ศบศ.ทุ่ม 5.1 หมื่นล้าน เพิ่มกำลังซื้อคนตัวเล็ก ไฟเขียว “ไพรินทร์” ลุยเมกะโปรเจ็กต์

นายกรัฐมนตรี

ศบศ. ทุ่ม 5.1 หมื่นล้าน เพิ่มกำลังซื้อคนตัวเล็ก ไฟเขียว ไพรินทร์ ช็อตเศรษฐกิจ ลุยโครงการเมกะโปรเจ็กต์-แลนด์บริดจ์-สะพานไทย ท็อปอัพบัตรคนจน 1.5 พันบาท – โครงการคนละครึ่ง 10 ล้านคน อัพเดทแพ็กเกจเยียวยาโควิด 3 เฟส 7.8 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 3/2563 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 และมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดเพิ่มเติม

โดยมี สาระสําคัญ ดังนี้ (1) การให้ STV แก่คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ (1.1) เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพํานักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย (1.2) ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย โดยตกลงยินยอมตามข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน อาทิ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และต้องทําประกันสุขภาพตามข้อกําหนด และปฏิบัติตามกระบวนการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุขภายหลังเดินทางถึงประเทศไทย โดยต้องยินยอมให้มีการกักตัวในห้องพักจํานวน 14 วัน (ASQ/ ALSQ) และ (1.3) มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย (Long Stay) โดยบุคคลต่างด้าวจะต้องผ่านการดําเนินการตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกําหนด เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน

(2) ข้อกําหนดภายหลังจากที่บุคคลต่างด้าวอยู่ครบกําหนด 14 วัน ตามที่อนุญาตแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอํานาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน โดยคนต่างด้าวต้องยื่นคําขอตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กําหนด และ (3) มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ STV ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ประชุมศบศ.

ท็อปอัพบัตรคนจน 1.5 พันบาท – โครงการคนละครึ่ง 10 ล้านคน

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องสําคัญ ดังต่อไปนี้ 2.1 เห็นชอบมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มกําลังซื้อให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและประชาชนทั่วไป ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มกําลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จําเป็น จํานวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จํานวน 14 ล้านคน

และ (2) โครงการคนละครึ่ง ภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์โดยอาศัยวิธีการร่วมจ่าย (Co-pay) ร้อยละ 50 ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยในสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป (ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ) โดยกําหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ลงทะเบียนและมีบัตรประจําตัวประชาชน มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 10 ล้านคน โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเวปไซต์ www.คนละครึ่ง.com

นายอนุชากล่าวว่า สําหรับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ใช่ร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจเฟรนไชส์ มีกลุ่มเป้าหมายร้านค้าจํานวนประมาณ 100,000 โดยร้านค้าสามารถลงทะเบียนผ่านเวปไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือแจ้งผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดําเนินโครงการให้มีการใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ประชุมศบศ

เข็นเมกะโปรเจกต์-แลนด์บริดจ์-สะพานไทย

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานดําเนินการผลักดันขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงานของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญให้สามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายโครงการที่ตั้งไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว ใน 4 กลุ่ม โครงการ

ได้แก่ (1) การเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย (1.1) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่ต้องการการผลักดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา EIA การทบทวนแบบรายละเอียดและเร่งการพิจารณาโครงการฯ (1.2) โครงการระบบขนส่งมวลชน ที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องการเร่งจัดทํารายงาน PPP เร่งศึกษาทบทวนการออกแบบ จัดทํารายงาน EIA การใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ แหล่งเงินลงทุนโครงการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของภาคเอกชน

(1.3) โครงการทางพิเศษ ที่ต้องการเร่งรัดกระบวนการเตรียมความพร้อมโครงการ การอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน เร่งเจรจาการลงทุนโครงข่าย Missing Link รวมถึงการเร่งเตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถลงทุนก่อสร้างได้ตามแผน (1.4) โครงการพัฒนาท่าเรือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการเตรียมความพร้อมโครงการ และเร่งรัดกระบวนการเจรจาและประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการร่วมลงทุน

(1.5) การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทํามาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ อาทิ การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในการลงทุน และการกําหนดเงื่อนไขการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ

(1.6) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดําเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

และ (1.7) โครงการศูนย์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดําเนินโครงการตามรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการเตรียมความพร้อมโครงการ และเสนอต่อคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (2) การปรับปรุงโครงสร้างหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ (1) การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและสํานักงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

(2) การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์ (3) การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบริหารรถไฟ ความเร็วสูง และ (4) การประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทําใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟ และการจัดทําทะเบียนรถขนส่งทางราง

(3) การเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายลงทุนและการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563-2564 อาทิ การปรับปรุงบริหารเงินกองทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงแผนการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจ และ (4) การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการสะพานไทย (ชลบุรี-เพชรบุรี)

ประชุมศบศ.

อัพเดทแพ็กเกจเยียวยาโควิด 3 เฟส 7.8 แสนล้าน

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระยะที่ 1 – 3 และการดําเนินโครงการภายใต้พระราชกําหนดฯ ของรัฐบาล ประกอบด้วย(1) มาตรการระยะที่ 1 มีผลการดําเนินมาตรการทั้งสิ้น 201,474 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.9 ของกรอบวงเงิน รวม (2) มาตรการระยะที่ 2 มีผลการดําเนินมาตรการทั้งสิ้น 89,562 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.1 ของกรอบวงเงินรวม และ (3)

มาตรการระยะที่ 3 ประกอบด้วย (3.1) พระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีการอนุมัติโครงการรวม 238 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 395,685 ล้านบาท และ(3.2) พระราชกําหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มีสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 115,520 ล้านบาท เป็นจํานวนผู้ได้รับสินเชื่อ 69,086 ราย ส่งผลให้มีผลการดําเนินมาตรการระยะที่ 3 503,903 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของกรอบวงเงินรวม

ทั้งนี้ เมื่อรวมผลของการดําเนินมาตรการทั้ง 3 ระยะ คิดเป็นเม็ดเงินรวม 780,366 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.0 ของกรอบวงเงินรวม

หยุดยาวสงกรานต์เงินสะพัด 1.2 หมื่นล้าน

นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 4 – 7 กันยายน 2563 โดยพบว่าการท่องเที่ยวของคนไทยเริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดี โดยมีจํานวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.10 ล้านคน-ครั้ง และอัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 41 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชาชนทยอยออกมาใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันและท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ทําให้มีการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,421 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์แม้ว่าจะยังต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ

โดยนักท่องเที่ยวยังคงเลือกเดินทางอยู่ในพื้นที่ระยะใกล้ โดยมีภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม และส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองหลัก ได้แก่ ชลบุรี กาญจนบุรี กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ระยอง เชียงใหม่ และสระบุรี

ขณะที่พื้นที่เมืองรองที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาอย่างนครศรีธรรมราชยังคงได้รับความนิยมในช่วงวันหยุดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สําหรับแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็น Low Season ของพื้นที่และยังเป็นช่วงฤดูฝน