ไอติม เสนอ 3 ทางออกประเทศ ประยุทธ์ลาออก ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
“พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพ โพสต์เสนอ 3 ทางออกประเทศ ชี้ ประยุทธ์ลาออก ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่โครงสร้าง 
.
วันที่ 27 ตุลาคม 2563 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก เรื่อง 3 เป้าหมายที่เป็นทางออกของประเทศ : ประยุทธ์ลาออก ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวมันเอง แต่เป็นหนทางสู่ทางออก
.
ข้อความ ดังนี้
.
ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการมุ่งเป้าไปที่ตัว พล.อ. ประยุทธ์ ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนำไปสู่การยื่นจดหมายต่อสถานทูตเยอรมันหลัง พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่ลาออกตามข้อเรียกร้อง
.
ผมเข้าใจถึงเจตนาของผู้ชุมนุมในการยื่นข้อเรียกร้องข้อนี้ในจังหวะนี้เพื่อเป็นกุญแจดอกแรกในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าการต่อสู้จะจบลงเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก แต่ผมต้องย้ำกับสาธารณะว่าอย่ามองการลาออกของ พล.อ. ประยุทธ์ (ถ้าเกิดขึ้น) เป็นชัยชนะในตัวมันเอง เพราะปัญหาของประเทศไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่โครงสร้าง
.
เพราะถึงแม้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก และประเทศมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างแท้จริง เราจะยังอยู่ในวังวนเดิม
.
เราจะยังมีการจับกุมคนเห็นต่างด้วยการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน หรือการสลายการชุมนุมที่ขัดหลักสากล
.
เราจะยังมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นกลาง ส.ว. แต่งตั้งที่มาเลือกนายกฯ และยุทธศาสตร์ชาติที่มาครอบงำรัฐบาล
.
เราจะยังมีความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้วเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ถูกแปรมาเป็นทางออกร่วมกันในการปฏิรูป
.
สำหรับผม ผมยืนบนหลักที่ต้องการเห็นประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
.
ถ้าเรายืนหยัดร่วมกันว่าอยากเห็นประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง ที่สถาบันพระมหาษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ร่วมกันได้ ที่ไม่ใช่ระบอบสาธารณรัฐที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงอดีต และ ที่ไม่ใช่ระบอบราชาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นเพียงไม้ประดับ ผมขอเสนอว่าทางออกของประเทศตอนนี้ ประกอบไปด้วย 3 เป้าหมาย ที่นายกรัฐมนตรี – ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม – ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง
.
1. ยึดหลักสากลและมาตรฐานเดียวกัน ในการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของทุกฝ่าย
.
สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยหรือสังคมที่ต้องการเห็นการพัฒนาของความคิดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับเขาแค่ไหน และไม่ว่าความคิดของเขาจะมีคนเห็นด้วยทั้งประเทศหรือไม่มีใครเห็นด้วยกับเขาเลย ประชาชนทุกคนก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมอย่างสันติ และรัฐมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น
.
แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา รัฐไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่กลับกลายเป็นผู้กระทำการคุกคามทั้งประชาชนและสื่อมวลชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเสียเอง รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่สันติ
.
กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลมักออกมาปกป้องรัฐบาลด้วยประโยคที่ว่า “แต่ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย” – ถึงแม้การกระทำตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการที่ (1) กฎหมายและการกระทำของรัฐบาลเป็นไปตามหลักสากล และ (2) กฎหมายถูกบังคับใช้กับทุกฝ่ายด้วยมาตรฐานเดียวกัน
.
1.1. กฎหมายและการกระทำของรัฐบาล “เป็นไปตามหลักสากล”
.
เหตุที่ผมต้องอ้างอิงถึงหลักสากลเป็นพิเศษ ก็เพราะรัฐบาลมักป่าวประกาศอยู่บ่อยครั้งว่าได้ดำเนินการตาม “หลักสากลทุกประการ”
.
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของหลักสากลตั้งแต่ต้น เนื่องจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กำหนดว่าการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ จะทำได้ต่อเมื่อ “ในยามฉุกเฉิน ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชนในชาติและการดำรงอยู่ของประเทศ” ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทย ณ เวลานั้น ยังห่างไกลจากเงื่อนไขนี้
.
เพราะฉะนั้น แม้การออกมาชุมนุมในช่วงที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง อาจเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวก็ขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ยิ่งไปกว่านั้น การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาแต่ละครั้ง ก็ขัดกับหลักสากลในหลายวิธี (https://www.facebook.com/paritw/posts/5058667324146974)
.
1.2. การบังคับใช้กฎหมายและการกระทำของรัฐบาลต่อทุกฝ่าย อยู่บน “มาตรฐานเดียวกัน”
.
ปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน เป็นปัญหาที่เรื้อรังในประเทศไทย (https://www.facebook.com/paritw/posts/3992916840722033) – การใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมก็มีปัญหาเรื่องสองมาตรฐานเช่นเดียวกัน
.
ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง เราเห็นว่ามีผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายที่ต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาลออกมารวมตัว แต่กลับมีผู้ชุมนุมเพียงฝ่ายเดียวที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาการขัดคำสั่งนี้
.
แม้กระทั่งก่อนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง กฎหมายที่มักใช้กล่าวหาผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยง ปลุกปั่น” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่เพียงมีความคลุมเครือ แต่ยังถูกบังคับใช้ต่อแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน – ผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 116 เลย ทั้งๆที่มีการปราศรัยที่ใช้ภาษาที่ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องที่อาจเข้าข่าย “ยุยง ปลุกปั่น” มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะมักมีการเรียกร้องให้ขับไล่บางคนออกจากประเทศ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 : “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร… จะกระทำมิได้”)
.
เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องให้ “หยุดคุกคามประชาชน” จึงไม่ได้เป็นเรื่องอะไรที่เกินไปกว่าการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของทุกฝ่าย โดยยึดหลักสากลและตั้งอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
.
2. แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราควบคู่กับการร่างฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด
.
อีกทางออกสำคัญของประเทศคือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีกติกาที่เป็นธรรม สอดรับกับหลักประชาธิปไตย และติดอาวุธให้ประเทศสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมได้
หลายครั้งที่สังคมมักถูกบีบให้เลือกระหว่างการแก้รายมาตรากับการร่างใหม่ทั้งฉบับ – ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องทำทั้งสองสิ่งนี้คู่ขนานกันไป และต้องเริ่มทำทั้งสองสิ่งนี้ทันที
.
การร่างฉบับใหม่มีความจำเป็น เพราะปัญหาของฉบับปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาตรงที่มาและกระบวนการด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถูกร่างในช่วงที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ ซึ่งไม่เปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความเห็น หรือ การจัดทำประชามติที่ไม่เปิดให้ทั้งสองฝ่ายรณรงค์อย่างเสรีและเท่าทียมกัน แต่กลับมีการจับกุมคนที่รณรงค์ไม่รับร่าง ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญ ณ ปัจจุบันที่มีความหลากหลาย การสร้างกระบวนการร่างฉบับใหม่ที่เปิดให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน และแสวงหาฉันทามติภายใต้ข้อเสนอต่างๆจึงยิ่งมีความจำเป็นกว่าเดิม เพราะผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง คงไม่ต้องการเพียงให้มีคนอื่นมามอบบ้านใหม่ที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ให้พวกเขา (ไม่ว่าตัวบ้านจะถูกใจพวกเขาแค่ไหน) แต่พวกเขาคงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง
.
แต่การเริ่มร่างฉบับใหม่ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรแก้ไขรายมาตราควบคู่ไปด้วย เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีอีกหลายขั้นตอน (ประชามติเพื่อถามประชาชนว่าต้องการให้มี สสร. หรือไม่ + การเลือกตั้ง สสร. + การร่างฉบับใหม่ + ประชามติรับรองฉบับใหม่) เราอาจต้องอยู่กับฉบับปัจจุบันไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้น มาตราใดที่เป็นปัญหาและสามารถแก้ได้ทันทีจึงควรได้รับการแก้ไขเลย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน
.
