ปฏิวัติ 19 กันยา 49 จุดเริ่มต้นหายนะ ยึดอำนาจครั้งใหม่ “ยึดง่าย” แต่ “อยู่ยาก”

นักวิชาการ ชี้ 19 กันยา 49 จุดเริ่มต้นหายนะของการเมืองไทย มอง 3 ข้อเรียกร้องขบวนการนักศึกษาคือประตูบานแรกอนาคตที่ดีกว่า

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย โดยมี ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิต ชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากร

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า การรัฐประหาร 2549 ถูกอธิบายว่ากลับไปสู่วันเด็กแห่งชาติ แต่สถานการณ์ในวันนี้ถ้าหากมีการรัฐประหารในวันพรุ่งนี้ ไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้ต้องการวันเด็กแห่งชาติหรือเปล่า บทเรียนจากการรัฐประหาร 19 กันยายน การคาดคิดว่าจะเกิดการรัฐประหารในครั้งนั้นไม่ง่ายถ้าเทียบกับปัจจุบัน

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แต่ถ้าถามว่าการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะประเทศสั่นคลอนมาตั้งแต่วันนั้น ความขัดแย้งเกิดมาตลอดจนถึงความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำดำเนินต่อเนื่องมา และการรัฐประหารในรอบนั้นอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจดี ซึ่งการรัฐประหารหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ข้ออ้างในการความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาลจึงไม่ใช่

จากนั้นมาพูดถึงการต้านโกง กำเนิดการเมืองคนดีจึงชัดเจนขึ้นมาก มีการออกบัตรเชิญมวลชน เกิดมวลชนขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองกับมวลชนขนาดใหญ่ กับมวลชนที่มาจากการเลือกตั้ง เสียงข้างมากจึงใช้ไม่ได้กับการเมืองจริงๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกลุ่ม การรัฐประหารครั้งนั้นจึงเป็นต้นแบบการรัฐประหาร 2557 นอกจากนี้ยังมีปัญญาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารออกมาแสดงความชอบธรรม อย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างไม่น่าเชื่อ

“การรัฐประหารรอบนั้น ต้องชมเชยความสำคัญคือเขาไม่ได้ปราบปรามนักศึกษา และจำกัดพื้นที่ให้นักศึกษาชุมนุมประท้วงได้ และไม่มีการจัดการนักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัย ทำรัฐประหารรอบนั้นไม่ได้เป็นเผด็จการมีเป้าหมายชัดเจนว่าเลือกตั้งใน 1 ปี ไม่ใช่อยู่ยาว ในทางกลับกันหลังจากการรัฐประหาร 2549 เริ่มมีสถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 2490 เพราะการรัฐประหารครั้งนั้นไม่ได้เด็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยกำลังทหาร แต่มีคำพิพากษาหลังจากนั้นในหลายปี ที่ให้คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์”

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการสู้กันของสองพลังในการเมืองไทย ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม การขับเคลื่อนของสองพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมิติต่างๆ หลังรัฐประหาร 2549 ไม่ได้พูดถึงรุ่นไหนคุมกำลัง จปร.5 หรือ จปร.7 อีกต่อไป แต่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่อุ้มกองทัพ

อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร 49 คือจุดเริ่มต้นของความหายนะของสังคมการเมืองไทย เพราะทิ้งปัญหา คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับของกลุ่มอนุรักษ์นิยม หลังไทยรักไทยเกิด มากับนโยบายใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองชนะด้วยเสียงข้างมากในสภา จึงเกิดการรัฐประหาร 2549 เป็นชัยชนะปีกอนุรักษ์นิยม แต่เป็นชัยชนะในความพ่ายแพ้ที่กลุ่มอนุรักษ์ไม่สามารถสู้กับเกมการเมืองในระบบรัฐสภาได้

“ถ้าพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมชนะในการเลือกตั้งปี 2544 การรัฐประหาร 2549 จะไม่เกิด การเมืองไทยสู้ด้วยพลังใหม่กับพลังเก่า และสู่ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันแต่ละช่วงเวลา รัฐประหาร 2549 เหมือนไม่สะเด็ดน้ำ เพราะปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะด้วยเสียงข้างมาก และรู้สึกว่ารัฐประหาร 2549 เสียของ จึงต้องตามด้วยการเกิด กปปส.และการปฏิวัติ 2557” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เราเริ่มเห็นวันนี้ เราเริ่มเห็นม็อบขาสั้น คอซอง เป็นม็อบของเยาชน และม็อบขายาวกระโปรงบาน นิสิต นักศึกษา เราเห็นนักเรียนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวคือ 14 ตุลาคม 2516 กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย เกิดในบริบทที่การเมืองไทยกำลังถูกท้าทายใหม่ ด้านหนึ่งคือการระบาดของโควิด -19 ซึ่งช่วยให้รัฐบาลอยู่ต่อ แต่ก็เป็นทุกขลาภของรัฐบาล เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ และคนตกงาน ถ้ายึดอำนาจก็ต้องมาเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัจจัยเหล่านี้

