ม็อบราษฎรเขย่าบัลลังก์ “ประยุทธ์” นับถอยหลัง เกมสืบทอดอำนาจ

เวลานี้ เป็นห้วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่สุดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ในสมัยที่ 2 มากที่สุดนับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากคืนสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ตุลาคม 2563 รัฐบาลถูกรุมประณามจากทุกสารทิศว่า “ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ”

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกว่า “ราษฎร” จู่โจมกลับยกระดับเป็นการชุมนุมแบบ “ไร้แกนนำ-ดาวกระจาย” ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

โคลนนิ่งเปรมโมเดล

แต่ก่อนจะตัดสินว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะถึงฉากจบ ต้องย้อนดูที่มา-ที่ไปของรัฐบาล พล.อ.เปรม และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่เทียบตัวอย่างการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ลอกแบบมาจากยุค “เปรมโมเดล” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี 5 เดือน ไม่ผ่านการเลือกตั้ง

และ “เปรมโมเดล” เหมือนจุดไต้ตำตอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาครองอำนาจเป็นสมัยที่ 2 อาจเป็นเพราะหัวหอก“คนร่างรัฐธรรมนูญ” คือ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

ทำให้รัฐธรรมนูญ 2521 กับรัฐธรรมนูญ 2560 มี “กลไกพิเศษ” ที่เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ย้อนกลับไป 14 มีนาคม 2559 ช่วงโค้งสุดท้ายการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนทำประชามติ มี “จดหมายน้อย”จากทำเนียบรัฐบาล ลงนามโดย “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.เวลานั้น ส่งตรงถึงห้องประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

สาระสำคัญในจดหมายน้อย อันเป็น “ใบสั่ง” บอกความต้องการของ คสช.ให้บัญญัติสิ่งสำคัญลงในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกลไกที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นช่อง “สืบทอดอำนาจ”

ซึ่งต่อมาได้ถูกบรรจุลงในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ใช้ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ตัวอย่างเช่น ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มาจาก คสช.เป็นผู้คัดเลือก สามารถให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นนายกฯคนนอกบัญชีพรรคการเมืองได้ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯในบัญชีของพรรคการเมืองด้วยกันเองได้ ก็ต้องมาอาศัยเสียง ส.ว.ช่วยโหวตเลือกนายกฯคนนอก โดยผู้ที่จะเป็นนายกฯต้องได้รับการเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ 376 เสียง

ที่สำคัญคือ ให้ “อำนาจ” ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯได้ถึง 2 สมัย เพราะ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่านมีอายุ 5 ปี มากกว่าอายุสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพียง 4 ปีก็ต้องเลือกตั้งใหม่ เช่นเดียวกับกลไกสืบทอดอำนาจถูกนำมาเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2521 ที่มีอายุใช้ 12 ปี 2 เดือน 1 วัน สาระสำคัญคือ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร

โดยประธานวุฒิสภามีอำนาจเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯกับ ส.ส.ได้ และนายกฯไม่ต้องเป็น ส.ส.

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะ “ไมเนอร์เชนจ์เปรมโมเดล” พัฒนาการเข้าสู่ตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นแกนหลัก จนถึงขณะนี้รวบรวมเสียงฝ่ายรัฐบาลได้ถึง 276 เสียงจากวันที่เข้าสู่อำนาจ 251 เสียง

แต่ปมรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจแบบระบอบเปรมโมเดล นำมาสู่กระแสเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และปิดสวิตช์ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ และกดดันให้ ส.ว.ทั้ง 250 คนยุติบทบาทโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก กระทั่งข้อเสนอถูกยกระดับชนเพดาน

พรรคร่วมกดดันหนัก

ในวาระท้าย ๆ ของรัฐบาลเปรม 5 ก่อนจะเอ่ยคำว่า “ผมขอพอ” ขณะนั้น รัฐบาล พล.อ.เปรมประสบภาวะวิกฤตทางการเมืองขนานใหญ่ โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล

เมื่อเกิดความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มจาก “วีระ มุสิกพงศ์” แกนนำกลุ่ม 10 มกรา ในประชาธิปัตย์ ได้ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำปราศรัยอันอาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเดียวกัน กลุ่มของ “วีระ” ก็ขัดแย้งกับกลุ่ม “พิชัย รัตตกุล” จากการจัดสรรโควตารัฐมนตรีในพรรคที่ไม่ลงตัว รวมถึงพ่ายแพ้การเลือกหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ ยัง “งดออกเสียง” ในการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รมว.พาณิชย์ จากพรรคกิจสังคม เปิดช่องให้นักการเมืองใกล้ชิด พล.อ.เปรม รวมถึงขุนทหารในกองทัพบีบจน “ร.ต.อ.สุรัตน์” ต้องเซ็นใบลาออกจากตำแหน่ง

ด้วยความชุลมุนทางการเมืองในรัฐบาลเปรม 5 กับข้อหาที่สังคมเริ่มเบื่อในตัว พล.อ.เปรม เกิดเสียงเรียกร้องว่า “อยู่นานเกินไป” และมาถึงจุดแตกหักเมื่อกลุ่ม 10 มกรา ของ “วีระ” จำนวน 32 คน ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ของฝ่ายรัฐบาลที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติในวันที่ 28 เมษายน 2531 แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์จะผ่านสภาด้วยคะแนน 183 ต่อ 134 เสียง

แต่ภายหลังการโหวต บัญญัติ บรรทัดฐาน, ประจวบ ไชยสาส์น และ พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค ได้เข้าพบ พล.อ.เปรมเป็นการด่วนที่ทำเนียบรัฐบาลในตอนเช้า 29 เมษายน 2531 เนื่องจากความไม่เป็นเอกภาพภายในประชาธิปัตย์ จึงแสดงความรับผิดชอบ เป็นเหตุให้ 16 รัฐมนตรีของประชาธิปัตย์ลาออกจากคณะรัฐมนตรี และ พล.อ.เปรมก็ยุบสภา

ขณะที่ในปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาแน่-นอนไม่ได้ ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ ตอบคำถามนักข่าวเรื่องการถอนตัวร่วมรัฐบาล หลังเรียกประชุมพรรคด่วนเมื่อ 18 ตุลาคม 2563 ว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้เช่นกัน

“ในเรื่องของการถอนตัวพรรคก็ต้องไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ รวมทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วยว่า ถ้ามีการถอนตัวอาจจะนำไปสู่การยุบสภาได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่า พรรคจะกลัวการยุบสภา เพียงแต่ถ้ามีการยุบสภาขึ้นมาในเวลานี้ ก็จะต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งยังอยู่ภายใต้กติกาเดิม ถ้าเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง หลังเลือกตั้งตรงนี้จึงเป็นที่มาที่พรรคประชาธิปัตย์เร่งรัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว”

ท้ายที่สุด “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องจำนนต่อแรงกดดันของสภาผู้แทนราษฎร หลังประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค บีบให้ผู้นำรัฐบาลต้องเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหาทางออกประเทศในกลไกรัฐสภา

ต่างจากซุ่มเสียงท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก่อนการสลายการชุมนุม ระบุว่า “เรื่องสภาก็เดินตามขั้นตอน ตามกฎระเบียบอยู่แล้ว จะเปิดสภาหรือไม่เปิดสภา อีกไม่กี่วันก็เปิดอยู่แล้วสภาก็ไปว่ากัน”

เปรมโมเดล ถึงทางตัน

แม้ในยุค “พล.อ.เปรม” ไม่ถูกม็อบไล่ แต่ก็เจอกระแสคัดค้านดังขึ้นแทบทุกส่วนของสังคม และที่สำคัญคือ “ฎีกาของ 99 นักวิชาการ” อันถือเป็น statement “ชนชั้นนำ” ในยุคนั้น รวมถึงบุคคลที่เคยทำงานให้ พล.อ.เปรม

“ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ ขอพระราชทานวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถวายความเห็นเกี่ยวด้วยสภาพการณ์และสถานการณ์บ้านเมือง ดังนี้ 1.ความวุ่นวายสับสนในทางการเมือง ความเสื่อมในศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การแตกแยกสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการ และประชาชน เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น

2.หากประเทศชาติต้องการดำเนินตามครรลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงแล้ว การวางตนเป็นกลางของผู้นำทางการเมือง การยึดมั่นในความเป็นธรรม หลักการสันติวิธีในการปรับความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้ง การละเว้นวิธีการปลุกปั่นยุยงหมู่ชน จึงจะเป็นหนทางที่เหมาะสมในการป้องกันสภาพการณ์และสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา อีกทั้งจะเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและลักษณะของสังคมไทยด้วย

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ยืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนอกกติกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหาร หากพร้อมที่จะเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อให้บ้านเมืองเป็นธรรม มีขื่อมีแป ร่มเย็นเป็นสุข มีส่วนมีเสียง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมขอเดชะ”

ขณะที่ในยุคปัจจุบัน หลังสลายการชุมนุม 16 ตุลาคม 2563 มีแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลทั่วทุกทิศ

ทั้งนักวิชาการ-หมอ-นักธุรกิจ-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก


“เปรมโมเดลไมเนอร์เชนจ์” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” กำลังถึงทางตัน อาจอยู่ไม่ถึง 8 ปี 5 เดือนเหมือนต้นตำรับบ้านสี่เสาเทเวศร์