ข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธ! ประยุทธ์ ออกไป ย้อนรอยเกมพลิกขั้ว-พรรคร่วมถอนตัว

ข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธ! ประยุทธ์ ออกไป ย้อนรอยเกมพลิกขั้ว-พรรคร่วมถอนตัว

ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุม  “คณะราษฎร 2563” ที่สลายตัวเองเป็น “ราษฎร” เคลื่อนไหว-เคลื่อนที่แบบ “ดาวกระจาย” และ “ไร้แกนนำ” กับ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งหมด “ลาออก” 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

แม้ ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” จูงมือรัฐมนตรีทั้งหมดเรียงหน้ากระดาน ร่วมแถลงจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันเสียงแข็ง “ไม่ลาออก” เร่งเร้าให้ผู้ชุมนุม-รุกกลับ ด้วยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ลาออกภายใน 3 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม)

พร้อมเสนอวาระแนบท้าย ให้พรรคร่วมรัฐบาล “ถอนตัว” เพื่อล้างไพ่ เปลี่ยนเกมรัฐบาลใหม่

พลิกจาก “รัฐบาลประยุทธ์ 2/3” ที่ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค ทั้ง โควตากลางของนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลรวม ทั้งสิ้น 36 คน แบ่งเป็นพรรคการเมือง จำนวน 5 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ประเมินจากจุดยืนของพรรคขาใหญ่ ไปในทิศทางเดียวกัน  ตั้งแต่พลังประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ จนครบวาระ 4 ปี

ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “อนุทิน” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ในพรรครร่วมรัฐบาล ออกตัวย้ำชัด “ขอเป็นรองนายกฯ ที่มีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์”  รวมถึงปฏิเสธที่จะออกจากพรรคร่วม ด้วยเหตุผล “มาด้วยกันไปด้วยกัน”

เช่นเดียวกับท่าทีล่าสุดของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง “ตอบไปแล้วไม่ตอบซ้ำ” ส่วนเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่ต่างไปจาก “วราวุธ ศิลปอาชา” ประธานยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา แม้จะเคยกล่าวไปวันก่อน ว่า “จุดยืน ของพรรคชาติไทยพัฒนา  คือการทำงานเพื่อแผ่นดิน  รับใช้สถาบัน สนองเบื้องพระยุคลบาทเหมือนสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานมา”

ที่สุดกู่-สุดทาง ไม่ยอม-ไม่ถอย แม้กระทั่งข้อเรียกร้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่ก่อตั้งโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยการประกาศภารกิจของพรรค ในวันเปิดตัวว่าจะทำหน้าที่ “พรรคพลเมืองที่เป็นพสกนิกรปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

แน่นอนว่า พรรคที่มีเสียงน้อยที่สุด ในบรรดาพรรคที่โควต้ารัฐมนตรี ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า “ยังสนับสนุน” พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป เพราะยังเห็นศักยภาพว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้

ช่วงสถานการณ์เข้าด้าย-เข้าเข็ม ที่เป็นสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อคลายเดดล็อกทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องย้อนทวนประวัติศาสตร์ “การถอนตัว-พลิกขั้วทางการเมือง” หลากรูปแบบในอดีต ที่ทำให้เกมอำนาจในรัฐบาลเปลี่ยนแปลง และถึงทางตัน

หลังรัฐประหาร 2549 ยุคกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ที่แตกตัวออกมาหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” ยืนหัวแถว ได้ผนึกกับ “อดีตกลุ่ม 16” ปฏิบัติการ “พลิกขั้ว” ผลักดัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ด้วยคะแนน 235 เสียง เฉือน “พล.ต.อ.ประชา พรมนอก” หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน 198 เสียง

235 เสียงที่สนับสนุนในการเปลี่ยนขั้ว ได้แก่ ประชาธิปัตย์ 163 เสียง พลังประชาชนเดิม 33 เสียง (กลุ่มเพื่อนเนวิน นายสุวิทย์ คุณกิตติ ที่แยกไปพรรคกิจสังคมและอื่นๆ) รวมใจไทยชาติพัฒนา 5 เสียง มัชฌิมาธิปไตยเดิม 8 เสียง เพื่อแผ่นดิน 12 เสียง ชาติไทยเดิม 14 เสียง

พรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” เปิดปฏิบัติการดีลลับ-ในค่ายทหารกับ “เนวิน ชิดชอบ” ที่ยอม “หันหัว” ไม่กลับเข้าพรรคเพื่อไทย “หักหลัง” ทักษิณ จนเกิดเป็นวลีอมตะ “มันจบแล้วครับนาย”

ขณะที่วีรกรรมพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทย ที่อยู่สมรภูมิการเมืองมาตลอด 74 ปี ชนะเลือกตั้ง  6 ครั้ง พ่ายแพ้เลือกตั้ง 13 ครั้ง คว่ำบาตรเลือกตั้ง 3 ครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่ไม่ชนะการเลือกตั้งกว่า 2 ทศวรรษ และยัง “บอยคอต” การเลือกตั้ง มาถึง 3 สามครั้ง นำไปสู่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ

  • ครั้งที่ 1  ในการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495
  • ครั้งที่ 2 การเลือกตั้ง 2 เมษายน  2549 พรรคประชาธิปัตย์บอยคอต-กระบวนการเลือกตั้งโมฆะ นำมาสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  • ครั้งที่ 3 การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยให้เหตุผลว่า “ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาประเทศ” นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมาชาติไทยพัฒนาที่ไม่เคยสะกดคำว่า “ฝ่ายค้าน” เป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ ครั้งที่ 2 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และครั้งล่าสุดในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จนถูกค่อนขอดว่าเป็น “พรรคปลาไหล”

สถานะและจำนวนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน 19 พรรครัฐบาล รวม 276 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 120 เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

พรรคเล็ก 10 พรรค พรรคละ 1 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทรักธรรม

และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

หาก 3 พรรค คือ ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา รวม 125 เสียง พลิกขั้วไปรวมกับฝ่ายค้าน 6 พรรคฝ่ายค้าน 212 เสียง จะได้ขั้วรัฐบาลใหม่ 337 เสียง

หากสมการนี้เกิดขึ้นจริง แน่นอนว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พ้นจากวงจรจรอำนาจ

แต่สมการนี้ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย-แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น