ดังนั้น ในอนาคตจะจำกัดบทบาททหารจะทำแค่ไหน ความยากไม่ได้อยู่ที่การยึด อยู่ที่หลังยึดว่าจะอยู่ได้อย่างไร ในอนาคตเราเห็นความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่ง โลกและการเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนและภูมิทัศน์การเมืองไทยที่กำลังเปลี่ยน เราเริ่มเห็นการเติบโตคนรุ่นใหม่ทางความคิด ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ใช่ความคิดสถาบันทหาร แต่สถาบันรัฐสภาก็ต้องคิด ส่วนหนึ่งของคนรุ่นเก่า สู้ด้วยอายุไขของคน โลกคนรุ่นเก่าถอยทุกเวทีทั่วโลก การถดถอยของระบอบเก่าเราเห็นได้อย่างต่อเนื่องรัฐประหารไม่ใช่ชัยชนะ ต้องมองในมุมกลับ ถ้าฝ่ายเก่าคุมได้รัฐประหารไม่มีความจำเป็น

“ตกลงอนาคตเขาอยู่ตรงไหน ใหญ่พอๆ กับฝ่ายประชาธิปไตย คนต้องมีโอกาสกำหนดชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงแน่นอนเราไม่มีทางตอบ เราเริ่มเห็นพลังคนรุ่นใหม่และความเปลี่ยนแปลงกำลังมา ถ้าเด็กรุ่นหน้ากระทรวงศึกษา พวกเขาจะทำอะไรต่อ พวกเขาเริ่มสู้ วันหนึ่งพวกเขาเป็นนักเรียน นักศึกษา และนักการเมืองปีกประชาธิปไตย เราเห็นเส้นทางคนรุ่นใหม่ไม่ต่างกัน เราแทบไม่เห็นการเมืองลงถึงระดับนักเรียน ในสภาวะอย่างนี้ไม่ใช่แค่อายุแต่หมายถึงอายุที่มากับโลกยุคใหม่ มองจากเจนของคนรุ่นใหม่ เรายังอยู่ในโลกที่ท้าทายที่สุดในสังคมไทย ช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด แม้ไม่มีคำตอบเราโชคดีที่จะเป็นพยานของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในบ้านเราเอง” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

ศ.ดร.สรุชาติ ยังเสนอว่า ขณะนี้ต้องตัดสินใจร่วมกันถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่ขวาจัด ต้องคิดด้วยเหตุด้วยผลเข้าร่วมด้วยกัน ถึงเวลาแล้วที่พวกเราในสังคมไทยต้องผลักดันกระบวนประชาธิปไตยใหม่ โดยหวังว่าเป็นโอกาสสร้างการเมืองใหม่ ต้องการปฏิรูป 4 อย่าง ทหาร ตำรวจ สถาบันยุติธรรม และปฏิรูปองค์กรอิสระ ข้อเรียกร้องแนวร่วมปลดแอกนั่นคือบานประตูแรกที่เปิดออก ต้องแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะไปอย่างไรไม่ใช่คำตอบ ต้องคิดอนาคตสังคมไทย ต้องออกแบบการเมืองเอื้อที่เราอยู่ด้วยกันและมีอนาคตที่ดีกว่า และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกรณีโควิด-19 เป็นคำตอบแล้วว่าการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวไม่ใช่คำตอบ

ญาณิศา วรารักษพงศ์
ญาณิศา วรารักษพงศ์

น.ส.ญาณิศา กล่าวว่า รัฐประหารเป็นเหมือนอาการของโรคร้ายแรงเรื้อรังโรคหนึ่งที่มีมานาน แต่อาการนี้เกิดขึ้นจนเราชินชา จนเรารู้สึกว่าเป็นปกติ และโรคร้ายแรงที่เราว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ จนมาถึงจุดๆ หนึ่งที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทำให้เราได้ยินเสียงจากด้านนอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาไม่ใช่สิ่งปกติ และไม่ได้มาจากการเรียนการสอน ได้มาจากนอกบทเรียน อาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้เราได้เอะใจและหันมามอง ค่อยๆ กระตุ้นเรามาเรื่อย จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวในปัจจุบันทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับมัธยม


“เยาวชนยุคนี้อาจไม่ทันรัฐประหาร 49 หรือ 57 แต่เรามองย้อนกลับไปและมองจากข้างนอก ไม่ได้มองด้วยกรอบๆ เดิม ดังนั้น โรครัฐประหารจึงเป็นจุดที่เราค่อยๆ รักษาอาการเหล่านี้จนถึงจุดต้นกำเนิด คือโรคร้ายแห่งความไม่เป็นประชาธิปไตย และโรคแห่งความไม่เท่าเทียมกัน ขบวนการนักศึกษาในช่วงนี้ เราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่เราต้องการจะเปลี่ยนเกม หากเรารักษาโรคไปเรื่อยๆ ก็ไม่หายต้องพุ่งไปที่ต้นตอที่ใหญ่กว่า เช่น 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเกม” น.ส.ญาณิศา กล่าว