2.1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
.
ถ้าเราอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกที่มาร่างรัฐธรรมนูญก็ควรมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (หลักการเดียวกับการมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง)
.
สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ คือรูปแบบของ สสร. ที่ถูกเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งกำหนดให้ประกอบด้วยสมาชิก 200 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่มี 50 คนมาจากการสรรหา
.
ใน 50 คนนี้ มี 20 คนมาจากตัวแทนรัฐสภา ซึ่งหมายถึงการมอบโควตาส่วนหนึ่ง (ประมาณ 7 คน) ให้วุฒิสภา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้แสดงให้เห็นชัดถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง ขณะที่ อีก 10 คนมาจากตัวแทนนิสิต นักศึกษา ที่ไม่ได้ถูกเลือกโดยนิสิต นักศึกษาด้วยกันเอง แต่กลับถูกเลือกโดย กกต. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ขาดความไว้วางใจและตั้งข้อครหาถึงความไม่เป็นกลางมาอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นของระบอบ คสช. ในการออกแบบ สสร. เพื่อพยายามสืบทอดอำนาจต่อไปแบบเนียนๆ ผ่านการควบคุมการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป ซึ่งเราต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น
.
สำหรับใครที่กังวลว่าจะมีการตั้ง สสร. เพื่อร่างฉบับใหม่โดยไม่ถามประชาชน โปรดวางใจได้ เพราะมาตรา 256 วรรค 8 กำหนดไว้อยู่แล้ว ว่าการร่างฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติก่อนดำเนินการได้
.
สำหรับใครที่กังวลว่าการจัดประชามติจะใช้งบประมาณเยอะ ก็วางใจได้เพราะเราสามารถจัดประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่รัฐบาลประกาศว่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศในเดือนธันวาคมนี้ได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มสักเท่าไหร่
.
2.2. ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ทันที (มาตรา 272)
.
แต่ในระหว่างที่มีการร่างฉบับใหม่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจวุฒิสภา ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการสืบทอดอำนาจ และเป็นใจกลางสำคัญของความวิปริตของระบอบการเมืองไทยปัจจุบัน
.
ถึงแม้ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศควรหันมาใช้ระบบสภาเดี่ยวและยกเลิกวุฒิสภาไปเลย (https://www.facebook.com/paritw/posts/4733247263355650) แต่ผมยอมรับว่าเป็นประเด็นที่มีทั้งคนเห็นด้วยและคนเห็นต่าง ข้อเรียกร้องที่ผมคิดว่าน่าจะเรียกฉันทามติจากคนวงกว้างได้มากที่สุด คือการลดอำนาจที่ล้นฟ้าของ ส.ว. โดยเฉพาะอำนาจในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. 500 คน (ซึ่งเป็นการทำให้กรรมการสรรหา ส.ว. มีอำนาจมากกว่าประชาชน 2 ล้านเท่า) ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 272
.
ตราบใดที่มาตรา 272 ยังคงอยู่ ต่อให้นายกฯลาออก หรือ มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ประเทศเราก็ยังจะมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกนายกฯอยู่ดี
.
การยกเลิกมาตรา 272 จึงเป็นสิ่งที่ควรทำทันที (ถึงแม้จะมีการตั้ง สสร. เพื่อร่างฉบับใหม่ก็ตาม) เพราะนอกจากจะเป็นมาตราที่วิปริตที่สุดแล้ว ยังเป็นมาตราที่สามารถยกเลิกได้ทันทีภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยไม่ต้องผ่านประชามติ
.
3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภาและในสภาร่างรัฐธรรมญ เพื่อร่วมหาทางออกอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างสาธารณะ และเป็นเนื้อหาที่สำคัญต่อผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย
.
หากมองในมุมของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย แก่นเนื้อหาสาระของข้อเสนอด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเกินคาดสำหรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในเมื่อหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหรือการที่ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศ ส่วนสำคัญของการเป็น “เจ้าของร่วม” ของประเทศ ก็รวมไปถึงการมีสิทธิเสรีภาพในการชื่นชมหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเห็นในสังคม การรับรู้ถึงข้อมูลว่างบประมาณจากภาษีของพวกเขาถูกใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง และความคาดหวังว่าทุกสถาบันทางการเมืองจะดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและธำรงอยู่เพื่อช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตย
.
ถ้ามองในมุมของผู้ชุมนุมที่ออกมา “ปกป้องสถาบันฯ” อย่างสันติวิธี (ขอไม่ให้พื้นที่กับกลุ่มที่ออกมาใช้หรือเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง) ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เคียงข้างประชาชนชาวไทยมายาวนาน เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของใครหลายคน และการพูดถึงสถาบันในที่สาธารณะในเชิงวิเคราะห์นอกเหนือจากการสรรเสริญ ยังอาจเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยก่อนหน้านี้ แต่ถึงผมจะเข้าใจได้ถึงชุดความคิดแบบนี้ ส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่าการชุมนุมที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายห้ามพูดถึงประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เลย จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องสถาบันฯในระยะยาว
.
เพราะในวันที่ประชาชนมีความเห็นหลากหลาย และในวันที่ไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถอยู่ได้โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้ ไม่ใช่การ “ปิด” ไม่ให้มีใครพูดถึงเรื่องนี้เหมือนในอดีต และ ไม่ใช่การ “ปล่อย” ให้เรื่องนี้ถูกพูดแต่ในเฉพาะเวทีชุมนุมหรือโลกโซเชียลด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละวันเหมือนในปัจจุบัน แต่เป็นการ “เปิด” พื้นที่ปลอดภัยให้มีการร่วมพูดคุยและหาทางออกอย่างจริงจังเรื่องแนวทางการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่คู่ประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
.
3.1. พื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภา เสวนาวิชาการ หรือ เวทีอื่น
.
ถึงแม้ทุกเวทีควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เวทีที่อาจจะเหมาะที่สุดสำหรับการพูดคุยและหาทางออกเรื่องนี้เป็นเวทีแรกๆ คือเวทีที่การพูดคุยสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริง (เช่น รัฐสภา – แต่ต้องเป็นการพูดถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่การพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องการปฏิรูป เหมือนที่เห็นในที่ประชุมรัฐสภาวันนี้และเมื่อวาน) เวทีที่มีสภาพแวดล้อมที่เน้นให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเหตุผล (เช่น เสวนาวิชาการ) หรือ เวทีที่มีจุดประสงค์ในการสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆให้กับสังคม (เช่น รายการตามสื่อต่างๆ)
.
สำหรับใครที่มองว่าเวทีลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่ได้หรือไม่ควรเกิดขึ้น ผมขอเรียนว่าการพูดคุยถึงแนวทางการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ขัดกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ห้ามเพียงการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ต่อพระมหากษัตริย์ (ถึงแม้จากความเป็นจริงในอดีต ได้มีการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสกัดคนเห็นต่างในหลายกรณี) และวิธีการเปิดพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกที่สันติที่สุดในการลดความขัดแย้งและหาจุดร่วมระหว่างทุกฝ่าย
.
3.2. ปลดล็อก สสร. ให้พิจารณาได้ทุกหมวด ทุกมาตรา
.
อีกเวทีหนึ่งที่อาจทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยและหาทางออกเรื่องแนวทางการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ สสร. ที่อาจจะถูกตั้งขึ้นเพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
การที่บางข้อเสนอด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปกำหนดอย่างตายตัวว่า สสร. ต้องห้ามพูดถึง หมวด 1 (บททั่วไป) และ หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) อาจเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเป็นการทำให้หลายคนเข้าใจว่าการแก้หมวด 1 หมวด 2 เท่ากับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง
.
