ปัจจัยเสี่ยงเกมแก้ รธน. ‘แท้งก่อนคลอด’ ฝ่ายค้านเสียขบวน-พรรคลุงกำนันแตกแถว

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อนแรงไม่แพ้ม็อบปลดแอกนอกสภาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าไปสุมในรัฐสภาแล้วขณะนี้ มีทั้งของฝ่ายค้าน-รัฐบาล คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ประกอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ฉบับร่างฝ่ายรัฐบาลและร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ฉบับร่างของฝ่ายค้าน

ทั้ง 2 ร่างพุ่งเป้าไปที่แก้ไขมาตรา 256ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ต่างกันตรงที่รูปแบบของ ส.ส.ร.

ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังกองอยู่หน้าประตูสภา ยังไม่บรรจุเป็น “ระเบียบวาระ” มีอยู่ 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกของพรรคฝ่ายค้าน ที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแยกยื่นเป็น 4 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ปิดสวิตช์ ส.ว. หักอำนาจการโหวตนายกฯ 5 ปี 2.ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองคำสั่ง คสช. 3.แก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 4.มาตรา 270-271 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูป

อีกกลุ่มเป็นของเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยไอลอว์ ที่หอบ 7 หมื่นรายชื่อ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา เมื่อ 16 กันยายน ตัดทิ้งมาตราที่เป็นปัญหา อาทิ ยกเลิกการให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอก ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งยกเลิกการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารไม่ต้องรับผิด

โดยที่รัฐสภานัดถกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 กันยายนนี้

แม้เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกโหมไฟมาจากนอกสภา เพราะเป็นเงื่อนไข การเคลื่อนขบวนของม็อบประชาชนปลดแอก

แต่บรรยากาศในรัฐสภา ทั้งฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายวุฒิสภา ต่างชิงเหลี่ยม ชิงจังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างดุเดือด มีหลายปัจจัยที่จะกลายเป็นชนวนอุบัติเหตุ “แท้งก่อนคลอด”

หนึ่ง ปัจจัยฝ่าย ส.ว. ที่ค้านหัวชนฝา แม้ว่ามี ส.ว.บางส่วนขานรับกับกระแสปิดสวิตช์ ส.ว. “ยอมหั่น” อำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกผ่านการเปิดหน้าของ ส.ว.ระดับตัวขับเคลื่อนเกมหลายคน ทั้ง คำนูณ สิทธิสมาน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช วันชัย สอนศิริ ขณะที่ ส.ว.กลุ่มใหญ่ยังคอยดูจังหวะการคอนโทรลเกมของผู้มีอำนาจในรัฐบาล

แต่จู่ ๆ ฝ่ายค้านเพื่อไทยก็ดันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ นอกจากพุ่งเป้าปิดสวิตช์ ส.ว.แล้ว ยังก้าวหน้าไปถึงกับการปิดสวิตช์มรดก คสช. ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร

ดังนั้น เมื่อ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล ถูกตั้งโดย คสช. เพื่อรักษามรดกการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เสียงที่เคยหนุน กลับกลายเป็นเสียงต้าน จึงปรากฏข่าวว่า ส.ว.จะคว่ำทั้ง 4 ญัตติ ของฝ่ายค้าน ไม่ยอมให้ผุดให้เกิด

ทั้งที่ เกมแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขรายมาตราเพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร. จะต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียง หากส.ว.รวมหัวบอยคอต เกมโอเวอร์ทันที

2 ปัจจัย พรรคฝ่ายรัฐบาล เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัวเคลื่อนเกมรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล ประกาศเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมาตรา 256 นำไปสู่การมี ส.ส.ร. กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แยกญัตติ 4 ญัตติ ว่ามีชื่อ “ซ้ำ-ซ้อน” กันถึง 30 ชื่อ

เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) จะให้อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ลงลายมือชื่อเสนอร่างได้ “คราวละฉบับ” หรือ “ลงลายมือชื่อเสนอได้หลายฉบับก็ได้ในคราวเดียวกัน”

ความตั้งใจคือการ “สอย” 4 ญัตติของฝ่ายค้านให้แท้งไป ตั้งแต่ยังไม่บรรจุวาระ โดยในวันที่ 23 กันยายน “ไพบูลย์”จะเสนอให้เลื่อนญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความขึ้นมาพิจารณา หากเสียงข้างมากของสภาเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 4 ญัตติของฝ่ายค้านจะถูกเตะออกจากวาระ

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของพรรคลุงกำนัน คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ประกาศ “แตกแถว” ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกญัตติ และไม่ยกมือรับหลักการในวาระที่ 1

แต่ในการโหวต เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบในวาระ 3 มาตรา 256 (6) กำหนดว่า จำนวนนี้ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน และ ส.ว.ต้องเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (84 เสียง) ของ ส.ว.ทั้งหมด

แปลว่า ทุกพรรคการเมืองจะต้องเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการแตกแถว เกมแก้รัฐธรรมนูญก็จะแท้งทันที

3 ปัจจัย ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ไม่เป็นขบวนมาตั้งแต่ต้น แม้พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล จะสมยอม จับมือกันยื่นญัตติ 4 ญัตติ ปิดสวิตช์ ส.ว. พ่วงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ไปแล้ว แต่กลับปรากฏว่ามีการให้ ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมกันถอนชื่อ สะท้อนภาพไม่เป็นขบวน เล่นเกมใหญ่ แต่ใจไม่นิ่ง มีปัญหาขัดข้องเชิงเทคนิค


เกมแก้รัฐธรรมนูญในสภายังคงเปราะบาง ท่ามกลางแรงกดดันจากมวลชนปลดแอกที่กำลังรุกไล่-ล้มรัฐบาล โดยมีเกมรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกัน