเรื่องเดียวกับสิ่งที่พ่อแม่เด็กเหล่านี้เคยพูดไว้ กี่ยุคกี่สมัยไม่ทราบ 40 กว่าปีมาแล้วนะ เราพูดเรื่องการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ล่าสุดเราพูดเรื่องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วเด็กบอกว่า ก็เมื่อยังปฏิรูปไม่ได้ แล้วทำไมวันนี้เราออกมาเรียกร้องการปฏิรูป ทำไมเราจะพูดไม่ได้ เอาเบสิกตรงนี้ก่อน ถ้าเข้าใจตรงนี้ก่อน อ๋อ เขาพูดเรื่องเดียวกับเรานี่ เด็กกับผู้ใหญ่พูดเรื่องเดียวกัน

ประชาชาติธุรกิจ : ผู้ใหญ่และคนในสังคมมักบอกว่า เขาอาบน้ำร้อนมาก่อนนะ เด็กจะมารู้บริบทสังคมไทยได้อย่างไร อยู่ๆ จะมาเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญๆ เป็นเรื่องที่เด็กไม่ควรพูด

ภิญโญ : อันนี้เป็นปกติ คือมันมีสองส่วน ส่วนแรกเราคุยกันคือ ผู้ใหญ่ต้องมีเมตตาต่อเด็ก เมื่อคุณมีเมตตา คุณจะเห็นว่าเขากำลังสู้เรื่องอะไร และเขากำลังเรียกร้องต้องการเรื่องอะไร สอง คุณต้องให้สติแก่เด็ก สิ่งที่ผู้ใหญ่ต่างจากเด็กคือ คุณมีเวลา วันเวลาของชีวิตที่อยู่ในโลกมามากกว่าเขา มีประสบการณ์เก่ามากกว่าเขา เพราะฉะนั้นคุณต้องใช้สิ่งที่คุณมีมากกว่าเขา คุณควรจะต้องมีวุฒิภาวะมากกว่าเขา

ถ้าเขาใช้ความหยาบคายกับเรา เราต้องใช้ความสุภาพให้มากกว่าเขา ถ้าเขาไม่มีเมตตาต่อเรา เราต้องมีเมตตาที่มากกว่าเขา ถ้าบอกว่าเขามีปัญญาที่น้อยกว่าเรา เราก็ต้องแสดงออกให้เห็นว่าเรามีปัญญาที่มากกว่าเขา เราต้องแสดงคุณสมบัติของการเป็นผู้ใหญ่ที่มีมากกว่าเขา เขาถึงจะฟังเรา และถ้าเราอยากจะให้เขาทำอะไรเหมือนเรา เราต้องทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง

ถ้าเราไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นให้ปรากฏออกมาได้ มันยากที่เราจะไปบอกว่า เราไม่ทำนะแต่คุณต้องทำ เราทำได้แต่คุณห้ามทำ คือมันต้องมีมาตรฐานเดียว ถ้าเราทำได้ เด็กต้องทำได้ ถ้าเราทำไม่ได้ เด็กก็ต้องทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่บอกว่าทุกอย่างเราทำได้หมด ฝ่ายเราทำได้หมด ถูกต้องหมดทุกอย่าง เด็กทำผิดหมด ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เด็กไม่ต้อง เด็กอยู่ไปก่อน เด็กไม่ต้องอาบน้ำร้อน คือทุกคนมันควรที่จะได้ลองผิดลองถูกมาก่อน

ประชาชาติธุรกิจ : เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากันแบบไม่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

ภิญโญ : เราต้องเข้าใจโครงใหญ่ของโลกว่า เราอยู่ในวงรอบแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผมเขียนหนังสือเล่มใหม่กำลังจะออก ชื่อเรื่องว่า “ไครซิส ปัญญาฝ่าวิกฤต” อธิบายเรื่องนี้ไว้ดีมาก มันอธิบายว่า เฮ้ย เราทุกคนกำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ในวิกฤตนั้นมันมีทั้งโอกาสและอันตราย

ถ้าเราเข้าใจ ทั้งสังคมต้องเฝ้าระวังก่อนว่า เราจะระวังอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นได้ยังไง เราต้องไม่เป็นปัจจัยที่ไปเกื้อหนุนให้เกิดอันตรายมากขึ้น ในภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เราช่วยได้ทุกฝ่าย ช่วยถอนไฟออกจากกองไฟทั้งหมดได้ อย่าไปสุมไฟเพิ่มมากขึ้น ไฟดับไฟไม่ได้ ทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ต้องใช้น้ำ ต้องมีความเป็นน้ำ มีความนุ่มนวล ช่วยประคับประคองเด็กไป

แน่นอน เด็กเป็นฝ่ายร้อนแรง แต่ถ้าเราเป็นไฟ เอาไฟไปสุมกองไฟ ไฟก็ยิ่งลุกโชติช่วงขึ้นมา มันก็ไม่นำไปสู่อะไรทั้งสิ้น หัวใจสำคัญของวิกฤตคือ ในวิกฤตเราจะต้องตัดสินใจใหญ่ การตัดสินใจใหญ่ทุกครั้งจะมีผลพวงที่ตามมามากมาย