ประเด็นแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจากการเป็นรัฐเดี่ยว เป็นอะไรที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว ถึงแม้จะมีการเปิดให้พิจารณา หมวด 1 และ หมวด 2 ก็ตาม เพราะการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ถูกห้ามไว้โดยมาตรา 255 ในรัฐธรรมนูญ
.
ประเด็นที่สอง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ถูกร่างโดย คสช. ก็มีการอนุญาตให้แก้ไข หมวด 1 หมวด 2 ได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง และตราบใดที่มีการจัดทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชน ตาม มาตรา 256
.
ประเด็นที่สาม การร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งในอดีต ก็มีการทบทวนและปรับเปลี่ยนบางส่วนของหมวด 1 และ หมวด 2 อย่างเสมอมา รวมไปถึงตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันภายใต้รัฐบาล คสช. เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว
.
ประเด็นสุดท้าย บางข้อเสนอที่ถูกพูดถึงในสังคม – อย่างเช่น 10 ข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือข้อเสนอของคุณบรรยง พงษ์พานิช (https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/1536728579863769) ให้กลับไปใช้บทบัญญัติทุกอย่าง เหมือนกับที่เคยเป็นในสมัยรัชกาลที่ 9 – จะถูกถกเถียงและพิจารณาอย่างจริงจังได้ก็ต่อเมื่อการแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ถูกห้ามไว้
.
ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจและยืนยันตรงกันว่าการแก้หมวด 1 หมวด 2 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ และถ้าเราเข้าใจและยืนยันตรงกันว่าทางออกในเรื่องนี้ คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ทุกข้อเสนอได้ถูกพูดคุยแลกเปลี่ยนและเพื่อให้สังคมสามารถหาฉันทามติในเรื่องนี้ได้อย่างสันติวิธี การมี สสร. ที่พิจารณาได้ทุกหมวด ทุกมาตรา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
.
ผมหวังว่าทุกท่านจะเห็นว่าทางออกที่ประกอบไปด้วย 3 เป้าหมายนี้ ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่ “สุดโต่ง” หรือไปทำลายล้างคุณค่าที่สำคัญของประเทศ แต่เป็นเพียง “เสาหลัก” หรือหลักการพื้นฐาน ของประเทศที่ต้องการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
แน่นอนว่าในวันที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤตทางการเมืองที่มีความแตกต่างจากในอดีต ประเทศไม่เพียงต้องการผู้นำหรือนายกรัฐมนตรี ที่มีความจริงใจในการรนำพาประเทศไปสู่ทางออกตาม 3 เป้าหมายนี้เท่านั้น แต่ยังต้องการผู้นำที่มีความสามารถในการเรียกความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากทุกฝ่าย ให้มาร่วมเดินบนเส้นทางนี้ไปด้วยกันทั้งประเทศด้วย
.
ด้วยภารกิจที่ท้าทายเช่นนี้ และด้วยผลงานหรือพฤติกรรมที่เห็นมาในอดีต จึงไม่แปลกใจที่หลายคนในสังคมอาจไม่รู้สึกเชื่อมั่นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นบุคคลที่นำพาประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้
.
แต่ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ เปลี่ยนใจลาออกตามการเรียกร้องของผู้ชุมนุมจริง และมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทน ผมหวังว่าเราจะยังไม่มองว่านี่คือสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เราต้องหนักแน่นเท่าเดิมในการเรียกร้องให้นายกฯคนใหม่ดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย :
.
1. ยึดหลักสากลและมาตรฐานเดียวกัน ในการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมของทุกฝ่าย
2. แก้รัฐธรรมนูญทั้งรายมาตราและร่างฉบับใหม่ควบคู่กันไปโดยเร็วที่สุด
3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภาและสภาร่างรัฐธรรมญ เพื่อทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เพราะปัญหาของประเทศวันนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่โครงสร้าง
.
การลาออกของประยุทธ์จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือหนทางสู่ทางออก แต่ไม่ใช่ทางออกหรือเป้าหมายสุดท้ายในตัวมันเอง ที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง