เปิดสมการชิง “นายกฯ คนนอก” รัฐธรรมนูญเปิดช่อง 6 แคนดิเดตในสภา

การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรคฝ่ายค้าน โดยไม่มีการลงมติผ่านพ้นไป “เรียกน้ำย่อย” ก่อนการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563

ข้อเสนอเดียวของพรรคฝ่ายค้าน คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี “ต้องออกไป”

คู่ขนานไปกับการเสนอ “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ” ของคนนอกสภา-อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้เคยสร้าง “วีรกรรมประชาธิปไตย” หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 เสนอชื่อ “อานันท์ ปันยารชุน” นั่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 “เปิดช่อง” ให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” และ “นายกรัฐมนตรีคนใน” ไว้ “2 ทาง”

ทางแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องให้ “ยกเว้น” การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง กรณีไม่สามารถรวมเสียงได้ “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ 367 เสียง จาก 738 เสียง

โดยใช้เสียง “2 ใน 3” หรือ 492 เสียง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง เพื่อสถาปนานายกรัฐมนตรีคนนอกได้

ทางที่สอง รัฐธรรมนูญมาตรา 159 นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง โดยใช้เสียง “เกินกึ่งหนึ่ง” หรือ 245 เสียงของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 488 เสียง

“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้า (ส.ส. 25 คนขึ้นไป)”

สำหรับ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป มีทั้งหมด 6 คนไม่นับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว

ดังนี้ 1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ 3.นายชัยเกษมนิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย (134 เสียง) 4.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคพลังประชารัฐ (120 เสียง) 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย (61 เสียง) 6.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ (52 เสียง)

ปัจจุบัน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ในสภาทั้งหมด 488 คน แบ่งออกเป็น พรรครัฐบาล19 พรรค 276 เสียง คือ พลังประชารัฐ 120 เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียงพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง (ไม่นับเสียงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

พรรคจิ๋ว 10 เสียง 10 พรรค ได้แก่ 1.พลังชาติไทย 2.ประชาภิวัฒน์ 3.พลังไทยรักไทย 4.ครูไทยเพื่อประชาชน 5.พลเมืองไทย 6.ประชาธิปไตยใหม่ 7.พลังธรรมใหม่ 8.ไทยศรีวิไลย์ 9.ประชาธรรมไทย และ 10.ไทรักธรรม

พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค 212 เสียง คือ เพื่อไทย 134 เสียง ก้าวไกล 54 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียงเพื่อชาติ 5 เสียง พลังปวงชนไทย 1 เสียง และ 1 เสียงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

เป็นเรื่องไม่ง่ายที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะตัดสินใจลาออก ตามเกมของพรรคฝ่ายค้าน-ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” เพราะสถานการณ์ยัง “ไม่สุกงอม”

หนำซ้ำ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังถีบ-ถอย จับ-ปล่อยแกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก และ “ชิงลงมือ” ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563

หัวใจสำคัญ คือ เพื่อเป็นผนังทองแดง-กำแพงเหล็ก ให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นด่านสุดท้ายที่จะ “อยู่ต่อ” หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อ “ปลดล็อก” ส.ว. 84 เสียง ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

แม้กระทั่ง หากมีการยกเลิกมาตรา 272 เพื่อ “ปิดสวิตช์” ส.ว. 250 คนตัดอำนาจเลือกนายกฯ ที่พล.อ.ประยุทธ์ส่ง เพื่อนพ้อง-น้องพี่ มานั่งอยู่ใน ส.ว.

โดยพรรคฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตัด-ลดเสียงของ ส.ว.ในการโหวตรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 กันยายน 2563 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

เกมรุก-ไล่ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้พ้นกระดานอำนาจยังอีกหลายยก