ในอดีตที่ผ่านมาของสังคมไทย เวลาเกิดวิกฤตทางการเมือง เราตัดสินใจโดยบางครั้งไม่ได้ประเมินว่าผลที่ตามมาคืออะไร บางครั้งเราก็ทำผิดซ้ำๆ ถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์การเมืองทั้งหมดของเรา เราจะเห็นว่าเราตัดสินใจ โดยใช้แพทเทิร์นเดิมทั้งหมด แล้วผลก็เป็นแบบเดิม มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นเลย ซึ่งสมัยก่อนมันง่าย การตัดสินใจแบบนี้ ผลเป็นแบบนี้ แล้วเรื่องราวมันจะจบ

แต่ในยุคปัจจุบันรอบวงรอบของข่าวสารข้อมูล วงรอบของกระแสสังคม มันหมุนเร็วขึ้นมาก เวลา 10 ปี เท่ากับ 1 ปี เวลา 1 ปี อาจจะถอยร่นเหลือแค่ 1 วัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเราใน 1 ปี มีปริมาณมหาศาล อาจจะเท่ากับการสั่งสมพลังงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเลยก็ได้ ปีนี้เราเจออะไรมาบ้าง เราจำแทบไม่ได้เลยนึกออกไหม มันอัดแน่นมาก

ฉะนั้นผู้ที่คุมนโยบาย ผู้ที่อยู่ในอำนาจตัดสินใจ การตัดสินใจแต่ละครั้งมันมีผลกระทบรุนแรงมาก และมันจะรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถใช้แพทเทิร์นเดิมในการรับมือกับวิกฤตได้ เพราะถ้าคุณใช้แพทเทิร์นเดิม มันก็จะเกิดแบบเดิม แล้วเมื่อมันเกิดแบบเดิม แต่เวลามันถูกบีบอัด สถานการณ์มันถูกบีบอัด สิ่งที่มันเคยเกิดแบบเดิม มันจะรุนแรงและรวดเร็วแบบที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยประเมินไว้ เพราะว่ามันเร็วและมันก็จะแรงขึ้น

เมื่อมันแรงขึ้น ผลที่ตามมามันคุณจะประเมินไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่ว่าคุณจะรับมืออย่างไร สิ่งที่น่ากลัวคือวิธีการที่คุณใช้ในการรับมือ ถ้ามันผิดหรือมันพลาดไป คุณจะไม่สามารถประเมินผลที่ตามมาได้ ซึ่งพอประเมินผลที่ตามมาไม่ได้ ความเสียหายมันสูงมาก และบางครั้งคุณจะจ่ายค่าความเสียหายนี้ไม่ไหว ถ้าคุณตั้งสติดีๆ คุณเป็นผู้ใหญ่ คุณควรจะรู้ คุณควรจะรับมือยังไง ไม่ให้ผลที่ตามมามันรุนแรง

ประชาชาติธุรกิจ : เท่ากับว่าการเคลื่อนของกระบวนการนักศึกษา มีความเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ตามโลก ฝ่ายที่รับมือคือฝ่ายที่กุมอำนาจ ยังใช้โครงสร้างหรือวิธีการแบบเก่าอยู่ คุณภิญโญคิดว่าสิ่งใหม่มากกับสิ่งเก่ามาก พอมาเจอกันแล้ว จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นหรือไม่ 

ภิญโญ : มันมีแนวโน้มแบบอาจารย์นิธิวิเคราะห์ว่า มันจะเกิดความรุนแรง แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์ทุกคน นักวิชาการ นักคิดทั้งหลายออกมาวิเคราะห์ ไม่ได้วิเคราะห์เพื่อให้มันเกิดนะ ทุกคนวิเคราะห์เพื่อให้คุณเห็นซีนาริโอที่เรียกว่า เวิร์สเคสซีนารีโอ (Worst Case Scenario) สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ว่ามันจะเป็นยังไง นึกออกไหมครับ การวิเคราะห์ ไม่ได้วิเคราะห์ให้เกิด วิเคราะห์เพื่อให้เห็นภาพ แล้วอย่าไปทำให้มันเกิด

เมื่อคุณรู้ว่าเหตุปัจจัยอะไรที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เหตุปัจจัยอะไรที่จะนำไปสู่การสั่นคลอนเสถียรภาพทั้งหมดที่เรากำลังรักษาสมดุลได้บางส่วนนะ คุณอย่าเติมปัจจัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้าไปทั้งสองฝ่าย คือต้องช่วยๆ กันถอนปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งมันทำได้

กลับมาที่คำถามแรกๆ ที่ถามว่า เฮ้ย แล้วผู้ใหญ่ควรทำยังไง ผู้ใหญ่คือควรจะช่วยระมัดระวังเด็ก คือ 1. มีเมตตาต่อเด็ก อย่าไปคิดว่าเด็กเป็นศัตรูของเรา เด็กก็คือลูกหลานของเรา เด็กทุกคนที่เข้าไปชุมนุมในม็อบ บางคนก็เป็นลูกเรา บางคนก็เป็นเพื่อนของลูก บางคนก็เป็นลูกของเพื่อนเรา คือมันเป็นใครสักคนที่อยู่ในนั้น ถึงที่สุดเขาก็เป็นลูกหลานของเรา เป็นลูกหลานของสังคมไทย แล้วเราจะไปใช้ความรุนแรงกับเขาได้ยังไง

ทีนี้พ่อแม่ทุกคนผ่านประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองมา ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมา แล้วก็กลัวจะเกิดความรุนแรง แต่ทั้งหมดที่ผ่านมานี่ เด็กไม่ได้เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงนะ งั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ใหญ่คนในสังคมต้องทำคือ เรียกร้องป้องกันไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับเด็ก เรียกร้องป้องกันระวังไม่ให้มือที่สาม มือที่สี่ หรืออำนาจรัฐทั้งหมด อย่าใช้ความรุนแรงกับเด็ก

