ด่วน! ไพบูลย์ มาเหนือเมฆ ยกข้อบังคับประชุมสภา เลื่อนลงมติแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 6 ญัตติ หลังจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายสรุป

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 121 วรรคสาม ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีตัวแทนจาก ส.ว. และพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ขึ้นมา 1 คณะเพื่อพิจารณาก่อนลงมติขั้นรับหลักการ ระยะเวลา 1 เดือน โดยให้เหตุผลว่า ส.ว.หลายคนยังไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ญัตติได้อย่างละเอียดทั้งหมด

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  ลุกขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วย ที่จะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาก่อนกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ในสมัยประชุมหน้า เพราะเหตุผลฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการพิจารณาในชั้นนี้เป็นเพียงขั้นรับหลักการ และยังมีการคณะอนุกรรมการพิจารณาในวาระที่สอง และการลงมติในวาระที่สาม ดังนั้น หากต้องการไปศึกษาก่อนคิดว่าไม่จำเป็น และเสียเวลา

“ถ้าใช้เวลา 1 เดือน และนำมาเสนอญัตติในสมัยประชุมหน้า ถ้าถูกตีตกสมัยหน้าจะไม่สามารถเสนอญัตติได้ตลอดสมัยการประชุม แต่ถ้าตีตกวันนี้ ยังมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกลุ่มประชาชนที่ร่วมลงชื่อกับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw (ไอลอว์) เตรียมเสนอในสมัยหน้า ชาวบ้านมองว่า อู้ เตะถ่วง และรัฐบาลไม่จริงใจ”

ทั้งนี้ ตลอดทั้ง 2 วัน ในการอภิปราย ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการลงประชามติด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน 16.8 ล้านเสียงแล้ว พร้อมกับการลงมติในคำถามพ่วง ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ผ่านการประชามติด้วยคะแนน 15.1 ล้านเสียง ก่อนถูกบรรจุเป็นบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 หากจะแก้ไขก็ต้องทำประชามติเสียก่อน


นอกจากนี้การแก้ไขมาตรา 256  เท่ากับเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” แบบไม่ลงวันที่ ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  และทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียงบประมาณ 15,000- 20,000  ล้านบาท เพื่อทำประชามติถึง 3 ครั้ง