2 คน ยลตามช่อง “สวัสดิการแห่งรัฐ” 3.6 หมื่นล้าน ลดภาระคนจน VS เอื้อเจ้าสัว?

แอฟเฟ็กต์บัตรสวัสดิการประชารัฐหรือ “บัตรคนจน” มีทั้งด้านบวก-ด้านลบ พุ่งตรงไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนผู้คิด-ผู้ริเริ่ม-ผู้อนุมัตินโยบาย ควันออกหู

11.67 ล้านคน ที่ผ่านด่านกลั่นกรอง-เซ็นเตอร์การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ได้รับมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้ “รูดปรื๊ด” ของกิน-ของใช้ ค่าเดินทาง คิดเป็นภาระงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ด้านหนึ่งรัฐบาลมีจุดประสงค์ผลิตนโยบายเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับ “คนจน” ที่มีรายได้ต่อวัน/วันละ 82 บาทต่อวัน หรือต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี

แต่อีกด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นนโยบาย “เอื้อเจ้าสัว” ทั้งเครือสหพัฒน์ เจ้าพ่อค้าปลีกไทยเบฟฯ และอาณาจักร ซี.พี. ซึ่งเป็น “เถ้าแก่”-“เจ้าสัว” นั่งอยู่ในคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ

“ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในชนบท-เกษตรกร และยังนั่งเก้าอี้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติในรัฐบาล-คสช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะทำลายเศรษฐกิจชุมชน ในอดีตชาวบ้านใช้เงินจับจ่ายสินค้าร้านค้าในชุมชน ซื้อเห็ด ซื้อหน่อไม้ ซื้อของป่า ซื้อในชุมชนได้ แต่เวลานี้รัฐบาลไปบังคับให้ซื้อจากร้านธงฟ้าประชารัฐ สินค้าที่อยู่ในร้านค้ามาจากซูเปอร์มาร์เก็ตของเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านที่ซื้อสินค้าตามร้านค้าในชุมชน

“เป็นการทำลายเศรษฐกิจฐานราก เป็นการทำนโยบายที่ไม่รอบคอบ เป็นการคิดนโยบายจากข้างบนลงข้างล่าง ทำให้ข้างล่างปั่นป่วนไปหมด นโยบายหลายหมื่นล้านถูกดูดขึ้นไปข้างบนหมด เศรษฐกิจข้างล่างไม่หมุน ซื้อปั๊บขึ้น ซื้อปั๊บขึ้น ชาวบ้านจึงรู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่ฟื้นสักที เพราะมันไม่เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจข้างล่าง กระจุกตัวอยู่บนยอดสุดของเศรษฐกิจ แต่ถ้าซื้อขายกันในหมู่บ้าน พ่อค้าแม่ค้าก็ได้เงิน เงินก็หมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้าน รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้ลงไปข้างล่าง ให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้”

สวนทางกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ชุดเดียวกับประพัฒน์ ยืนยันว่า นโยบายนี้ “ไม่ได้เอื้อเจ้าสัว” เพราะหลักการของนโยบาย คือ บริษัทค้าปลีกจะต้องนำสินค้าเข้ามาร่วมโครงการโดยมีส่วนลดมากเพียงพอเพื่อให้ชาวบ้านซื้อสินค้าในราคาถูก แล้วใครได้ คนจนได้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้าต้องขยายเครือข่ายให้กว้างออกไป ได้บอกกับสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า ให้นำวิสาหกิจชุมชนทั้งหลายที่อยู่ตามต่างจังหวัดผลิตสินค้าจำเป็น เพื่อป้อนเข้าไปในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะทำให้สินค้าของชุมชนที่ขายไม่ออก ผลิตสินค้าที่ชาวบ้านต้องการและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้จะหาเงินมาเพิ่มวงเงินในบัตรให้อีก

“บริษัทที่เข้าร่วมโครงการมีหลายบริษัท ไม่ใช่มีแต่เจ้าสัว ระยะเริ่มต้นถ้าไม่เอาสินค้าจากบริษัทเหล่านี้จะเอามาจากที่ไหน รัฐบาลช่วยคนจนให้แล้ว แต่หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องขยายขอบเขตออกไปให้กว้างอีก ขยายเน็ตเวิร์กของซัพพลายเออร์ แทนที่จะมีเพียงผู้ประกอบการจากบริษัทเอกชน ในอนาคตจะขยายไปยังร้านค้าวิสาหกิจชุมชน แต่ผมว่านะ แค่คิดให้คนจนได้ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว”

เป็นทรรศนะ 2 คน ยลตามช่อง คนหนึ่งต้องการให้เม็ดเงินทุกเม็ดกระจายทั่วถึงรากหญ้า อีกคนหนึ่งกำลังต่อยอดนโยบายไปถึงเศรษฐกิจรากหญ้าอย่างแท้จริง