ถ้าคุณไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็กมันยากที่จะเกิดความรุนแรง เพราะมันจะคุยด้วยสันติวิธีได้ มันค่อยๆ คุยไป จะเคลื่อนก็เคลื่อนไป เดือดร้อนก็สู้กันไป ถ้าใช้ความรุนแรงเมื่อไร จะนำไปสู่ผลที่ตามมา ซึ่งไม่มีใครคาดการณ์ได้ และไม่มีใครอยากให้เป็น

ที่ออกมาเตือนทั้งหมดคือทุกคนล้วนไม่มีใครอยากให้เป็น นักวิเคราะห์ทั้งหลายที่แหลมคมทั้งหมด ทุกคนก็เตือนไม่อยากให้รุนแรง เขาไม่อยากให้เป็น เมื่อไม่อยากให้เป็นคือคุณต้องมีสติ คุณต้องมีเมตตาต่อเด็ก คุณต้องช่วยกันระวังป้องกัน แล้วอย่าไปทำให้เด็กเป็นศัตรู

เด็กก็คือเราในอดีต วันหนึ่งเราเคยเป็นเด็ก แล้วในอนาคตเด็กเหล่านี้ก็คือเรา ฉะนั้นเด็กและผู้ใหญ่มันเรื่องเดียวกันในสังคมทั้งหมด แยกกันไม่ได้ เขาคือองค์ประกอบหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ถ้าเรารับความจริงข้อนี้ได้ ถึงจะเห็นภาพรวมทั้งหมด ถึงจะเตรียมการรับมือแก้ปัญหาว่า เฮ้ย นี่เรากำลังจะเจอวิกฤตรอบใหญ่นะ แล้วเด็กเป็นเสียงที่ออกมาเตือนเราว่า เราต้องปรับตัว ปรับสังคมทั้งหมด เพื่อเตรียมรับวิกฤตรอบใหญ่นะ ไม่งั้นเราจะไปต่อไม่ได้

ประชาชาติธุรกิจ : ใครจะได้ดอกผลจากการการเล่นเกมยาวเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และคาดว่าเกมนี้จะจบลงที่จุดใด 

ภิญโญ : ที่ผ่านมา เราอยู่ในแพทเทิร์นของความเคลื่อนไหว ที่ใช้ความรุนแรง แล้วเราก็พังทลายไปรอบแล้วรอบเล่า ถ้าเราสามารถหาวิธีการใหม่ได้ แล้วเราปฏิรูปหรือว่าเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันอาจจะเป็นความฝัน โดยเกิดความรุนแรง กลับไปที่สภาแก้รัฐธรรมนูญได้ไหม มันเคยเกิดเมื่อปี 40 รัฐธรรมนูญเราได้มาด้วยฉันทามติว่า ถ้าสังคมทั้งสังคมไม่เคลื่อนมาทางนั้นนะ ถ้าวันนี้กลุ่มเด็กหรือกลุ่มเยาวชน กลุ่มประชาชน สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองได้มากพอว่า เราจะไม่อยู่ในรัฐธรรมนุญฉบับเดิมแล้วนะ เราไม่เอารัฐธรรมนูญ 60

ทั้งสังคมส่งเสียงลงมาดังมาก ดังมากพอที่นักการเมืองจะต้องฟังว่าเรา ไม่เอาแบบนี้ ไม่ว่าคุณเป็นพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เฮ้ย พวกเราทั้งหมดอยู่ในรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการแบกใส่หลัง แล้วต้องแบกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป 20 ปีข้างหน้า แบกอีก 5 ปีความสามารถในการแข่งขันทางประเทศก็หมดไปแล้ว แบกไปอีก 1-2 ปี เราก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครสามารถทนสถานการณ์อย่างนี้ต่อไปได้อีกนาน

ถ้ากระแสสังคมเกิดขึ้นและรุนแรงเพียงพอ ทางเลือกใหม่จะเกิดขึ้นได้ ทำไมธุรกิจคิดนอกกรอบได้ แล้วการเมืองเราจะคิดนอกกรอบไม่ได้ แล้วกระแสสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ มันจะไม่สามรถเขย่าโครงสร้างทางความคิด แล้วเราสามารถหาวิธีการที่ใหม่กว่าเดิมได้

ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง ประวัติศาสตร์เกิดวิกฤต เราสามารถใช้ทางเลือกที่มันไม่เคยมีอยู่ให้มันมีได้ เพราะทางเลือกเหล่านั้นเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ถ้าทางทั้งหมดที่มีอยู่มันตันแล้วเราจะเดินไปทำไม ตอนนี้มันไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค นักการเมืองก็จะลากทั้งหมดเข้าไปสู่ปัญหาทางเทคนิค แก้รัฐธรรมนูญ ให้ สว. ไม่มีสิทธิ คือปัญหาทางเทคนิคทั้งหมด แต่ตอนนี้ปัญหาสังคมมันใหญ่กว่าปัญหาทางเทคนิค ถ้าคุณไปติดที่ปัญหาทางเทคนิค คุณแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ไม่ได้

