‘เพื่อไทย’ รุกไกล ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ เปิดฉากเติมไฟม็อบไล่ ‘ประยุทธ์’

เพื่อไทย-ประยุทธ์

‘เพื่อไทย’ รุกไกลเตรียมข้อมูล ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ เปิดฉากใหม่ เติมไฟม็อบไล่ ‘ประยุทธ์’

ผลพวงการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อหาทางออกจากวิกฤตชุมนุมม็อบราษฎร

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผ่านศึกในสภาไปได้อย่างไม่ยากเย็น แถมเปิดฉากเกมรุกที่มาเหนือเมฆ แบบฝ่ายค้านไม่ทันตั้งตัว

แย้มช่องทำประชามติหาทางออกวิกฤตม็อบพ่วงไปกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่พรรคพลังประชารัฐประกาศไม่ส่ง
ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ชิงการนำแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 265 เพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องผ่านรัฐสภาวาระ 3 ในเดือนธันวาคม

พร้อมสั่งให้รัฐสภาเร่งคลอดกฎหมายประชามติ โดยใช้ช่องทาง “กฎหมายปฏิรูป” ลัดขั้นตอนการพิจารณาในชั้นสภาล่าง-สภาสูง ให้ ส.ส.-ส.ว. พิจารณารวมกันในคราวเดียว เพื่อลุยประชามติรัฐธรรมนูญในต้นศักราชหน้า

และขุดกรุ “มุขเก่า” ตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา ปักหมุดเจรจาแกนนำม็อบ โดยอาศัยอำนาจ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาเซ็น คำสั่งตั้ง เพื่อ “ความเป็นกลาง” ขึ้นมาหาทางออกร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม มีการประสานไปยัง “สถาบันพระปกเกล้า” ให้ดีไซน์รูปแบบของคณะกรรมการปรองดอง

แถมยังประกาศว่าการยุบสภา-ลาออก ไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตัน

“พล.อ.ประยุทธ์” กุมความได้เปรียบในสภา จึงมีรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา
“พล.อ.ประยุทธ์” มีท่าทียิ้มแย้ม เดินทักทายรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล

หากแต่แนวต้านในระบบรัฐสภา อย่าง “เพื่อไทย” ที่มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นหัวหน้า และ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เป็นเลขาธิการพรรค กำลังปรับยุทธศาสตร์สู้รบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

นับตั้งแต่ปรับโครงสร้างบริหารพรรค กวาดทีม “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ออกไปจากทีมยุทธศาสตร์บริหาร การรุกทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ช่วงแรกยังไม่หวือหวาเพราะยังมีปรับองคาพยพภายใน

จากเดิมที่จะรุกคืบมิติเศรษฐกิจปัญหาปากท้อง แต่ตอนนี้ต้องพลิกแผน 180 องศา เดินหน้าใส่เกียร์ล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่

หลังศึกอภิปรายซักฟอก-หาทางออกชาติบ้านเมืองโดยไม่ลงมติ ในวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน หารือนอกรอบกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค แสดงแอ็กชั่นครั้งแรกเรื่อง “บอยคอต” คณะกรรมการปรองดองรอบใหม่

“ประเสริฐ” กล่าวในฐานะเลขาธิการพรรคว่า ได้คุยกันเบื้องต้นกับพรรคฝ่ายค้าน เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เป็นการยื้อเวลา ดังนั้น การจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ ต้องดูเงื่อนไขสำคัญคือ…

“นายกฯต้องลาออก ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับ และแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ประเด็น คือ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือก
นายกรัฐมนตรี ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้ประกาศคำสั่งของ คสช.อยู่เหนือกรอบรัฐธรรมนูญ และแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ควรมีกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนด้วย ถึงคุยกันได้และเข้าร่วมคณะกรรมการ”

“ถ้านายกฯไม่ลาออก แม้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา คณะกรรมการชุดนี้ก็ไม่มีอำนาจให้นายกฯลาออกอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลเหมือนเป็นเจ้าภาพ แต่ถ้าตัวนายกฯ ไม่อยู่ เชื่อว่าแรงกดดันต่าง ๆ ก็ไม่มี เราอยากให้นายกฯ ถอยออกมาก่อน ถ้านายกฯถอยออกมาเราก็ยินดีที่จะเข้าร่วม แต่ถ้านายกฯยังอยู่มันคุยกันไม่ได้หรอก”

เลขาธิการเพื่อไทย ยกตัวอย่างที่เขาเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจก้าวล่วง กดดันฝ่ายนิติบัญญัติ “ตอนโหวตญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และ 6 ญัตติของพรรคเพื่อไทย ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการตอน 6 โมงเย็น รัฐสภายังไม่รู้จะโหวตอย่างไรเลย ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ประธานชวน หลีกภัย ก็เตรียมกรรมการนับคะแนนแล้ว แต่สุดท้ายไม่กี่นาทีก็เปลี่ยนเป็นตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ พล.อ.ประยุทธ์กำหนดทิศทางอยู่แล้ว”

หลังจากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป 1 พฤศจิกายน เพื่อไทยเตรียมแผนรุกต่อเนื่อง เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ทันที

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คิดว่าในกลางเดือนพฤศจิกายนน่าจะเกิดขึ้น การตีเหล็ก ถ้าจะตีต้องตีตอนร้อน
ตอนที่กำลังเซ”

“ดังนั้น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็น priority แรก เตรียมไว้แล้วไม่น้อยกว่า 5-6 เรื่องที่จะซักฟอกรัฐบาล และจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวก็กระทบหมดทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยืนยันว่า การเดินเกมของเพื่อไทยในสภาจะหนักหน่วงขึ้นในยุคนี้”

เพื่อไทย เดินเกมรุกในฝ่ายนิติบัญญัติ คู่ขนานกับม็อบมวลชนราษฎรนอกสภา

หวัง “ปิดเกม” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้ความอึด ถึก ทนทุกสถานการณ์

บนความเชื่อว่าใครดำน้ำได้นานกว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ จะเป็นฝ่ายชนะ