เปิดแผน รัฐบาล – ฝ่ายค้าน ประจันหน้าในสภา อภิปรายวิสามัญ ฝ่าวิกฤตม็อบ

วาระการเมืองในรัฐสภาเกียกกาย ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 เดือดไม่แพ้การชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร 2563” นอกที่ทำการรัฐสภา

เพราะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญอภิปรายการทำงานของรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165

ฝ่ายรัฐบาล ได้ “ปักหมุด” 3 ญัตติสำคัญบีบให้ฝ่ายค้านพูดเฉพาะใน 3 ประเด็น

1.การชุมนุมต่อเนื่องในสถานการณ์โควิด ฝ่ายสาธารณสุขกังวลว่าจะเกิดโรคระบาดได้ง่าย กระทบต่อการยับยั้งโรค และความเชื่อมั่นของคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ

2.การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ผู้ชุมนุมบางส่วนขวางขบวนเสด็จ มีผู้ตะโกนด้วยคำหยาบคายรุนแรง

และ 3.การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม มีการจาบจ้วงบุคคลอื่นทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินทางราชการ รัฐบาลวิตกว่าจะมีบางฝ่ายแอบแฝงเข้าไปในที่ชุมนุม ฉวยโอกาสใช้อาวุธ สร้างความปั่นป่วน อาจกลายเป็นจลาจล

ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จึงจัดการ “ติวเข้ม” ส.ส.ทั้ง 5 คนของพรรค ได้แก่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.

ทั้งนี้ในส่วนของนายสิระและ น.ส.ปารีณา จะมีคิวในการอภิปรายในวันที่ 26 โดยคาดว่าจะได้รับการจัดสรรเวลาค่อนข้างมาก ส่วนเนื้อหาในการอภิปรายจะมุ่งเน้นไปถึงเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จ

และวิปรัฐบาล นำโดยพรรคพลังประชารัฐ มีมติว่าประชุมดังกล่าวจะไม่มีการ “เซนเซอร์” แม้จะพูดเรื่องละเอียดอ่อน – อ่อนไหวที่สุด บีบให้ฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบในคำพูดอันนำมาสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการผิดกฎหมาย หากคิดแก้ต่างแทนม็อบ

วางตัวผู้อภิปราย “คนแรก” ต่อจากพรรคฝ่ายค้านคือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน”

ด้าน 6 พรรคฝ่ายเห็นญัตติ 3 ข้อ ของฝ่ายรัฐบาลแล้วอึ้งทันที นัดประชุมด่วนในวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา และมีข้อสรุปว่าจะเข้าไปเป็นปาก – เสียง ปกป้องการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่แสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 ตุลาคม เพื่อไทยนัดประชุม ส.ส.พรรค กำหนดท่าทีการประชุมดังกล่าว

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมหัวข้อและขุนพลอภิปรายไว้ 20 คน มีประเด็นที่อภิปรายหลากหลาย เรื่องความเป็นมาและต้นตอของปัญหา ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และ เสนอทางออกของประเทศไทยไว้ ว่าสุดท้ายทิศทางที่ควรจะเป็นในประเด็นคำขอเปิดอภิปรายได้กำหนดไว้ 3 เรื่อง ปัญหาโควิด ขบวนเสด็จผ่านผู้ชุมนุม และ เหตุการณ์ความไม่สงบ ใน 3 เรื่องนี้ทางรัฐบาลเปิดประเด็นไว้

เพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อไทยจะยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเป็นหลักเพราะมีข้อบังคับว่าการพูดถึงสถาบันโดยไม่จำเป็นจะไม่นำมาอภิปรายในสภา ได้แนะนำผู้อภิปรายได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ แต่เราพูดถึงในภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ “อรุณี กาสยานนท์” โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติเรื่องขบวนเสด็จฯ พรรคเพื่อไทยหารือร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ได้แจกบทบาทฝ่ายค้านได้อภิปราย โดยข้อเท็จจริงบางเรื่องเป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านได้ตั้งวอร์รูมคู่ขนานเพื่อประเมินสถานการณ์เอาไว้ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ และเรื่องญัตติขบวนเสด็จมีความหมิ่นเหม่อยู่จึงมีการหารือในพรุ่งนี้อีกครั้ง 08.00 น.