ตอนนี้ผู้ใหญ่ในสังคม นักคิด นักเขียนประชาชนต้องออกมาอธิบายว่า นี่คือปัญหาใหญ่กว่าวิกฤตรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาเทคนิคทางการเมือง มันเกินกว่านั้นแล้ว ถ้าเราไม่สามารถมองเฟรมหรือมองภาพที่ใหญ่กว่านั้นได้ เราจะเอาประเทศไม่รอด

ประชาชาติธุรกิจ : ข้อเสนอที่มีปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดรูเข้าสู่เรื่องใหม่ คืออะไร 

ภิญโญ : คือ มันต้องหาพื้นที่ในการที่จะเริ่มคุยกัน แล้วยอมรับว่ามีความแตกต่างในความคิดแบบรุนแรงมากเกิดขึ้นในสังคม และข้อเรียกร้องที่นักศึกษาเรียกร้องที่เป็นเบสิกที่สุด ควรได้รับการเอากลับมา 2-3 ข้อ เช่น หยุดคุกคามประชาชน เป็นอะไรที่ง่ายมาก คือไม่ใช่ทุกครั้งที่ออกไปชุมนุม เขาออกไปจัดเวที มันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญไว้ว่า ประเทศไหนเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหา อย่างนี้ควรจะต้องเลิก ยิ่งทำเท่ากับยั่วยุ ยิ่งทำเท่ากับเพิ่มคนมากขึ้นเรื่อย

คุณยิ่งจับเขายิ่งเดิน ยิ่งจับเขายิ่งประท้วง มันยิ่งไปตอกย้ำสิ่งที่เขาพูด ว่ามันเป็นเรื่องจริง เขากำลังพูดว่าคุณอยุติธรรม คุณสองมาตรฐาน ตอนนี้เราอยู่ในประเทศหนึ่งประเทศสองระบบ ประเทศที่คนส่วนหนึ่งทำแล้วก็ผิดหมดทุกเรื่อง และคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจทำอะไรถูกหมดทุกเรื่องไม่เคยผิด คนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ทุกอย่างไปหมด อีกกลุ่มหนึ่งไม่เคยได้อะไรเลย คำถามคือเราจะอยู่ในประเทศที่ “หนึ่งประเทศสองระบบ” แบบนี้ได้จริงหรือ

ถ้าพูดคือ ผมทำอะไรผิดหมดทุกอย่าง คุณทำอะไรถูกหมดทุกอย่าง พวกคุณดีแสนดีประเสริฐหมดทุกอย่าง พวกผมเลวแสนเลว ทำอะไรไม่เคยถูกเลย แล้วจะอยู่ในประเทศร่วมกันได้อย่างไร

เขาบอก 1.หยุดคุกคามประชาชน เอานิติรัฐกลับมาได้ไหม คือคุณว่าไปตามกฎหมายได้ไหม คดีบอสกระทิงแดง เห็นชัดเลยคือคนไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้ต่อไปแล้ว แล้วทำไมคุณทำให้มันอยู่แค่คดีเดียวล่ะ ทำไมคุณไม่ใช้หนึ่งคดีแล้วเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมในสังคม ให้คนมันรู้สึกว่าสังคมนี้มันยังมีความยุติธรรมที่เราจะยังมีชีวิตอยู่กับมันได้ ลูกหลานของเรายังจะอยู่ในสังคมนี้ได้

วันดีคืนดี ถ้าเราไม่ใช่เป็นฝ่ายผู้มีอำนาจ แล้วอาจเราถูกกระบวนการยุติธรรมกระทำย่ำยี แล้วเราจะอยู่ในสังคมนี้ยังไง วันนี้เราเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจ เราเลยรู้สึกว่าไม่เป็นไร เพราะเรามีอำนาจ แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะมีอำนาจไปตลอด คุณก็อยู่กับการเมืองนี้มานาน คุณก็เห็นว่าการเมืองมันสลับข้างกันไปมา แล้วถ้าสมัยหน้าคุณไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วคุณไม่ได้อยู่ในอำนาจ แล้วฝ่ายตรงข้ามเขาใช้กระบวนการเดียวกันกับคุณ ที่คุณทำกับฝ่ายเค้า มันทำกับคุณบ้าง แล้วคุณจะอยู่ยังไง แล้วถึงที่สุด สังคมจะอยู่กันยังไง ลูกหลานจะอยู่กันยังไง

ตอนนี้เรากำลังพังหัวใจที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมของเราไปแทบจะทั้งหมดแล้ว เราพังสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น ฟรีดอม ออฟ สปีด (Freedom of speech) ซึ่งมันมีอยู่ในทุกสังคม การที่คนจะออกไปเดินขบวน ออกไปพูด มันเป็นเรื่องธรรมดา เราทำจนกลายเป็นเรื่องผิด จนต้องบอกว่า เด็กอย่าออกไป มันอันตราย การที่เด็กคนหนึ่ง ออกมาร้องเพลงประชาธิปไตย มันจะร้อง 5 วัน 5 คืนถ้าไม่กีดขวางการจรจร ถ้าไม่เกิดอะไรวุ่นวายก็ร้องไปเถอะ คุณทำกันมากี่ยุคกี่สมัยแล้ว ทำไมอยู่ดีๆ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องผิด

เสร็จแล้วคุณก็ดำเนินคดีเขา แต่ว่าคดีอีกฝ่าย ไม่คืบหน้าไปถึงไหนเลย ฟรีดอม ออฟ สปีด คุณพัง รูล ออฟลอว์ (Rule of law) คุณพัง ขบวนการยุติธรรมคุณพัง สิทธิเสรีภาพคุณพัง คุณเหลืออะไรที่จรรโลงสังคมไว้ได้บ้าง ความคิดสร้างสรรค์คุณก็ไม่มี เศรษฐกิจของคุณก็เคลื่อนที่ไปข้างหน้าไม่ได้ คุณถูกกดซ้ำทั้งหมด

