ประยุทธ์ ถอยครึ่งซอย ชิงธงแก้ รธน.-ประชามติ ล็อกทางตัน “ลาออก”

รายงานพิเศษ

การเมืองถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สุดในรอบ 6 ปี คณะราษฎร 2563 โอบล้อมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปสถาบัน และ 3.ข้อสำคัญเร่งด่วนที่สุด ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออก !

จากข้อเรียกร้องของขบวนการนักศึกษา คนรุ่นหนุ่มสาว ถูกส่งไม้ต่อไปยังชาวบ้าน ร้านถิ่น ไปจนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติบทบาทก่อนทุกอย่างจะสายเกินกาล

แม้ว่ารัฐสภาจะเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอภิปรายการทำงานของรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง

แต่ฝ่ายรัฐบาลในฐานะผู้เสนอญัตติ ตั้ง 3 ญัตติ ในการเปิดอภิปราย 1.การชุมนุมต่อเนื่องในสถานการณ์โควิด ฝ่ายสาธารณสุขกังวลว่าจะเกิดโรคระบาดได้ง่าย กระทบต่อการยับยั้งโรค และความเชื่อมั่นของคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ

2.การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ผู้ชุมนุมบางส่วนขวางขบวนเสด็จ มีผู้ตะโกนด้วยคำหยาบคายรุนแรง และ 3.การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม มีการจาบจ้วงบุคคลอื่น ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินทางราชการ รัฐบาลวิตกว่าจะมีบางฝ่ายแอบแฝงเข้าไปในที่ชุมนุม ฉวยโอกาสใช้อาวุธ สร้างความปั่นป่วน อาจกลายเป็นจลาจล

ถูกมองว่าหาใช่ความจริงใจในการดับวิกฤตร้อนนอกสภา แต่เป็นการเติมเชื้อไฟมากกว่า “เป็นการถอยในรุก” ตั้งใจอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้าน ที่หนุนม็อบนักศึกษามากกว่าหาทางออก ผ่านการส่งตัวจี๊ดมาอภิปราย เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน สิระ เจนจาคะ ปารีณา ไกรคุปต์

ตามความเห็นฝ่ายค้าน “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน มองญัตติที่รัฐบาลเสนอต่อสภา เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า

“ญัตตินี้เป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระของญัตติ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย ให้ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้ รังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้แต่อย่างใด”

ประยุทธ์ ถอยในรุก

แต่จู่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า จะเร่งผลักดันวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ผ่านสภาทั้ง 3 วาระในเดือนธันวาคมนี้ โดยพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวม 7 ฉบับ

พร้อมกับผลักดันร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติให้ผ่านสภาโดยเร็ว มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา โดยให้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เมื่อผ่านสภาจะนำไปสู่การลงประชามติทันที

“พล.อ.ประยุทธ์” แบบมาเหนือเมฆ นอกจากโชว์ไทม์ไลน์ “ชิงธง” แก้รัฐธรรมนูญกลางสภา (อีกรอบ) ยังสั่งการให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เกจิกฎหมายประจำทำเนียบฯ ตอบทุกข้อเรียกร้องของ “ม็อบ -ฝ่ายค้าน”

1.ปฏิรูปสถาบัน วิษณุ ถามกลับว่า “รัฐบาลไม่ทราบ และไม่เข้าใจจริงๆ อยากฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเหมือนกัน”

2. ข้อเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยุบสภา ตามปกติต้องเกิดความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งในสภา ขณะนี้ยังไม่เกิดอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นความประสงค์ของนายกฯ ก็จะได้หารือผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ต้องเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ผูกไว้ว่าคนที่เป็นนายกฯ จะต้องมาจากบัญชีพรรคการเมือง และต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่

“ขณะนี้รัฐสภามีสมาชิกที่ออกเสียงได้ 732 คน กึ่งหนึ่งคือ 366 เสียง แปลว่าผู้ที่เป็นนายกฯ คนต่อไป จะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียง 366 เสียง ต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมด ดังที่หลายคนเรียกร้อง ก็จะต้องระดม 366 เสียง ถ้าหาไม่ได้ 366 เสียง ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเหมือนกันว่าถ้าถึงทางตันจะทำอย่างไร ถ้า ส.ว.ไม่ออกเสียงเลยแม้แต่เสียงเดียว”

แถม “วิษณุ” ยังแย้ม ว่านายกฯ ปรารภรองนายกฯ บางท่านข้อเสนอ – ทางเลือกของรัฐสภาเป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญ คือการถามประชาชน

