บีบ “ทักษิณ” ยกธงขาว รื้อ 4 คดี สะเทือน “ชินวัตร” หลอน “เพื่อไทย”

ทันทีที่พระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศบังคับใช้ ปรากฏความเคลื่อนไหวของอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อ 4 คดีของ “ทักษิณ ชินวัตร”

4 คดีของนายทักษิณ ได้แก่ 2 คดี เป็นคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คือ 1.คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กรณีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ศาลฎีกาฯจำหน่ายคดี พร้อมทั้งออกหมายจับนายทักษิณ

2.คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ศาลฎีกาฯจำหน่ายคดี และออกหมายจับนายทักษิณ

อีก 2 คดี เป็นคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทน คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) คือ 1.คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 กรณีปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4 พันล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ศาลฎีกาฯจำหน่ายคดี และออกหมายจับนายทักษิณ

และ 2.คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาฯจำหน่ายคดี พร้อมทั้งออกหมายจับนายทักษิณ

โดยเฉพาะอัยการสูงสุด ที่มี “เข็มชัย ชุติวงศ์” อัยการสูงสุด “คนใหม่” เพราะทันทีที่ได้รับตำแหน่ง นายเข็มชัย “ออกตัว” แถลงนโยบายภายหลังเข้ารับตำแหน่งถึงการ “ฟื้น” คดีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย-คดีแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิตว่า “ความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าคดีดังกล่าวสามารถรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้”

2 มาตราสำคัญใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่นายเข็มชัยยกขึ้นมาสนับสนุนเหตุผลการรื้อฟื้นคดีนายทักษิณ ได้แก่ มาตรา 28 ใจความว่า ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

มาตรา 69 ในบทเฉพาะกาล ใจความว่า “การดำเนินการใดที่เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเก่าแล้วนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้”

หลังจากนี้ จะมีการตั้ง “คณะทำงาน” ขึ้นมาเพื่อ “รื้อฟื้น” คดี พิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย อายุความ โดยให้ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สานต่อคดีที่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะมีการรับมอบนโยบายต่ออัยการสูงสุด ในวันที่ 17 ตุลาคม ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำคดีขึ้นมา “พิจารณาใหม่”

ด้านความเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช. ก็เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ “รื้อฟื้นคดี” ที่ ป.ป.ช.เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยการตั้งองค์คณะขึ้นมาพิจารณาในแง่ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องของอายุความ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เคยมีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 ขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพราะมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และมาตรา 27 มีข้อความขัดต่อหลักความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ เป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง เรื่องสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าบุคคลนั้น

และยังเคยแถลงการณ์คัดค้านว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”

ทว่าเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงต้องวัดใจพรรคเพื่อไทยจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

โดยใช้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก ด้วยการยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นว่ามีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

กับช่องทางที่ 2 จะต้องวัดดวงด้วยการใช้สิทธิของผู้ที่ได้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องต่อมา ยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งช่องทางนี้เป็นไปตามร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่… พ.ศ. …. ดังนั้นหากจะใช้ช่องทางนี้ ต้องรอจนกว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้

นอกจากนี้ที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เตรียมแจ้งข้อกล่าวหา “พานทองแท้” บุตรชาย คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ต่อศาลอาญา ในวันที่ 24 ตุลาคม บีบให้ “ทักษิณ” ยกธงขาว