เหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เดินทางครบรอบ 47 ปี ขณะที่ 6 ตุลาคม 2519 ครบ 44 ปี ทั้งสองเหตุการณ์เชื่อมปัจจัยที่นักศึกษา ปัญญาชน เก็บความอึดอัดในสังคม ความไม่ชอบมาพากลในรัฐบาลทหาร “สฤษดิ์-ถนอม” 16 ปีเต็ม ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจ ระเบิดเป็นการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน
กงล้อประวัติศาสตร์อาจหมุนมาบรรจบอีกครั้ง ใน 47 ปีต่อมา กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน เก็บความคับข้องใจภายใต้ “ระบอบประยุทธ์” ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ผสมไวรัสโควิดพ่นพิษเศรษฐกิจให้ตกต่ำไปทุกหย่อมหญ้า
ขมวดปมมาสู่การนัดแสดงพลังครั้งใหญ่ 14 ตุลาคมนี้ ทั้งสองเหตุการณ์มีทั้งต่าง-ทั้งคล้ายในทางประวัติศาสตร์
“ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” นักรัฐศาสตร์ ม.รังสิต มองความเหมือน-ต่าง 2 ยุคนี้ว่า ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการรัฐประหารรัฐบาลตนเอง ของจอมพลถนอม กิตติขจร และใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีมาตรา 17 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกฯ ไม่มีพื้นที่การต่อสู้คัดค้านการตรวจสอบของกลไกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีรูหายใจของประชาชน
ดังนั้น การปะทุการคัดค้านรัฐบาลจึงเป็นพลังที่สั่งสมมายาวนาน ว่าพลังประชาชนจะต้องทลายปราการนี้ไปให้ได้
แต่ความต่างใน 14 ตุลาคม 2563 แม้รัฐบาลปัจจุบันสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดให้มีการเลือกตั้ง 2562 ยังมีพื้นที่การตรวจสอบของรัฐบาลในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้พลังที่อัดอั้นของประชาชนยังมีความหวังว่าจะแก้ปัญหาในระบบสภา ระบบพรรคการเมือง
สิ่งที่เหมือนกันในด้านเศรษฐกิจ 14 ตุลาคม 2516 ที่กำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่องในบริบทโลกที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น กระทบการขนส่งสินค้า การใช้ชีวิต ค่ารถเมล์ที่กำลังทะยานขึ้น มีการขนย้ายข้าวในประเทศไปขายต่างประเทศเพราะข้าวสารในต่างประเทศราคาแพงทำให้ข้าวในประเทศขาดแคลน ปัจจัยเศรษฐกิจจึงเป็นตัวชี้ความสามารถของรัฐบาลเผด็จการ
ส่วนในปัจจุบัน เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ถูกระหน่ำโดยโควิด-19 เป็นตัวชี้ที่แสดงให้เห็นว่าการรัฐประหารล้มเหลว ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญได้
ขณะที่พลังนักศึกษา ยุค 14 ตุลาคม 2516 เป็นพลังของคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ในยุค baby boomer มาประจบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่เห็นอนาคตต่ออาชีพการงาน และปัจจัยทางการเมือง คือ รัฐบาลเผด็จการไม่สามารถสร้างชีวิตที่เป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้านได้ นำไปสู่การเติบโตทางความคิด ประกอบกับการอ่านวารสารใหม่ ๆ ฟังนักวิชาการใหม่ ๆ เห็นโลกใหม่ เติมเชื้อแห่งความฝันเข้าไปว่าเขาต้องการประเทศที่ดีกว่านี้
พลังนักศึกษาในปี 2563 แม้ไม่มีอัตราการเกิดแบบ baby boomer แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์ความรู้ชุดใหม่ที่คนเรียนจบมาแล้วไปประกอบอาชีพต่าง ๆ มีชุดอธิบายใหม่ว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน แต่กลุ่มคนที่เป็นปราการหยุดยั้งประชาธิปไตยและหันไปสนับสนุนเผด็จการคือ คนยุค baby boomer คนที่เติบโตก่อนยุค 14 ตุลา ซึ่งเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม การเมือง จึงยึดมั่นสถานะเศรษฐกิจสังคมของตัวเอง จึงกลายเป็นการปะทะระหว่างคน 2 รุ่น
“ธำรงศักดิ์” เชื่อว่า 14 ตุลา 2563 จะยังไม่ใช่จุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหารเหมือน 47 ปีก่อน แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นใหม่จะหยั่งรากความคิดไปยังคนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ ฉากการเผชิญหน้าระหว่าง “ขบวนการนักศึกษา” กับ “รัฐทหาร” ในฉากที่ฝ่ายทหารไม่คาดคิดได้ ทหารไม่อาจตามยุทธวิธีของนักศึกษาได้ทันในสมรภูมิ กทม.อีกต่อไป ทหารกลับเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ
ดังนั้น ฉากจบของรัฐเผด็จการท้ายที่สุดแล้วจะค่อย ๆ ถอยตัวและหลบทางออกไป ต่อให้ยื้อโดยการรัฐประหารซ้ำ แต่ถ้ารัฐประหารซ้ำก็จะยิ่งกลับไปฉาก 14 ตุลา 2516 ยิ่งเด่นชัดว่า “คุณคืออุปสรรคของประเทศ”
แต่ถ้าไม่รัฐประหารซ้ำ ฉากการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาก็จะกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาผู้แทนราษฎร เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างด้วยบัตรเลือกตั้ง และเสียงของสภาผู้แทนราษฎร
คือฉากจบอีกฉากหนึ่ง…อย่างไรก็ต้องจบ