รวมทุกกลุ่ม! ล่าชื่อไล่ประยุทธ์ หยุดใช้ความรุนแรง ปล่อยเพื่อนเรา

ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ต่างล่ารายชื่อ เพื่อขับไล่ “ประยุทธ์ออกไป” โดยขอให้หยุดใช้ความรุนแรง-ปล่อยตัวแกนนำนักศึกษา

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เมื่อตอนตี 4 เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่รอบทำเนียบรัฐบาล

เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน นิสิตและนักศึกษาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มี “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ยกระดับขึ้น

เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ทำให้เกิดกระแส-เสียงต่อต้านจากบุคคล-คณะบุคคล หลากหลายวิชาชีพ ทั้งนักวิชาการ-หมอ นายทหารนอกราชการ ที่เฝ้าสังเกตการณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และบริวารพยายามตอกย้ำว่า การชุมนุมดังกล่าวมีคนอยู่เบื้องหลัง-ปลุกปั่น-ฉวยโอกาสให้เกิดสถานการณ์รุนแรง เพื่อความชอบธรรมของรัฐบาลในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรง

ทว่ารัฐบาลประยุทธ์กลับไม่มีการส่งสัญญาณ-สื่อสารเพื่อเสนอตัวเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” หรือ “เจ้าภาพ” เพื่อหาทางออก-วิธีการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เฉกเช่นปัญญาชน-ผู้นำที่มีวุฒิภาวะในประเทศโลกที่พัฒนาแล้วเป็นอารยะได้ทำกัน

4 ส.นักเรียนไทยในยุโรป จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ปล่อยตัวแกนนำ

วันที่ 16 ตุลาคม 2563 มี 4 สมาคมนักเรียนไทยในยุโรป ได้แก่ 1.สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีฯ 2.สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสฯ 3.สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส และ 4.กลุ่มนักเรียนไทยในประเทศเบลเยียม

แถลงการณ์ร่วม เรื่อง จุดยืนต่อเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย เนื่องจากเป็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนดังกล่าวเป็นไปตามหลักการชุมนุมที่สงบสันติ ปราศจากอาวุธ อันอยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกที่คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและหลักการสากลทุกประการ

รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ทั้งนี้ ความคิดเห็นของบุคคลสามารถแตกต่างกันได้ และเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย

กระนั้น สังคมที่มีวุฒิภาวะย่อมรับมือกับความแตกต่างนั้นบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม การพยายามรักาความเงียบหรือความสงบความต่างด้วยความกลัวมิใช่ทางออก หากแต่เป็นการปิดกั้นความหลากหลายที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกันของผู้คนในสังคมไทย

การกระทำของรัฐบาลไทยเพื่อต่อต้านบั่นทอนการชุมนุมของบุคคลหลายกลุ่มตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมแกนนำด้วยข้อหารุนแรงเกินความเป็นจริง

การส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุกคามเยาวชนและผู้ปกครองไปจนถึงการสลายการชุมนุมในวันที่ 15 และ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา อันเป็นการสลายการชุมนุมในยามวิกาล และเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมจำนวนมาก

รวมทั้งทีการคุกคามสื่อมวลชนและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองเป็นวงกว้าง

แม้รัฐจะอ้างอำนาจกระทำการดังกล่าว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หากแต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในสภาวการณ์เช่นนี้ เป็นการประกาศที่ไม่ชอบธรรม

เนื่องด้วยไม่ปรากฏการก่อการร้าย หรือ การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน รวมถึงความรุนแรงต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ บุคคลในรัฐบาลจากฝ่ายผู้ชุมนุมแต่ประการใด

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้อำนาจในนามความมั่นคงของชาติพึงระลึกไว้เสมอว่า ชาติ คือ ประชาชน ดังนั้น ความมั่นคงของชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับความมั่นคงของประชาชนย่อมไม่มี ด้วยจุดยืนดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล

1.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยทันที

2.ยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามประชาชน

3.ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีการใช้สิทธิในการปรึกษาทนายความและต่อสู้คดีอย่างโปร่งใสและยุติธรรม

4.เปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของตน บนพื้นฐานที่นองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญและหลักการสากล ด้วยความเคารพในมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีสมบูรณ์เสมอกัน

นอกจากนี้ยังมี “แถลงการณ์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญ” ที่ประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน ระบุว่า

จากสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสงบ สันติ และปราศจากความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏภาพของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ในการพยายามขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญหลาย ประการ

