ส.ว. ซ่อนสัญญาณโหวตแก้ รธน. ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านตัดเชือก ส.ส.ร.

รายงานพิเศษ

24 กันยายน 2563 ม็อบประชาชนปลดแอก-แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดรวมกำลังพล สำแดงพลังทางการเมืองอีกครั้ง คราวนี้กดดันผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ที่กดดันให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง 100%

และเนื่องจากรัฐสภามีญัตติสำคัญ คือ การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 วัน ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ เป็นคิกออฟแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ม็อบจึงรุก-ไล่ กดดันนอกสภา บีบให้ผู้ทรงเกียรติต้องแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ร่าง 6 ญัตติ ถูกเข็นเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย

1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล

3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ

4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี

5.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้า คสช.

6.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 101 (4) ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540

ส่วนร่างของภาคประชาชน ที่นำโดย “ไอลอว์” นั้นยังบรรจุวาระไม่ทัน เพราะต้องตรวจสอบชื่อกว่าแสนรายชื่อที่ยื่นต่อรัฐสภา

เปิดขั้นตอนโหวตวาระ 1

ขั้นตอนในวันที่ 23-24 กันยายนนี้ เป็นวาระ “รับหลักการ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดขั้นตอนรับหลักการวาระที่ 1 ไว้ 3 ข้อ

1.ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และลงคะแนนโดยเปิดเผย

2.ต้องมีเสียงเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของ 2 สภา (ส.ส.+ส.ว.) หรือ 375 เสียง จาก 750 เสียง

3.ส.ว.ต้องเห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของเสียงโหวต หรือ 84 เสียง

ลำพังเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 276 เสียง-ฝ่ายค้าน 212 เสียง ไม่มีปัญหากับการเข็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา แต่เมื่อ “กติกา” บังคับให้จะต้องได้เสียง ส.ว. 84 คน ผู้ขี้ขาดในเกมนี้จึงเป็น ส.ว.

สูตรประนีประนอม ส.ส.-ส.ว.

ถอดความเห็นฟากรัฐบาล “วิรัช รัตนเศรษฐ” ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เปิดสูตรประนีประนอม ส.ส. และ ส.ว.

“เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไปด้วยกันให้ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพึ่งเสียง ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง จะทำอย่างไรให้เห็นสอดคล้องไปด้วยกัน หากผู้แทนฯจะเอาใจตามผู้แทนฯ (ส.ส.) หรือ ส.ว.จะเอาตาม ส.ว.อย่างเดียวก็ไปไม่ได้”

“ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เห็นเหมือนกันที่จะแก้ไขมาตรา 256 แต่มี ส.ส.ร.แตกปลีกย่อยออกไป แต่ของฝ่ายค้านไม่กลับมาในสภา ไปแล้วไปเลยด้วยการทำประชามติ แต่ของรัฐบาลส่งกลับมาในสภาเพื่อทบทวนให้รอบคอบอีกครั้ง เสียงสุดท้ายที่จะรู้ผล อาจอยู่ในระหว่างการประชุมวันที่ 23-24 กันยายนนี้”

“วิรัช” บอกว่า จะนำสิ่งที่เห็นตรงกันกับฝ่ายค้านก็เอามาวางไว้แก้ไขกันไปก่อน ถ้าไม่เหมือนกันคงไปลำบากเอาไว้ทีหลัง

เดาใจ ส.ว.ไม่ขวางแก้ รธน.

ด้านฝ่ายค้านลุ้นว่าเกมแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.ไม่มีทางเลือก นอกจาก “เอาด้วย” กับญัตติ

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ประเมินแรงหนุนของ ส.ว.ว่า เดายากว่า ส.ว.จะเห็นด้วยกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับหรือไม่ แต่สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 256 ทุกพรรคการเมืองในสภาเห็นด้วย ส.ว.คงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะขัดขวาง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เราคงไม่สามารถบังคับให้ ส.ว. 84 เสียง มาร่วมลงมติได้ แต่เชื่อว่าจำนวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน จะเป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน

“ดูแล้วน่าจะได้เสียง ส.ว.พอ 84 เสียงในการลงมติรับหลักการวาระแรกได้ เพราะถือว่าเป็นการปลดทุกข์ช่วย ส.ว. เพราะ ส.ว.เองก็คงไม่สบายใจในอำนาจมาตรา 272 ที่ต้องลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการยกภูเขาออกจากอก ส.ว.”

ขณะที่ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร.ใหม่ เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งระบบ ต้องบอกม็อบนอกสภาถ้าใจร้อนอาจได้น้อย หรือไม่ได้เลย เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน 4 ญัตติที่เสนอ ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็อดทน เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญ 256 ให้มี ส.ส.ร. แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ลาออก แต่การแก้ไขมาตรา 256 ก็ไปของมันอยู่

ส.ว. 3 พวก ซ่อนสัญญาณโหวต

ด้านความเคลื่อนไหว ส.ว. 48 ชั่วโมงก่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ยังคงเก็บ “ความลับ” ซ่อนสัญญาณกดปุ่มจากผู้มีอำนาจ

“วัลลภ ตังคณานุรักษ์” หรือ “ครูหยุย” 1 ใน 250 ส.ว. และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ 60 ส.ว.พลเรือนที่ประกาศหั่นอำนาจโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 272 ก่อนหน้านี้ บอกทิศทางโหวตรัฐธรรมนูญว่า ตอนนี้มีอยู่ 3 ประเภทใน ส.ว. แต่ละกลุ่มยังกั๊ก ๆ กึ่ง ๆ

1.กลุ่มไม่เอา-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเป็น ส.ส.ร. หรือแก้รายมาตรา 2.กลุ่มแก้ ส.ส.ร. หรือแก้เป็นรายมาตราก็ได้ 3.เอาเฉพาะ ส.ส.ร. ไม่เอารายมาตรา หรือเอารายมาตรา ไม่เอา ส.ส.ร.