คุณยังไม่เห็นอีกเหรอ ว่าประเทศชาติคุณวิกฤตหนักที่สุด มันจะต้องเจอหนักกว่านี้ ถ้าคุณไม่แก้และรับมือมันแบบสร้างสรรค์และไม่รับมือด้วยวิธีเดิมที่เคยเป็นมา คุณไม่เห็นอีกเหรอว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อยู่ในเรือลำเดียวกัน เวลามันจม มันจมด้วยกันหมด มันไม่มีใครรอดจากการจมของเรือครั้งนี้ได้

ประชาชาติธุรกิจ : คุณภิญโญ เคยเขียนหนังสือ นำเสนอว่า เวลาเราจะหลุดจากวิกฤต เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาใหม่และปัญญาเก่ามาผสมผสานกัน ในครั้งนี้มองเห็นหรือยังว่า ใครจะเป็นผู้มีปัญญาในการโบกธง ใครที่พอจะสามารถหาทางออกได้ พอจะมีหรือไม่ 

ภิญโญ : ยุคนี้มันอาจจะไม่ใช่ผู้นำทางความคิดหรือผู้นำมวลชนทั้งสองฝ่าย หรือผู้นำฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมานั่งคุยกันแบบในอดีต ถ้าเราสังเกตการปรากฏตัวขึ้นของนักศึกษา ประชาชน มันขึ้นมาแบบเป็นดอกเห็ดทั้งแผ่นดิน ขึ้นมาทั้งหมด แสดงว่าถ้าสมมติจะมีการคุยกัน หรือการเคลื่อนทางความคิดในรอบนี้ มันคือปัญญารวมหมู่ของทุกคน ไม่มีใครสามารถออกมาชี้นำทางความคิด ความซับซ้อนของสถานการณ์ ความซับซ้อนของตัวละคร ความซับซ้อนของวิกฤต มันเกินกว่าปัญญาของผู้ใดผู้หนึ่งที่จะมาชี้นำได้

ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้ทุกคนต้องอดทน มีขันติธรรมและฟังให้มาก มีเมตตาให้สูง คือขันติธรรมจะช่วยได้ว่าเราเคยด่าเขาไว้ วันนี้เขาด่าเรากลับบ้านก็แผ่เมตตาให้เขาเถอะ วันนี้จะด่าเรา เราก็ฟังเขาหน่อย การรับฟังจะช่วยได้ เสร็จแล้วมันคือปัญญารวมหมู่ ตอนนี้มันกำลังเป็นบททดสอบของสังคมไทยว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราสะสมปัญญาของทุกๆ ส่วนไว้มากพอไหม แล้วเราจำเป็นต้องใช้ต้นทุนทางปัญญาที่เราฝากไว้ทั้งหมด มารวมหมู่กัน

ทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจ คุณมีคนฉลาดที่สุดกี่คน ช่วยเสนอความคิดเห็นมาหน่อย ฝ่ายนักศึกษา ฝ่ายปัญญาชน นักคิด นักเขียน ฝ่ายนี้เสนอออกมาว่า ทางออกที่จะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ มันคืออะไร แล้วสังคมจะช่วยคิดเอง ช่วยตัดสินเองว่า นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือเปล่า ตอนนี้เราต้องหาเบสซูโลชั่น เพื่อออกจากความขัดแย้งรุนแรงรอบนี้ให้ได้ ซึ่งผมก็เห็นบทบาทของนักคิดหลายคน ปัญญาชนหลายคน พยายามจะออกมาพูด อาจารย์นิธิออกมาพูด คุณอานันท์ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ หลายต่อหลายคนออกมาพูด เราต้องฟังคนเหล่านี้ให้หมด

แล้วไม่เพียงแต่คนเหล่านี้ ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราต้องให้พื้นที่เด็กๆ ออกมาพูด แม้ว่าเขาอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ แต่เขาอยู่กับความคิด ความฝัน ต้องใช้ปัญญาของคนรุ่นก่อน แล้วก็ใช้พลังงานของเด็ก และนี่คือมวลรวมของการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน เด็กและผู้ใหญ่ คน 2 เจนเนอเรชั่น ต้องลดทอนการเป็นคู่ขัดแย้ง แล้วต้องใช้พลังและปัญญาช่วยกันเหวี่ยงรอบใหม่ของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปข้างหน้าให้ได้ สังคมถึงจะพ้นจากวิกฤตรอบนี้ คือเรื่องมันยากมากรอบนี้

ประชาชาติธุรกิจ : ถ้าจะประเมินบทบาทของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถพูดได้หรือไม่ว่า เขาคือศูนย์กลางของความขัดแย้ง ความขัดแย้งอยู่ที่เขา เราจะสามารถกล่าวถึงเขาได้อย่างไรบ้าง ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ให้เขาขับเคลื่อนทุกอย่างไปในทางที่สร้างสรรค์ 

ภิญโญ : คือคุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมา โห ขี้เกียจจะจำ น่าจะ 6 ปีได้ไหม ขึ้นปีที่ 7 ถ้าในช่วงเวลาที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คุณมีทุกปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อยู่ในมือของคุณหมดในช่วงปีแรก ๆ นึกออกไหม ที่คุณยังมี คสช.อยู่ มันมีปัจจัยอะไรที่คุณควบคุมไม่ได้ มันไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ระยะเวลาหลังในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่ผู้นำมีอำนาจสูงสุดขนาดนั้น

ถ้าคุณมีอำนาจสูงขนาดนี้แล้ว คุณยังไม่สามารถใช้อำนาจและองคาพยพของคุณทั้งหมด ไปปฏิรูปสังคมหรือเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ทุกคนพึงพอใจได้ คุณต้องตั้งคำถามถึงวิธีการที่ผ่านมา แพทเทิร์นเดิมที่คุณใช้ที่ผ่านมา มันถูกรึเปล่า ถ้าคุณทำได้สำเร็จจริงในช่วง 4 ปี ก่อนที่จะถึง 6 ปีที่ผ่านมา ม็อบทั้ง 3 ม็อบ เด็กประชาชนทั้งหมดไม่เกิดขึ้น ทุกคนจะพึงพอใจกับวิธีการเหล่านี้ เราจะอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข

คุณประยุทธ์จะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แต่นี่มันนานแล้วนะ นี่นานแล้ว คนก็รู้สึกว่า 4 ปีไม่สำเร็จ 6 ปีก็ไม่สำเร็จ ถ้าคุณจะยืนยันใช้วิธีการเดิม แล้วใช้แพทเทิร์นเดิม แต่อำนาจคุณไม่เหมือนเดิม ปัจจัยต่างๆ คุณเอาความมั่นใจจากไหนว่าจะสำเร็จ

คุณประยุทธ์ยืนอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญที่สุด คุณประยุทธ์จะเลือกเป็นที่จดจำแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ทางเลือกในอนาคตของคุณประยุทธ์เลือกเองเป็นได้ทุกอย่าง อยู่ที่การตัดสินใจเดินเกมต่อจากนี้ว่าจะเดินอย่างไร ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าคุณประยุทธ์ตัดสินใจอย่างไร  ซึ่งสำคัญมาก ไม่ได้สำคัญต่อตัวคุณประยุทธ์เอง แต่สำคัญต่อประเทศ ถ้าวิธีการเดิมใช้ไม่ได้ผล คุณประยุทธ์ต้องเริ่มฟังเด็กมากขึ้น ต้องเริ่มฟังผู้มีปัญญาอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวคุณประยุทธ์มากขึ้น ที่สำคัญต้องฟังสังคมมากขึ้นว่าเขาจะให้เดินไปทางไหน

ต้องฟังมหามนตรีรอบข้าง ต้องเคลื่อนไปทั้งหมด เพื่อให้รู้ว่าสังคมไปทางไหน เนี่ยเพียงแต่เงี่ยหูฟังทั้งหมดอย่างไม่อคติ ก็รู้ว่าสังคมต้องการอะไร แล้วถ้าข้อเสนอไหนมันไม่ได้เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ทำไมไม่ทำ เรื่องง่ายๆ ที่เด็กเสนอ มันทำได้โดยไม่มีต้นทุนเลยนะ รัฐบาลยังไม่ทำ กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ทำ

ผมถามง่ายๆ นะ เด็กเพียงเรียกร้องให้เลิกยุ่งกับทรงผมเด็กเสียทีมันมีต้นทุนอะไรที่จะไปประกาศเลิกยุ่งกับทรงผมเด็ก เด็กจะไว้สั้นไว้ยาวเรื่องของเด็ก ไม่ต้องมีประกาศกฎกระทรวงอะไรให้รกรุงรังอะไรอีกแล้ว

นับแต่นี้ไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 โรงเรียนทั้งประเทศไทยห้ามยุ่งกับทรงผมเด็ก ลงชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีต้นทุนกี่บาท กระดาษแผ่นเดียว แล้วเด็กจะเฮทั้งประเทศ เรื่องง่ายแค่นี้ทำไมนายกไม่ทำกระทรวงศึกษาไม่ทำ เสียเวลาเรื่องทรงผมมากี่ครั้งแล้ว แทนที่เด็กจะไปเขียนโคดดิ้ง ทำแอนนิเมชั่น ทำดนตรี จะด่านายกบ้างก็ได้ไม่เป็นไร มาเถียงเรื่องทรงผมกี่ปีแล้ว เรื่องง่ายที่สุด

เรื่องนี้ไม่มีต้นทุนเลยทำไมไม่ทำ 1 ก.ย.นี้จะเลิกยุ่งเรื่องทรงผมเด็ก จะไว้ทรงไหนก็ได้เรื่องของเด็ก จบ เด็กจะรู้ว่านายกคิดใหม่เป็น เริ่มปฏิรูปง่ายๆ เริ่มจากทรงผม ถ้าคุณไม่สามารถปฏิรูปเรื่องทรงผมเด็กได้ เรื่องใหญ่ๆ คุณทำไม่ได้

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ทรงผมในระบบการศึกษาไทย

"ถ้าคุณไม่สามารถปฏิรูปทรงผมนักเรียนได้ คุณทำเรื่องใหญ่กว่านั้นไม่ได้ เพราะนี่มันเรื่องง่ายที่สุด"."ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา" นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ Openbooks ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ประเด็นเรื่อง "ทรงผมในระบบการศึกษาไทย" .ติดตามทรรศนะ "ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา" เรื่องขบวนการนักศึกษา-จุดเปลี่ยนทางปัญญา และ อนาคตประชาธิปไตยไทย ทางเพจเฟซบุ๊ก "ประชาชาติธุรกิจ" เร็วๆ นี้

