เครือข่ายคณะราษฎร 2563 ไล่ “ระบอบประยุทธ์”-เซตซีโร่การเมือง

14 ตุลาคม 2563 กลุ่มชนชั้นปัญญาชน-หัวก้าวหน้า นักเรียน-เยาวชน และประชาชน เรียกขานตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” ถือฤกษ์ 14.00 น. ปักหมุดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขับไล่ “ระบอบประยุทธ์” ไว้โดยได้นัดหมาย

เป็นการ “กระชับอำนาจ” การชุมนุมให้แหลมคม-ตรงประเด็น “มติมหาชน” จาก 3 ข้อเรียกร้อง2 จุดยืน 1 ความฝัน สู่ข้อเรียกร้อง3 ป. 1.ประยุทธ์ออกไป 2.เปิดวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

ขยับ “ประเด็นสาธารณะ” ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจมาแล้วเกินกว่า “ครึ่งทศวรรษ” แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน ภายใต้รัฐธรรมนูญที่กีดกันฝ่ายตรงข้าม-กติกาที่ไม่เป็นธรรม

ต่อยอด-แตกก้านจากการชุมนุม 19 กันยายน 2563 จากการรวมตัวของกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” โดยมีกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นแกนหลักที่เดินขบวนไปทำเนียบองคมนตรี

ก่อนการชุมนุม-19 กันยายน 2563 จึงปรากฏนักการเมืองในสภา-นอกสภา มาร่วมสังฆกรรมกันอย่างคับคั่ง ทั้ง “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ค่ายเพื่อไทย และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งคณะก้าวหน้า-“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวขบวนก้าวไกล และ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

เกิดการรวมตัวของกลุ่ม resolution ประกอบด้วยพันธมิตร 4 องค์กร 3 ก. + 1 Law ได้แก่ คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จึงเป็นการรวมตัวกันเพื่อขับไล่ระบอบประยุทธ์ โดยมีทั้งจุดร่วม-จุดต่าง

กลุ่มนักเรียน-เตรียมอุดมศึกษาจะได้ล้มระบบอำนาจนิยมในสถาบันศึกษา และการปฏิรูประบบการศึกษาที่ล้าหลัง เช่น ทรงผม-เครื่องแบบนักเรียน การใช้ระบบลูกท่านหลานเธอ-อุปถัมภ์คำชูเพื่ออำนวยความสะดวกภายในรั้วโรงเรียน

นิสิต-นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมืองจะได้การเมืองในอุดมคติ-ล้มล้างระบอบอภิสิทธิ์ชน เส้นสาย-ศักดินาในระบบราชการไทย กีดกันคนชั้นกลาง-ลูกตาสีตาสา

นักการเมืองจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่-กติกาที่เป็นธรรม และได้คะแนนนิยม-ได้ใจฐานเสียง เพื่อต่อยอดในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผู้มากประสบการณ์-นักสังเกตการณ์ตัวพ่อ อ่าน “จุดพีก” ของการชุมนุมว่า ถ้าการชุมนุมเวทีธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 พูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงจัง การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2563 จะไม่กล้าเล่นบทยื้อ-เลื่อนลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นักการเมืองรุ่นใหญ่จึงเชื่อว่า “การชุมนุมเป้าหมายจึงไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพื่อให้เกิดการปฏิวัติ หรือนองเลือด เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดการแตกหัก”

“โดยทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าการชุมนุมจะสะสมอย่างไรก็ตาม แต่ต้องมีเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง เช่น แกนนำผู้ชุมนุมเกิดหายตัวขึ้นมา เกิดการทุจริต เป็นเงื่อนไขให้ปะทุขึ้นมา”

แกนนำรัฐบาลสายแข็งประเมินการชุมนุมว่า จะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ เพราะการชุมนุมมีปัญหาหลายประการ 1.ประเด็นในการชุมนุมไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ 2.กฎหมายพรรคการเมืองเข้มงวด 3.ข้อกฎหมายควบคุมการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ 4.การชุมนุมไม่ยืดเยื้อ และ 5.ปัญหาเศรษฐกิจไม่เอื้อให้เกิดการชุมนุม

“ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญถึงมีม็อบหรือไม่มีม็อบคนส่วนใหญ่ก็อยากจะแก้กันอยู่แล้ว ม็อบมาผสมโรงเท่านั้น ถ้าบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพราะม็อบ ต่อจากนี้ไม่ต้องปกครองประเทศ เพราะถ้าม็อบคิดว่าชนะต่อไปก็จะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน”

กว่าการชุมนุมจะเดินมาถึงจุดที่พร้อมจะ “แตกหัก” กลุ่มแกนนำ-แนวร่วมนอกสภาได้ปักหมุด “ประเด็นสาธารณะ” ในสถาบันการศึกษา-นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ภายใต้ยุทธศาสตร์แยกกันเดิน-รวมกันตี

19 กันยายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็น “จุดเริ่มต้น” ของการรวมตัว 30 องค์กร เพื่อแสวงหาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง เพื่อหา “ฉันทามติ” ภายใต้ชื่อเครือข่ายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

30 องค์กรล้อมกรอบนอกสภาที่จะมาพบปะ-รวมพล โดยมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “จุดยืนร่วม” ประกอบด้วย ภาควิชาการ 7 องค์กร อาทิ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 3.เครือข่ายนักวิชาการราชภัฏราชมงคลเพื่อพลเมือง (ครพ.) 4.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และ 5.กลุ่มเวทีเสนวนาประชาธิปไตยภาคใต้

ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 องค์กร อาทิ 1.สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) 2.กลุ่มดาวดิน และภาคประชาชน 14 องค์กร อาทิ สมัชชาคนจน iLaw ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


แต่การชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. นายกฯประเมินแล้วว่า ม็อบจุดไม่ติด