“ความคิดยังกระจาย ๆ กันอยู่ จึงตอบยากว่าน้ำหนักจะเทไปอยู่ฝ่ายไหน แต่เสียงจะชี้ขาดตั้งแต่ 2 ฉบับแรกที่จะสู้กัน คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ส่วนผมจะแก้แบบมี ส.ส.ร. หรือแก้รายมาตราก็ได้ ขออย่าไปแตะหมวดพระมหากษัตริย์และรูปแบบของรัฐ” ครูหยุยกล่าว

“ครูหยุย” วิเคราะห์ว่า “ฝ่ายรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมา ก็ต้องกำเสียงข้างมากให้ได้ เพราะกฎหมายรัฐบาลแพ้ไม่ได้ ก็ต้องคิดว่ารัฐบาลเขาชนะเพราะรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องมั่นใจเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าโหวตแล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชนะฝ่ายค้าน แต่บังเอิญไม่มีเสียง ส.ว.สนับสนุนถึง 84 เสียง เป้าก็กลับมาถล่มที่ ส.ว.แล้ว เป็นโจทย์ใหญ่ ส.ว. และ ส.ว.จะกลายเป็นแพะทันที”

“ถ้ารัฐบาลโหวตครบ 276 เสียงแล้วบังเอิญ ส.ว.โหวตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 10 กว่าคน ส.ว.ก็รับผิดเต็ม ๆปัญหาคือ ยังไม่รู้ว่า ส.ว. 84 เสียงเห็นอย่างไร ถ้าเกิดเสียงไม่ถึง ส.ว.ต้องไปตอบคำถามกับสังคมกันเอง”

ฝั่ง ส.ว.ตัวเคลื่อนเกมอย่าง “สมชาย แสวงการ” เห็นควรให้แก้รายมาตราดีกว่าแก้ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.

เสียงขณะนี้ ส.ว.กำลังรับฟังข้อมูล แต่ส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญยังไม่มีปัญหาอะไร ถ้ามีปัญหาบางมาตราก็แก้บางมาตราอาจไม่ชอบรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่โดยรวมไปได้ เหมือนเรือแล่นไปในแม่น้ำ ถ้ามีรูรั่วก็ต้องอุดรูรั่ว ผีพายถ้ายังพายไม่ดีก็ต้องเปลี่ยนคน ไม่ใช่ล่มเรือทิ้งทั้งลำ จึงไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. เพราะแก้ปัญหาปัจจุบันเพื่อไปสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น เรื่องปฏิรูปสถาบันจะไม่นำความขัดแย้งกลับมาอีกหรือ

“ขณะที่ญัตติฝ่ายค้าน 4 ร่าง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แม้ตรงใจฝ่ายค้าน แต่อุดรูรั่วไม่ตรงใจคนที่อยู่ในเรือทั้งลำ (ส.ว.) ที่จะต้องผ่านไป แม้มีบางประเด็นน่าสนใจ เช่น บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.ก็ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะพรรคเล็ก 11 พรรคได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงอนาคตใหม่ที่ได้เสียง 80 เสียง แต่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา มีขนาดเล็กลง ส่วนเพื่อไทยก็ไม่ชอบ เพราะทำให้เขาไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐก็มีทั้งอยากแก้ ไม่อยากแก้ ไปตกลงกันเองดีกว่าไหม”

ส่วนเรื่องปฏิรูปตามมาตรา 270-271 เป็นหน้าที่ของ ส.ว. ถ้าไม่ให้ ส.ว.ทำหน้าที่แล้วจะให้ใครทำ ขณะที่มาตรา 272 ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯ ซึ่งมาจากการทำประชามติ ถ้าจะแก้ก็ให้ถามประชามติเสียก่อน ถ้า 15.2 ล้านเสียง ไม่ต้องให้ ส.ว.มีอำนาจในการเห็นชอบนายกฯ ตามที่ ส.ส.เสนอ มาตรานี้ก็ยกเลิกไป

“ผม พี่คำนูณ (สิทธิสมาน) พี่วันชัย (สอนศิริ) เรากินกาแฟด้วยกันก็ยังเห็นคนละอย่าง ยังหัวเราะกันเลยว่าเห็นต่างกันหมดเลย” สมชายกล่าว

ส.ว.ยังไม่คายความลับ ยังไม่เผยสัญญาณจากผู้กุมอำนาจ ก่อนจะถึงคิวตัดเชือกรัฐธรรมนูญวาระที่ 1