โพสต์โดย Prachachat – ประชาชาติ เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม 2020

 

ประชาชาติธุรกิจ : ทำไมหลายอย่างที่เราบอกมันง่าย แต่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯ ทำเหมือนว่ายาก และไม่เคยทำเลย มันเกิดจากอะไร 

ภิญโญ : เพราะนี่คือฟิกต์มายเซต (Fixed Mindset) การที่จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ต้องรื้อสภาพจิตใจที่อยู่ในกะลาที่กักขังไว้ ผิดกฎ อันนี้ผิดระเบียบ อันนี้ขัดแย้งกับประเพณีศีลธรรมอันดีงามทั้งหมด คือถ้ามีฟิกต์มายเซตอย่างนี้ เรื่องที่ง่ายที่สุดที่มันเป็นภูเขาอยู่ข้างหน้าเนี่ย แล้วใช้อะไร ฟังผมพูด เด็กบอก เออจริง ทำไม 1 ก.ย.ไม่ประกาศเลย ให้เลิกยุ่งกันทรงผมเด็กทั่วประเทศ ใช้ความกล้าหาญกับความครีเอทีฟ ความสร้างสรรค์หน่อย

แล้วมีอีกกี่เรื่องในประเทศที่ปฏิรูปโดยไม่ใช้กำลัง ไม่มีใครขัดแย้งกับคุณเลย การที่บอกเลิกยุ่งกับทรงผมเด็ก ใครเป็นผู้ขัดแย้งกับคุณไม่มีเลย เด็กทั้งประเทศดีใจหมด แล้วทำไมคุณไม่ทำ

ประชาชาติธุรกิจ : หากการเมืองดี ทุกอย่างจะดี อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คุณภิญโญบอกว่า การเมืองดี การสั่งการทุกอย่างไม่ต้องไปยึดติดแบบเดิม

ภิญโญ : การเมืองดีคือการเมืองที่เห็นหัวประชาชน ถ้าเมื่อไหร่เห็นหัวประชาชนคือแคร์ประชาชน นอกจากไม่ต้องไปยุ่งกับหัวนักเรียน หัวประชาชนเขาจะได้ไม่มายุ่งด้วย ทุกวันนี้คุณยังรักษาหัวคุณไว้ไม่ได้เลย คุณรักษาหัว ทรงผมคุณไว้ได้ไหม ตั้งแต่เรียนมา คุณยังรักษาไว้ไม่ได้

การเมืองดีทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้ กระบวนการยุติธรรมอยู่ในกระบวนการยุติธรรมจริง เราอยู่ในสังคมว่าถ้าเราไม่ได้ทำผิดเราไม่ต้องติดคุก คนทำผิดติดคุก แล้วถ้าเราไม่ได้ทำผิด เราติดคุก ถ้าคนทำผิดมันรวย มันลอยนวลแล้วจะอยู่กันอย่างไร ถ้าเรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิด เราจะสร้างสรรค์ได้ เราจะคิด เราจะสร้างสรรค์ผลงานและจะเติบโต

ถ้ากระบวนการยุติธรรม มันยุติธรรมจริง เราจะกล้าทำหลายต่อหลายอย่าง เราจะกล้าผลักสังคมไปข้างหน้าได้เศรษฐกิจจะถูกวางนโยบายอย่างยุติธรรม และเป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นธรรมกับคนที่ได้เปรียบตลอดเวลา เราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก เราปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าการเมืองไม่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลง เกลี่ยความยุติธรรมให้คนทั้งสังคมเท่ากัน เรียกว่าการเมืองดี ที่ไม่เห็นหัวเราเนี่ย แล้วจะเคลื่อนที่ไปยังไง

การเมืองดีมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าที่ว่าการเมืองดี มันคือการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบให้รู้สึกว่า เราเป็นประชาชนในประเทศ เราอยากมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้ ลูกหลานเราอยากเรียนหนังสือแล้วสร้างชีวิตอนาคตในประเทศนี้ ไม่ใช่ต้องมาเดินขบวนทุกวัน ไม่มีใครอยากออกไปหรอก มันร้อน มันเหนื่อย อันตราย นี่คือความหวังของเด็ก เขาอยากมีความหวัง มีอนาคต

คำถามคือเขาผิดตรงไหน เรียกร้องในสิ่งที่เขาควรจะได้ เขาไม่ควรออกมาเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ควรเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มอบให้เขาตั้งแต่ต้นทางด้วยซ้ำไป

ประชาชาติธุรกิจ :จะทำอย่างไรให้เกิดความลงตัวโดยไม่แตกหัก 

ภิญโญ : ระหว่างเส้นทางมีอุปสรรคและมีอันตรายเข้ามาตลอด ไคร์ซิสในทุกวิกฤตใช่ไหม มีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา ปัจจัยที่เราควบคุมได้ เราควรใส่ปัจจัยบวกเข้าไป เพื่อไม่ให้ไดเร็กชั่นระหว่างเส้นทางไปสู่หายนะ

ทุกวันนี้นักเขียน นักวิชาการทุกคน มองเห็นอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย หรือคุณทำแบบเดิมทั้งหมด ใส่ปัจจัยลบเข้าไป มันไปสู่ความรุนแรง ทุกคนก็เห็น ไม่มีใครโง่ ใครฉลาดกว่ากัน คำถามคือคุณจะใจดำอำมหิตปล่อยให้สังคมทั้งสังคมเดินไปสู่จุดนี้หรือ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ

ตอนวิกฤตปี 35 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรียกคุณสุจินดากับคุณจำลอง ศรีเมือง เข้าไป แล้วบอกว่ามันมีประโยชน์อะไร ที่คุณจะชนะภายใต้ซากปรักหักพังของบ้านเมือง พระบรมราโชวาทน่าจะอยู่ในใจคนไทยทุกคน และน่าจะบอกว่ามันมีประโยชน์อะไรที่ว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ แล้วบ้านเมืองเป็นซากปรักหักพังลงไป

ระหว่างเส้นทางสู่หายนะ คุณสามารถใส่ปัจจัยบวกเข้าไป ดึงมันกลับมาไปสู่ไดเร็กต์ชั่นที่ประเทศควรจะเป็น คุณต้องละวางผลประโยชน์ส่วนตัวก่อน โอเคชัยชนะของฝ่ายคุณ คุณอาจจะได้ผลประโยชน์ระยะสั้น แต่ถ้าประเทศพังทลายไปหมด ลูกหลานมันพังทลายไปหมดล่ะ ลูกคุณนะที่อยู่ในม็อบเนี่ย และประเทศพังทลายไปหมด ลูกหลานคุณพังทลายไปหมด คุณจะอาศัยอยู่ในประเทศที่พังทลายไปหมดได้ยังไง

แม้ว่าคุณจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจ คุณอยู่ในอยุธยาในวันที่มันล่มสลายได้ยังไง ต่อให้คุณเป็นขุนนางทั้งหมดของอยุธยา วันนี้คุณไปอยู่ในซากปรักหักพังอยุธยา คุณอยู่ได้เหรอ แล้วคุณจะเสียเวลามาสร้างธนบุรี รัตนโกสินทร์ใหม่ทำไม ในเมื่อคุณมีอยุธยาของคุณอยู่ คุณจะปล่อยให้มันล่มทำไม ทำไมคุณไม่ใส่ปัจจัยบวกแล้วช่วยรักษาความรุ่งเรืองของรัตนโกสินทร์ให้มันเป็นวงรอบอยู่ต่อไปได้

เราทั้งหมดนั่นแหละ คือปัจจัยที่จะไม่ดึงให้เส้นทางสู่หายนะ เราดึงกลับมาสู่เส้นทางที่ดีได้ แล้วทุกคนมีสติคุณสมบัติของความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องให้สติเด็ก และผู้ใหญ่ต้องมีเมตตาต่อเด็ก แล้วอดทนกับเด็กให้เพียงพอ กลับไปที่คุณอานันท์ ผู้ใหญ่ต้องฟังเด็ก คุณประยุทธ์ต้องฟังเด็กมากขึ้น อย่าคิดว่าเด็กเป็นศัตรู ส่วนเด็กต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ต้องใช้เวลา เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงว่ามันไม่ทันทีและไม่ทันใจหรอก มันอาจจะไม่จบในรุ่นเรา ไม่เป็นไร

ประชาชาติธุรกิจ : คุณภิญโญ มีความหวังใช่หรือไม่ 

ภิญโญ : มี ผมมีความหวังเสมอ ที่ออกมาคุณก็มีความหวัง และหวังว่าทุกคนจะมีความหวัง เพื่อให้สังคมเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จบในรุ่นเรา หมายถึงรุ่นผมนะ อาจจะจบในรุ่นเด็ก ไม่เป็นไร แต่ทุกคนต้องค่อยๆ เคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วรู้สึกว่า 1.เราต้องหาว่าทิศทางที่ถูกต้องคืออะไรก่อน มันไม่ใช่การกระทำอย่างเดียว เราต้องหาว่าอะไรคือทิศทางที่ถูกต้อง ถ้าเราเซตทิศทางที่ถูกต้อง เราจะไม่หลงทาง จะขึ้นรถไฟต้องถามว่าไปไหน ถ้าจะไปเชียงใหม่คุณต้องขึ้นสายเหนือ คุณลงสายใต้ คุณวิ่งเร็วแค่ไหนคุณก็ไม่ถึงเชียงใหม่

คำถามคือ เรากำลังจะเอารถไฟขบวนนี้วิ่งไปที่ไหน รถไฟรัตนโกสินทร์วิ่งไปที่ไหน ถ้าเราจะวิ่งไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของวงรอบใหม่ของรัตนโกสินทร์ เราต้องเลือกขบวนที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณเลือกขบวนผิด คุณจะไปสู่ความรุนแรง และผมไม่รู้ว่า รถไฟขบวนนี้จะวิ่งไปตกเหวที่ไหน เราต้องเริ่มต้นจากการเซตทิศทาง ต้องรู้ว่าเราจะเอารถไฟขบวนนี้วิ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องนะ แล้วประเทศทั้งประเทศจะเคลื่อนไป

ส่วนในขบวนจะมีเด็กอยู่โบกี้ไหน ผู้ใหญ่อยู่โบกี้ไหน อนุรักษ์นิยมอยู่โบกี้ไหน ลิเบอรัลอยู่โบกี้ไหน มันต้องอยู่ร่วมกันทั้งหมด อยู่กันให้ได้ แต่คุณต้องเอารถไฟขบวนนี้ให้รอดก่อน ถ้ามันตกไปทั้งขบวนไม่มีใครปลอดภัยในขบวนนี้

ชมคลิป