แหล่งข่าวในเพื่อไทย แจ้งว่า ใน 20 ขุนพล ของพรรคเพื่อไทย จะมี 2 ทีม แบ่งเป็นทีมอภิปราย นำโดย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคจะเปิดอภิปรายเป็นคนแรก ตามด้วย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค

จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.คนอื่นๆ อีก คนละ 10 นาที จะมี “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน เป็นคนอภิปรายสรุปในวันแรก ส่วน “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้านจะอภิปรายสรุปในวันที่ 2 ขณะที่ “ทีมตอบโต้” มีชื่อ “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี “ขจิตร ชัยนิคม” ส.ส.อุดรธานี “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ส.ส.กทม. โดยพรรคเพื่อไทยได้เวลาทั้งหมด 240 นาที 4 ชั่วโมง

แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากนี้มีการประเมินสถานการณ์ว่า ญัตติของรัฐบาลเป็นแผน “ขุดบ่อล่อปลา” ให้ฝ่ายค้านตกที่นั่งลำบาก และเป็นญัตติที่ยากยิ่งกว่ายาก เพราะหากไม่อภิปรายในประเด็นข้อเรียกร้องอันละเอียดอ่อนของกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะโดนมวลชนกดดัน แต่หากไปกล่าวก็จะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แม้เรื่องการพูดในสภาจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่คำว่า “เอกสิทธิ์” ก็ไม่ได้คุ้มครองทุกเรื่อง

ด้าน “หน่วยสืบวาระ” ของ “พรรคก้าวไกล” สืบทราบว่า ฝ่ายพรรคแกนนำรัฐบาล เตรียมตอบโต้ฝ่ายค้าน โดยนำภาพ ส.ส.ที่อยู่ในม็อบมาอ้างว่า อยู่เบื้องหลังกลุ่มผู้ชุมนุม จึงทำให้ “พรรคก้าวไกล” ต้องเตรียมแผนชี้แจงเรื่องดังกล่าวไว้ล่วงหน้า

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ปรึกษาทางใจพรรคก้าวไกล จึงออกมาแสดงแอ็คชั่น

“ผมได้ข่าวมาว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. เตรียมใช้เวทีประชุมสภาวิสามัญนี้ ในการถล่มม็อบนักเรียนนิสิตนักศึกษา และเผลอๆ อาจลามมาถล่ม ส.ส. ก้าวไกล พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และตนเองด้วย

ซึ่งถ้าเปิดสภาคุยกันมีแต่เรื่องว่า นักเรียนนักศึกษาไม่มีความคิด ถูกปลุกปั่น มีผู้อยู่เบื้องหลัง จาบจ้วง ฯลฯ ถ้าออกมาลูกนี้คงดูไม่จืดแน่ เพราะแทนที่จะเปิดสภาเพื่อหาทางออก จะเป็นการเปิดประชุมสภาที่เอาน้ำมันสาดเข้ากองไฟ

ดังนั้น ถ้า ส.ส. รัฐบาล หรือ ส.ว. คิดแบบนี้ โปรดอย่าทำ เพราะทำเมื่อไหร่เดือดแน่นอน จนคุณควบคุมไม่ได้ ตนหวังว่าการเปิดสภาจะเป็นการช่วยหาทางออก ไม่ใช่ถล่มขบวนการนิสิตนักศึกษา”

ปมร้อนในสภา อาจขยายความร้อนแรงไปสู่มวลชนนอกสภา


การอภิปรายในสมัยวิสามัญจึงต้องภาวนาให้เป็นทางออกของบ้านเมืองจริงๆ