“ไพบูลย์” อวย “ประยุทธ์” สืบทอดอำนาจประชาชน 8.4 ล้านคน

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ไพบูลย์ นิติตะวัน

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” อวย “ประยุทธ์” สืบทอดอำนาจประชาชน 8.4 ล้านคน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 6 ญัตติ ได้แก่ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

3.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว ให้มาจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย และให้ยกเลิกมาตรา 272 แต่มิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ

4.ยกเลิกมาตรา 270 และ มาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจ หน้าที่ของวุฒิสภา ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 5.ยกเลิกมาตรา 279 ว่าด้วยประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และ 6.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ให้คงบทเฉพาะกาลไว้ ได้แก่ มาตรา 269 มาตรา 272 มาตรา 279 โดยเฉพาะมาตรา 272 เห็นควรต้องคงไว้เพราะ ที่นำมาใช้บังคับถือว่าดีมากครับ ๆ ดีมาก ผมอาจจะเห็นต่างจากสมาชิกรัฐสภาบางท่าน เพราะว่า มาตรานี้แหละครับที่ทำให้เราได้นายกรัฐมนตรี ที่สืบทอดอำนาจครับ ๆ แต่สืบทอดอำนาจจากประชาชน 8.4 ล้านคน คือ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประชาชนสนับสนุน 8.4 ล้านคน ก็มากกว่า ตอนนั้น แคนดิเดตที่แข่งกันท่าน (นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ซึ่งมีคนสนับสนุน 6.2 ล้านคน อีกพรรคหนึ่ง 7.5 ล้านคนก็น้อยกว่า สรุปว่ามาตรา 272 เมื่อนำมาบังคับใช้จริงแล้ว เราได้นายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจจากประชาชนครับ คนที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ 8.4 ล้านคน และมาตรา 272 มีที่มามาจากการถามประชาชนเป็นคำถามพ่วงในการออกเสียงประชามติ 15 ล้านคน

ส่วนไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน แต่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งตามหลักประชาธิปไตย ต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยทุกประการ เห็นประโยชน์แล้วดีมากครับ เพราะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงเห็นด้วยของประชาชนมากที่สุด สืบทอดอำนาจประชาชน 8.4 ล้านคน”

นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนบทเฉพาะกาลมาตรา 279 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคงไว้ เพราะเป็นเรื่องของการรับรองการกระทำโดย คสช. ยังต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป

“ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 50 บัญญัติการกระทำรองรับการรัฐประหารเช่นเดียวกันไว้ในมาตรา 309 ซึ่งในปี 50 และปี 51 มีความพยายามที่จะแก้ไข แต่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าจะมีผลต่อการตรวจสอบคดีทุจริตที่ดำเนินการอยู่ของคตส. และยังมีการชุมนุมในปี 53 ในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกและยุบสภา รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ด้วย แต่ไม่สำเร็จ”

นายไพบูลย์กล่าวว่า ดังนั้น จึงเห็นว่ามาตรา 279 ต้องคงไว้ เพราะถ้าไม่คงไว้จะมีคนมาคัดค้านและทำให้คดีที่ดำเนินการระหว่างในช่วงคสช.เกี่ยวกับทุจริตคอรัปชั่นหลายคดีจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นประโยชน์ให้ผู้กระทำผิด จึงต้องคัดค้าน

นายไพบูลย์กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ ตนเป็นผู้เสนอญัตติไปแล้วว่า มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่เห็นชอบ รวมทั้งแก้มาตรา 272 และมาตรา 279 และไม่อาจรับทั้ง 4 ร่างอย่างแน่นอน แต่ไม่ติดใจร่างของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเพื่อตั้ง ส.ส.ร.

“ผมเชื่อว่าสภาแห่งนี้จะใช้เอกสิทธิ์และดุลพินิจอย่างเต็มที่ แม้จะมีข่าวเรื่องของการชุมนุมของประชาชนที่จะออกมาในวัน 23 ก.ย. ผมอยากฝากประชาชนทั้งประเทศ ว่า ประเทศไทยมีประชาชน 60 กว่าล้านคน มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้ง 40 ล้านคน ประชาชนทุกท่านมีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากัน มี 1 เสียงเท่ากัน ไม่มีใครมีเสียงใหญ่กว่าใครทั้งสิ้น


ดังนั้น ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งไปอ้างว่าตัวเองเป็นแกนนำของประชาชนแล้วจะมาอ้างเพื่อข่มขู่ กดดันการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มีเอกสิทธิ์ ที่มีดุลพินิจของตนเอง กระทำไม่ได้ ผมรับไม่ได้ครับ แต่ผมจะฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ทั้ง 60 กว่าล้านคนเพื่อชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะผมก็อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ”