ก้าวหน้า-ก้าวไกล ผนึก iLaw-ไอติม พริษฐ์ ประกาศถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่

ก้าวหน้า-ก้าวไกล

คณะก้าวหน้า พร้อมพรรคก้าวไกล ผนึกกำลัง iLaw ร่วมกับ “ไอติม-พริษฐ์” เปิดตัว “Re-solution” ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันที่ 11 ตุลาคม 2563 แถลงการณ์ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในปี 2475 ประเทศไทยยังคงต้องแสวงหา “ข้อตกลง” ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

ส่วนสำคัญเพราะชนชั้นปกครองยังคงหวงแหนอำนาจ และฉวยโอกาสจากสภาพแวดล้อมที่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อมั่นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

สภาพเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหารโดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุน พร้อมกับการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่พอเรียกได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทย แต่ก็มีอายุเพียงประมาณ 9 ปี ก่อนถูกฉีกทิ้งด้วยคณะรัฐประหารอีกครั้ง

ผ่านมาถึงวันนี้ที่ประเทศไทยต้องอยู่กับผลพวงของการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องร่วมหา “ข้อตกลงใหม่” เพื่อทำให้ประชาธิปไตยได้ตั้งมั่น และไม่ให้ประเทศไทยต้องวนกลับเข้าสู่วงจรการร่างรัฐธรรมนูญในแบบเดิมที่นำมาสู่ความขัดแย้งและการรัฐประหารไม่รู้จบ

พวกเราจึงก่อตั้งกลุ่ม “Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่าทางออกของประเทศคือการร่วมออกแบบและกำหนด “ข้อตกลงใหม่” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดย “Re-solution” เป็นความร่วมมือของ 4 กลุ่ม ที่ทำงานผ่านการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2562 ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า / iLaw / กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นหัวหน้ากลุ่ม / พรรคก้าวไกล

เหตุที่เลือกใช้ชื่อ “Re-solution” เพราะมีความหมายที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของกลุ่ม
1. “Re-solution” หมายถึงการหา “ทางออกใหม่” ให้กับประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. “Resolution” หมายถึง “ข้อยุติ” ที่จะนำเราหลุดพ้นออกจากวิกฤตทางการเมือง ณ ปัจจุบันได้
3. “Resolution” หมายถึง “ปณิธาน” หรือ ความเด็ดเดี่ยว ที่เราต้องมี เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เป้าหมายหลักของกลุ่ม คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นพื้นที่ที่โอบรับทุกความใฝ่ฝัน คำนึงถึงทุกคุณค่าของสังคมไทย และเป็นที่บรรจบพบกันของทุกความคิดเห็น โดยให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้กำหนดอนาคตของสังคมที่เขาอยากจะอยู่และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

กลุ่ม “Re-solution” จะช่วยผลักดันให้เกิดเป้าหมายผ่าน 3 บทบาทหลัก
1. “พื้นที่” หรือ “Platform” ที่รณรงค์ทางความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวบรวมความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และเป็นตัวกลางในการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบข้อตกลงใหม่ของประเทศ
2. “คลังความคิด” หรือ “Think tank” ที่นำเสนอข้อเสนอก้าวหน้าใหม่ๆ เพื่อเขย่าอุตสาหกรรมยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ที่มักวนเวียนอยู่กับกรอบความคิด วิธีการ และ บุคลากรเดิมๆ
3. เป็น “ยานพาหนะ” หรือ “Vehicle” ที่พร้อมจะเป็นองค์กรรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ในกรณีที่รัฐสภาไม่ยินยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน
สามารถติดตามความคิด การทำงาน และ กิจกรรมของทางกลุ่มได้ ผ่านช่องทาง Social Media (Facebook / Twitter) “Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่”

นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนกลุ่ม “Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” แถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ที่จะขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น คณะก้าวหน้า, พรรคก้าวไกล, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า – Conlab, และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า เราเชื่อกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปการเมือง เชื่อว่าเป็นผลพวงจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสืบเนื่องมา เป็นฉันทามติของคนไทยร่วมกันครั้งสุดท้าย แต่เมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ในท้ายที่สุดฉันทามติที่ว่านี้ก็ได้ถูกทำลายลง ขณะที่ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบ บิดผันรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระและวุฒิสภา อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเสียงข้างน้อยใช้กลไกอิสระและอำนาจพิเศษในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่ยอมทำตามกติกาที่มีอยู่

ในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง วิกฤตรอบใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนั้น ด้วยเป้าประสงค์ในการควบคุมอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 เอาไม่อยู่ จึงต้องมีการ “รัฐประหารซ่อม” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

แต่ในท้ายที่สุดรัฐประหารทั้งสองครั้งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่คณะรัฐประหารทั้งสองชุดอ้างมา ว่าด้วยการแทรกแซงกลไกองค์กรอิสระและการตรวจสอบอำนาจรัฐ หนำซ้ำยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นมากกว่าเดิมเสียอีก รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาในนามองค์กรอิสระหลายองค์กร

แต่ต่อมาก็ได้ถูกบิดผันไปรับใช้ผู้มีอำนาจ จากที่เคยทำให้กำเนิดวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ก็ถูกดึงกลับสู่การแต่งตั้งอีกครั้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งการสืบทอดอำนาจ องค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือรัฐบาลสืบทอดอำนาจในการปราบปรามผู้เห็นต่าง

นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญในความหมายที่แท้จริงลึกซึ้ง คือกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครอง กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก่อตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญในความหมายนี้ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งมอบให้ แต่มาจากประชาชนทั้งผองมาตกลงกันว่าจะมีรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบใด

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่วิเศษ เพราะเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย เริ่มต้นจากสภาพการณ์ที่ไม่มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์หรือกรอบอะไรทั้งสิ้น เพื่อตั้งกรอบกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมา ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นของประชาชน ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไร สถาบันการเมืองกำเนิดมาได้เพราะรัฐธรรมนูญทำคลอดขึ้นมา และเป็นธรรมดาที่ต้องเล็กกว่าประชาชนและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หากกติกาที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องก็จะใช้กระบวนการแก้ไข ซึ่งกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญเอง แต่ในบางช่วงเวลาสถานการณ์ที่รุดหน้าไปมากขึ้น อีกฝ่ายพยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้เปลี่ยนแปลง วิธีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจทำไม่สำเร็จ

ดังเช่นที่ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่ออกแบบให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก เพราะผู้กำหนดรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ใครมาแก้ ในขณะที่อารมณ์ของสังคมและผู้คนที่สะสมกำลังเอาไว้ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความคิดที่แหลมคมมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน พลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐธรรมนูญกลับออกแบบไว้ให้เป็นทางตันไม่ให้แก้ได้ เพียงเพราะมีวุฒิสภา 84 คนก็สามารถขวางการแก้ได้แล้ว และต่อให้ผ่านไปได้ก็จะยังมีศาลรัฐธรรมนูญขวางอยู่

“นี่คือวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ เมื่อมีพลังอยากแก้ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแต่ไม่สามารถแก้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ให้มันแก้ยาก แล้ววิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญแบบนี้จะออกทางไหน พลังของการแก้ไขเปลี่ยนปลงรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นๆ ไม่มีวันลดน้อยถอยลง แล้วมันจะไปจบตรงไหน“

เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ การเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่งเกิดขึ้นด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด จากการยึดอำนาจของคณะทหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นแทน นี่เป็นวิธีที่อนารยชนทำกัน คือการใช้กำลังในการตัดสิน การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเปลี่ยนกันเองแทบไม่ปรากฏในประเทศไทย หรือหากเกิดขึ้นก็ถูกชุบมือเปิบไปโดยกลุ่มอำนาจบางกลุ่มทุกครั้งไป” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้เหมือนระเบิดเวลารอระเบิดออกมา สถาบันทางการเมืองในระบบ ไม่กระตือรือร้น ไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญไม่แยแสเสียงของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง วิกฤติรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง และหลายครั้งที่ผ่านมาเราก็จบลงด้วยการรัฐประหาร

ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ นักกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่งพยายามสร้างคำอธิบายและทฤษฎีขึ้นมา ว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ประเทศไทยอยู่ในสภาวะปลอดรัฐธรรมนูญ คือว่าให้อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย เกิดเป็นทฤษฎีว่าอำนาจสูงสุดในการสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่คู่กันระหว่างคณะรัฐประหารกับพระมหากษัตริย์

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติวงจรรัฐธรรมนูญแห่งการแก้แค้นเอาคืนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2549 ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมาแสวงหาข้อตกลงร่วมกันใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 จนถึงวันนี้แล้วยังแก้กันไม่จบ นั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นของใคร หรือประเทศนี้ใครเป็นเจ้าของกันแน่? ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสะสางปัญหานี้ให้ลงตัว แล้วยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญเอง เดินหน้าแสวงหาข้อตกลงใหม่ร่วมกัน” นายปิยบุตร กล่าว