“โจ้” ถาม “ประยุทธ์-บิ๊กช้าง” ตอบ ปมเรือดำน้ำ “จีทูจีเก๊”

นายกฯ ถอยสุดซอย ชะลอซื้อเรือดำน้ำจีน เร่งกองทัพเรือแจง กมธ.

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. พรรคเพื่อไทย จี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตอบกรณี “เรือดำน้ำ” เป็นการซื้อ-ขาย แบบ “จีทูจีเก๊” หรือไม่   

วันที่ 9 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 28 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางการเมืองโดยไม่มีการลงมติ

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนมีเรื่องจะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อเป็นข้อซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 2 เรื่อง

เรื่องที่ 1 การไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง การจัดระบบภาษีไม่เกิดความเป็นธรรมของสังคม ไม่มีความสมดุล ไม่คำนึงถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลยังมีความเปราะบาง อาทิ การก่อหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของงบประมาณที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการกู้เงินเพื่อเยียวยาจาก โควิด-19 เป็นผลให้หนี้สาธารณะที่คาดว่า ณ สิ้นปีจะสูงขึ้นถึง 58 % หรือ สูงขึ้นเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามประมาณการ และ เรื่องที่ 2 การใช้อำนาจของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เรื่องแรก ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง และจัดระบบภาษี ทำให้สถานะของรัฐบาลเปราะบาง เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของมีนัยสำคัญ นายกฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจของรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม มาตรา 62 รัฐต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สถานะทางการเงินการคลังยั่งยืน และการเก็บภาษีที่เป็นธรรม

มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและเป็นธรรม มาตรา 164 ครม.ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื้อสัตย์และรอบคอบเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้ง 4 เรื่อง หากนายกฯ และครม.ปฏิบัติตามก็จะไม่เกิดปัญหาเหมือนวันนี้

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า ทำให้เกิดเป็นปัญหา 2 เรื่อง 1.การใช้อำนาจของรัฐไม่อยู่ในหลักนิติธรรม คือ การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ฉบับที่ 3/2562 ออกเมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสให้กับบริษัทหนึ่ง

“เป็นการออกมาตรา 44 เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขสัญญาเป็นสัญญาเดียว และขยายสัมปทานโครงการฯ เป็น 40 ปี ผิดหลักนิติธรรมเพื่อสภาผู้แทนฯ เคยมีมติไม่ให้ขยาย แต่รอให้สัมปทานหมดก่อน และครม.แจ้งมายังสภาให้ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง คือ การเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ จึงมีความพยายามให้ต่อขยายสัมปทานให้ได้”

นายยุทธพงศ์อภิปรายว่า เรื่องนี้ทำให้เสียรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 2 คน คือ นายอุตตม สาวนายน ลาออกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ซึ่งวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ก่อนลาออกนายอุตตมมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้ถอนสัญญาต่อขยายโครงการฯ ออกไปก่อน เพราะเห็นว่าไม่โปร่งใส

ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการรมว.คลัง ส่งเรื่องถึงเลขาฯ ครม. เรื่องต่อขยายฯ 40 ปี เสนอเรื่องเข้าไปในครม.แต่ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม นายปรีดี ประชุมครม. ครั้งแรกก็ตกใจและกลัวว่าจะผิดกฎหมายจึงถอนเรื่องออกมา เพราะท่านเป็นนักกฎหมาย และมีคนไปบีบท่านเพื่อเร่งให้เข้าครม. เป็นเหตุผลให้นายปรีดีลาออก ซึ่งรมช.คลังถึงไม่มีความรอบคอบ ไม่ระมัดระวัง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ท่านเซ็นเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้อย่างไร

“ผมขอถามนายกฯ 1.กระทรวงการคลังและอัยการสูงสุดยังไม่ทบทวนเพิ่มเติมถึงข้อเทคนิคและผลประโยชน์ต่อสัญญาสัมปทานฯ โดยไม่เปิดประมูล ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ ท่านยังคงนำร่างสัญญาฯ เดินหน้าต่อไปหรือไม่ 2.ประเด็นทางเทคนิคและรายได้ของรัฐให้อัยการสูงสุดตรวจสอบหรือยัง และ 3.ท่านใช้อำนาจ คสช. ช่วยให้บีทีเอสได้ประโยชน์โดยไม่ประมูล ท่านลุแก่อำนาจหรือไม่ และไม่บริหารประเทศด้วยหลักยุติธรรม”

นายยุทธพงศ์อภิปรายว่า ส่วนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่เป็นไปตามรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ผิดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม การซื้อขายครั้งนี้เป็นการซื้อขายแบบจีทูจี การโอนเงินไม่ใช่ระหว่างรัฐบาลไทย กองทัพเรือโอนไปให้บริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้โอนเงินให้รัฐบาลจีน หรือ กระทรวงกลาโหมของจีน เป็นจีทูจีเก๊ เพราะเหตุใดท่านจึงปล่อยปละละเลยให้กองทัพเรือลงนามบริษัทของจีนแทนที่จะเป็นรัฐบาลจีน รวมถึงการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า

“บิ๊กช้าง” แจงยิม ปม จีทูจีเก๊

ด้านพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลุกขึ้นตอบ ว่า การจัดหาเรือดำน้ำลำระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์สัญญาแบบจีทูจี โดยมติ ครม. 13 มกราคม 2530 ให้กระทรวงกลาโหมจัดหายุทโธปกรณ์จากมิตรประเทศได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และให้ใช้ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นด้วยความเห็นระหว่างกันแทนการทำสัญญาได้ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกระบวนการด้านกฎหมายทุกขั้นตอน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ อัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ

 

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ที่มีข้อสงสัยว่าหากเป็นการดำเนินการแบบจีทูจี เหตุใดไม่นำร่างสัญญาข้อตกลงให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่มีหนังสือมอบอำนาจเต็ม หรือ FULL POWER เพราะการร่างข้อตกลงนั้น กระทรวงต่างประเทศ ได้ให้ข้อพิจารณาว่า ข้อตกลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายไทย จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

แต่เป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ (สัญญาซื้อขาย) ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งอยู่ในช่วงที่ลงนามในสัญญานั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 178 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งเหมือนมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า เป็นร่างข้อตกลง เป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“ดังนั้นจึงไม่ต้องขอความเห็นชอบต่อสภาก่อนและไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม และผู้มีอำนาจลงนามของหน่วยงานนั้น หรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายสามารถลงนามได้เอง ตามมติครม.เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2556 สรุปคือกองทัพเรือมีอำนาจลงนามในสัญญาเองได้ โดยไม่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจเต็ม เนื่องจากไม่เป็นสนธิสัญญาณ และไม่เกิดพันธะสัญญาระหว่างประเทศ”

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า คำถามว่า ทำไมผู้ลงนามฝ่ายไทยจึงเป็นเสนาธิการทหารเรือ ส่วนจีนเป็นผู้แทนบริษัทซีเอสโอซี และทำไมถึงจ่ายงานให้กับบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน นั้น มติครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 อนุมัติให้ ผบ.ทร. หรือ ผู้แทน เป็นผู้ลงนามในข้อตกลง ซึ่ง ผบ.ทร.ได้มอบอำนาจให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร ขณะนั้นเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงแทน ขณะที่ฝ่ายจีนได้มอบอำนาจให้ SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นต่อรัฐบาลจีน และได้มอบอำนาจให้บริษัท CSOC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งรัฐบาลจีนถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์

พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่า ส่วนทำไมจ่ายเงินให้เอกชน หรือ CSOC เนื่องจาก SASTIND ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นต่อรัฐบาลจีน และได้มอบอำนาจให้บริษัท CSOC จึงได้โอนเงินตามงวดให้บริษัท CSOC

พล.อ.ชัยชาญ อภิปรายปิดท้ายว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ทำไมรัฐบาลต้องการให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน เป็น 0 และต้องการควบคุมเป็นอย่างอื่นหรือไม่นั้น ไม่ได้มี พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อการเมือง แต่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วยอย่างเต็มความสามารถ