“แต่จะถามอย่างไรเพราะถ้าออกเสียงประชามติ มาตรา 166 ห้ามออกเสียงประชามติในเรื่องตัวบุคคล ถ้ามีกรรมวิธีตั้งคำถามแยบคายแนบเนียน ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาหากเป็นข้อเสนอรัฐสภา นายกฯ จะนำเรียนประธานสภาในตอนท้ายของการประชุมว่าข้อเสนอนี้มีความเป็นไปได้อย่างไร”

ตั้งกรรมการสมานฉันท์รอบ 2

อีกทางออกหนึ่ง “วิปรัฐบาล” มีการพูดถึงข้อเสนอใหม่ คือการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาดับไฟร้อนนอกสภา โดย “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล เสนอในที่ประชุมวิปรัฐบาลสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หยิบยกตัวอย่าง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” อดีต ส.ว.นนทบุรีเป็นประธาน

แหล่งข่าวในพรรคขั้วรัฐบาล อธิบายว่า การตั้ง กมธ.สมานฉันท์รอบใหม่ จะมีการเสนอหลังการประชุมสภาเพื่ออภิปรายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ลงมติ โดยใช้อำนาจของ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง เหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มี “ดิเรก ถึงฝั่ง” เป็นประธาน ซึ่งลงนามโดย “ชัย ชิดชอบ”

เพื่อให้ดึง “บุคคลภายนอก” จากทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออก เพราะหากตั้ง กมธ.วิสามัญตามปกติจะเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมาธิการไม่ได้

และหากแต่งตั้งคณะกรรมการโดย “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นคนลงนามคำสั่ง ฝ่ายผู้ชุมนุม-ฝ่ายค้าน อาจไม่ยอมรับ

“ดังนั้น เงื่อนไขนี้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน และประธานรัฐสภาน่าจะไม่ขัดข้อง ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ 6 พรรคฝ่ายค้านจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วย กมธ.ชุดนี้ก็เกิดได้”

ฝ่ายค้านดูท่าที

หันกลับมามองฝ่ายค้าน ยังรอดูจังหวะ-ท่าที ความจริงจังฝ่ายรัฐบาล

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อ่านเกมการเมืองเกมนี้ในนาม “ส่วนตัว” ว่า การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาหาทางออก ศึกษาปัญหา ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การตั้ง กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ ก็ไม่ได้สาระอะไร เน้นแค่สรุปความเห็น กมธ.แต่ละคนว่าคิดเห็นอย่างไร และไม่มีการชี้ชัดว่าจะต้องรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น การตั้ง กมธ.ขึ้นมาหาทางออกประเทศไม่น่ามีประโยชน์ เพราะปัญหาของประเทศรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว

ย้อนยุค “ดิเรกโมเดล”

ขุดรากเหง้าคณะกรรมการสมานฉันท์ ยุค “ดิเรก” เกิดขึ้น คล้าย ๆ กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดย

ไม่ลงมติ เพื่อรับฟังความเห็นจากรัฐสภา เรื่องสถานการณ์เกี่ยวกับมีกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองอันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในวันที่ 22-24 เมษายน 2552 ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รอบแรก แต่กลายเป็นเวทีที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย ไล่บี้ฝ่ายรัฐบาลให้รับผิดชอบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว

หลังการอภิปรายจบลง “อภิสิทธิ์” ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ 1.คณะกรรมการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 8-15 เมษายน 2552 2.คณะกรรมการรวบรวมข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ “ชัย ชิดชอบ” เป็นประธานรัฐสภาขณะนั้นได้ลงนามคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 39 คน

ทางออกแก้รัฐธรรมนูญ

นำมาสู่การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ขอเปิดอภิปรายฟังความเห็นจากรัฐสภาอีกครั้ง เมื่อ 16-17 กันยายน 2552 เพื่อขอความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ที่ได้จากการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขรวม 6 ประเด็น

1.ประเด็นยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 237) ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง

2.ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 93 ถึงมาตรา 98)

3.ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 111 ถึงมาตรา 121)

4.ประเด็นการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) 5.ประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 265) และ 6.ประเด็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 266)

นำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 190 เรื่อง การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา เรื่องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากพวงใหญ่เรียงเบอร์-สัดส่วน มาเป็นระบบเขียนเดียวเบอร์เดียว-one man one vote

จากนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง อาทิ

1.ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากตัวบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมืองและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง หากได้บุคคลที่ไม่มีคุณธรรมและเล่นพรรคเล่นพวก การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปได้ยาก

2.การปฏิรูปการเมืองต้องแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง การผูกขาดระบบเศรษฐกิจ


กลยุทธ์ ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีทั้งรุก-ทั้งถอย ตีฝ่าวงล้อมม็อบคณะราษฎร 2563 ด้วยการประกาศแก้รัฐธรรมนูญ ไต่บันไดหาทางออกจากมหาวิกฤต ครั้งสำคัญ