จี้ คสช.เร่งปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรม นักวิชาการชี้ปมกฎหมายขัดกันเอง-ฝืนธรรมชาติ

“พงศ์เทพ” จี้ปลดล็อกพรรคการเมือง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า ไม่ได้ติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดเรื่องเลือกตั้งว่าอย่างไร แต่ดูตามกรอบรัฐธรรมนูญและเผื่อเวลาไว้ให้มากที่สุด พบว่ากฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ประกาศใช้แล้ว 2 ฉบับ เหลืออีก 2 ฉบับคือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว.ที่ยังไม่นำเสนอ และเชื่อว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คงจะดึงเวลากฎหมาย 2 ฉบับนี้ไว้ให้นานที่สุด เพราะถ้าส่งเร็ว กรธ.ก็จะหมดวาระเร็ว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากระบวนการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 9 เมษายน 2561 และจะมีกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งช้าที่สุดคือ 90 วัน ฉะนั้น อย่างช้าที่สุดกฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่สำคัญต่อการเลือกตั้งน่าจะประกาศใช้ได้ภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2561

“การเลือกตั้งจะต้องแล้วเสร็จใน 150 วัน หมายถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่ง กกต.จะมีเวลาประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าต้องประกาศผลการเลือกตั้งได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดเรื่องวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ผมก็ไม่ทราบว่าคำนวณอย่างไร แต่ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งในช่วงธันวาคม 2561 ซึ่งใช้เวลาแบบเต็มกรอบที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีอะไรพิสดารเกิดขึ้น” นายพงศ์เทพกล่าว และว่า ส่วนการปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น มองว่าควรปลดล็อกให้เร็วที่สุดเพื่อพรรคดำเนินการทุกอย่างให้ทันระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และมองว่าจะเป็นเรื่องประหลาดหากกฎหมายลูกให้เวลาดำเนินการภายใน 90 วัน หรือ 180 วัน แต่รัฐบาลกลับลดเวลาให้ดำเนินการทุกอย่างได้เพียง 60 วัน

“วิรัตน์” ชี้ไม่ปลดล็อก กม.ขัดกัน

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้ คสช.ควรจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ โดยอะไรที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและของบ้านเมืองก็ควรอนุญาตให้ดำเนินการกิจกรรมพรรคการเมือง แต่กรณีคนที่กระทำผิดกฎหมายหรืออาศัยโอกาสที่ คสช.ปลดล็อกให้ สร้างความวุ่นวาย ก็เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการเอาคนคิดร้ายกับบ้านเมืองมาลงโทษ เพื่อแยกออกจากสังคมให้ได้โดยเร็ว

นายวิรัตน์กล่าวว่า การปรับปรุงระบบภายในของพรรคการเมืองนั้น เนื่องจากบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมืองซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 141 ตั้งแต่ (1) ถึง (7) ระบุระยะเวลาเช่นแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างไปจากที่ปรากฏในทะเบียนพรรค ซึ่งต้องแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน 90 วัน แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช. ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นเหตุให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 141 (1) ได้ภายใน 90 วัน นับแต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองประกาศใช้ กรณีนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายขัดกันหรือแย้งกัน จึงเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้เกิดความชัดเจน

อจ.ชี้ผลเสียไม่ปลดล็อกพรรค

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจะเป็นผลเสียกับผู้เลือกตั้ง และไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างเดียว ยังเป็นผลเสียกับประชาชนที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่ตัวเองจะเลือกด้วย เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย แต่เป็นลักษณะการเมืองที่เป็นของรัฐโดยทหารภายใต้การควบคุมของเผด็จการ

“ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว ในเมื่อ คสช.บอกว่า สุดท้ายแล้วเราจะกลับไปสู่ประชาธิปไตย และอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ คสช.จะอยู่ยาวหรือไม่ เพราะหลายๆ สิ่งที่เราเห็นการเมืองวางโครงสร้างหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องกฎหมาย สะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่าทหารจะอยู่ยาวอยู่แล้ว ผมมองว่าอันนี้จะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยอาจเกี่ยวข้องในแง่ของการไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางอำนาจในปัจจุบันก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้เสถียรภาพทางอำนาจของ คสช.เองลดลงไปเยอะ ด้วยประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณที่มีคนตั้งคำถามค่อนข้างเยอะ” นายฐิติพลกล่าว

ห้ามทำกิจกรรมฝืนธรรมชาติ

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า โดยหลักน่าจะถือตัวรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ออก พ.ร.ป. และอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้ง ระดม รวบรวม ดังนั้น จะไม่มีการประชุมได้อย่างไร แบบนี้ถือว่าขัดกัน

“เท่าที่ทราบกระแสข่าวก็ขัดแย้งกันเอง แต่โดยความเห็นของผมต้องมีการผ่อนคลาย บางกรณีคำสั่ง คสช.ก็ผ่อนคลายได้ คือเข้าใจเจตนาว่าต้องการสกัดการเติบโตของพรรคการเมืองหลายๆ อย่าง แต่มันขัดธรรมชาติ มี พ.ร.บ.นักการเมือง มีการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ประชุมกันไม่ได้ ส่วนการที่พรรคการเมืองไม่สามารถประชุมได้จะส่งผลอย่างไร ผมมองว่าปกติเขามีการคุยกันอยู่แล้วตามพฤตินัย เพียงแต่เป็นมติที่เป็นทางการไม่ได้ พอมติที่เป็นทางการออกมาไม่ได้มันก็ไม่มีผลทางกฎหมาย ทั้งการจัดตั้ง การก่อตั้ง การปลดคนต่างๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะมีมติไม่ได้” นายชำนาญกล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์