อาทิ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อหาบิดเบือนข้อเท็จจริง และใส่ร้ายป้ายสีประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองโดยสุจริตว่าเป็นการกระทําที่กระทบต่อความมั่นคง ของประเทศ มีการควบคุมตัว จับกุม และคุมขังประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกําหนด มีความพยายามในการระงับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนและเส้นทางสัญจรของประชาชน เพื่อขัดขวางการชุมนุม ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล โดยไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นของประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งการสลายการชุมนุมใน เวลากลางคืนโดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรงใด ๆ เป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากลที่ไม่มีประเทศเสรี ประชาธิปไตยประเทศใดจะพึงกระทํา รวมถึง การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากลที่รัฐต้องพึงกระทําในการสลายการชุมนุมเช่นการใช้รถฉีดน้ําแรงดันสูง และน้ําผสมสารเคมีฉีดไปที่ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้สนใจว่าผู้ชุมนุมจะได้รับอันตรายอย่างใดหรือไม่

ทั้งที่โดยทางปฏิบัติแล้ว การใช้รถฉีดน้ําแรงดันสูงจะต้องใช้กับกรณีที่มีการจลาจลที่เสี่ยงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น มีความพยายามในการใช้แก๊สน้ําตาต่อผู้ชุมนุมและการขู่จะใช้กระสุนยาง เป็นต้น

ดังนั้น พวกเราในนามศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้มีรายชื่อตามที่ปรากฏมานี้ ขอประณามการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล และพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับผิดชอบต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นนี้ ประชาชนทั้งหลายทั้งปวงจะได้รับการปฏิบัติอย่างผู้มีอารยะพึงกระทํา

6 พรรคฝ่ายค้านประณามรัฐบาลใช้ความรุนแรง

ขณะที่ 6 พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง ขอประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล และเรียกร้องให้เปิดประชุมรัฐสภาฯสมัยวิสามัญ โดยเร็วที่สุด

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอประณามการกระทำที่เกินกว่าเหตุของรัฐบาลในการสลายการชุมชนของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน

ทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมคือลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติ มารวมตัวเพื่อแสดงความคิดเห็นต้องการเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดี และเป็นการแสดงออกตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ไว้

การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดแล้วเลือกใช้วีธีการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังปราบปราม เป็นการโหมไฟความชิงชัง และวิกฤติศรัทธาให้เพิ่มมากขึ้น วิธีการดังกล่าวเป็นการกระทำของประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ ซึ่งจะส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศทุกด้าน

ทั้งนี้หากประเทศเกิดความเสียหาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องรับผิดชอบในผลพวงที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • ขอประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล
  • ขอให้หยุดสร้างเงื่อนไขทุกประการที่จะนำประเทศไปสู่ความหายนะโดยทันที
  • เร่งเปิดประชุมรัฐสภาฯสมัยวิสามัญ โดยเร็วที่สุด

386 เสียงหมอกรีดรัฐบาลไร้มนุษยธรรม

โดนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 บุคลากรทางการแพทย์ 386 ราย จากโรงพยาบาลทั่วประเทศร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ “มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์วันที่ 16 ตุลาคม 25263”

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนและกลุ่มสมทบอื่น ๆ เพื่อสลายการชุมนุม ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ นอกจากนี้ยังมีภาพรถพยาบาลที่ไม่สามารถผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำการรับส่งผู้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ตามหลักมนุษยธรรม

ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ต้องทำการรักษาอภิบาลผู้ป่วย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่อันหลีกเลี่ยงมิได้ตามคำปฏิญาณเมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ รวมถึงต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิผู้ป่วย (autonomy)

บุคลากรทางการแพทย์ดังรายชื่อแนบท้าย จึงขอร่วมลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ ต่อผู้ชุมนุมเป็นการรับฟังอย่างสันติวิธีและขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ดังนี้

  1. โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย และเป็นกลางทางการเมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งพึงได้รับของพลเมือง บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยและผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเสมอภาค
  2. การดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามหลักสากล มาตรการที่ใช้ควบคุมฝูงชนจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล หลักความได้สัดส่วนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

3.การใช้รถยิงน้ำยังผสมสารเคมียิงไปยังผู้ชุมนุมเป็นมาตรการที่มีความรุนแรงโดยสภาพ เจ้าหน้าที่ไม่อาจแยกแยะเป้าหมายเพื่อบังคับมาตรการนี้อย่างเป็นธรรมได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ แรงดันที่เกิดจากน้ำมีระดับสูง สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่กายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

4.งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และ 5. เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม เพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

25 อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ร้องเปิดพื้นที่เจรจาสาธารณะ

กลุ่มคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ออก แถลงการณ์อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ระบุว่า…

สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังลุกลามบานปลายไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และดำเนินการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อคืน (16 ตุลาคม 2563) ที่ผ่านมา

ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามแนบท้าย ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อประชาชนผู้ชุมนุมโดยสันติวิธี ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

ขณะที่ทางรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพิจารณาทบทวนท่าทีและแนวทางสื่อสารกับสังคมในปัจจุบัน ดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างเต็มที่ รวมทั้งเปิดการเจรจาพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านพื้นที่สาธารณะที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างสันติและปลอดภัย เพื่อหาทางออกจากวิกฤติโดยไม่มีความรุนแรงและความสูญเสียเกิดขึ้น

คณะประชาชน 157 ชื่อ ไล่ประยุทธ์ลาออก

157 บุคคลในนาม “คณะประชาชน” แถลงการณ์ ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 หัวข้อว่า “ความห่วงใยประเทศ และข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ” ระบุว่า…

การชุมนุมของประชาชนในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกไม่พอใจต่อคณะผู้ปกครองประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ ได้ขยายตัวและมีแนวโน้มที่รุนแรงจริงจังมากขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้กลไกรัฐ มาตรการ หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในระดับร้ายแรง การจับกุมแกนนำ หรือใช้วิธีการทางกฎหมายใดๆ ก็ไม่สามารถห้ามปรามการแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนได้

ยิ่งการใช้กำลังรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 16 ต.ค. 2563 ไม่เป็นไปตามหลักสากลของสหประชาชาติที่ต้องแยกแยะระหว่างการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง แต่รัฐกลับเลือกใช้วิธีการจัดการสลายฝูงชนโดยใช้น้ำฉีดผสมสารเคมี และกองกำลัง ราวกับการจัดการจลาจลทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ ไม่มีการเข้าทำลายสถานที่ หรือก่ออันตรายต่อชีวิตทรัพย์สิน และกลุ่มผู้ชุมนุมยังประกอบด้วยเด็ก เยาวชน นักเรียน สตรี จำนวนมาก ถือเป็นการขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ

สาเหตุที่สำคัญที่นำไปสู่การชุมนุม คือ ความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศที่ล้มเหลวทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสำคัญนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างไม่เป็นกลาง เจตนาเพื่อการสืบทอดอำนาจในคณะพวกของตัวเอง และการชุมนุมของประชาชน นักเรียน และนักศึกษากลับถูกคุกคาม จับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อให้เกิดการแก้ไขที่ตรงกับสาเหตุ

คณะประชาชนที่ประกอบด้วยอดีตนักการเมือง นักการทหาร อดีตข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักธุรกิจ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองและขอแสดงจุดยืนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อประเทศ 3 ข้อดังนี้

ข้อที่ 1 ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเสียสละตนเอง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ เพราะท่านเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งรังแต่จะนำไปสู่การบานปลายของสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา การลาออกนั้นเพื่อให้รัฐสภาได้ใช้กลไกในรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ โดยขอให้สมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนอย่างเป็นอิสระ หรืองดออกเสียง แต่หากไม่มีผู้ทีอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่เหมาะสม ก็สามารถใช้วรรคสองของมาตรา 272 เลือกบุคคลที่อยู่ภายนอกบัญชีรายชื่อ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาได้

ข้อที่ 2 คณะผู้บริหารใหม่ จะอยู่ในวาระเพียงแค่เวลาที่เหลือของรัฐสภาชุดปัจจุบัน โดยมีภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลาไม่นาน และหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและผ่านการลงประชามติจากประชาชนแล้ว ให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ส่วนการคงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระต่าง ๆ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่

ข้อที่ 3 รัฐบาลต้องปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาอย่างไม่มีเงื่อนไข หากจะมีการดำเนินคดีต้องเลือกกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ไม่ใช่คดีมโนสาเร่ และไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ในขณะเดียว กันหากสามารถใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์ตามสถานการณ์โดยเน้นความสงบของบ้านเมืองเป็นหลัก

ข้อเสนอทั้ง 3 ประการนี้ เป็นข้อเสนอที่ตรงไปตรงมาที่สุดโดยปราศจากความเอนเอียงทางการเมืองใดๆ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ โดยมีผู้เห็นชอบร่วมลงนามข้างท้ายนี้ (พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตรัฐบุคคล ที่เคยออกมาแสดงทางออกในช่วงวิกฤตการเมืองปี 56-57 ได้ถอนชื่อออกภายหลัง)

เป็นการล่ารายชื่อ-ไล่พล.อ.ประยุทธ์และพวก ให้ออกไป – เสียงประณามรัฐใช้ความรุนแรง เพิ่มดีกรีจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ตั้งแต่นักเรียก-นักศึกษา-ประชาชนปลดแอก สู่คณะราษฎร และเป็นแนวร่วม “ราษฎร”