ไอติม พริษฐ์ เชียร์รับทุกร่างแก้ รธน. อย่ากังวลล้มการปกครอง

ไอติมเชียร์รับร่าง
ภาพจากเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu

อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพ “ไอติม พริษฐ์” โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา รับร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ อย่ากังวลล้มการปกครอง-นิรโทษกรรม ให้ห่วงอนาคตบ้านเมือง 

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสมาชิกรัฐสภา เรียกร้องให้มีมติให้รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ดังนี้

ถึงสมาชิกรัฐสภา

ตลอด 1 วันที่ผ่านมา ท่านคงได้เห็นแล้วว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถูกจับตามองจากคนทั้งสังคม

มีประชาชนจำนวนมากเฝ้าชมการทำหน้าที่ของพวกท่าน บางส่วนยอมกระทั่งเอาสวัสดิภาพในชีวิตของตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อแลกกับการยืนยันข้อเรียกร้องที่ว่า ร่างของประชาชนต้องได้ไปต่อ

ในฐานะประชาชนธรรมดา ผู้เป็นเพียงหนึ่งในรายชื่อที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw ผมไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสั่งการให้พวกท่านตัดสินใจไปในทางหนึ่งทางใด

สิ่งเดียวที่ผมมีเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ คือสิทธิในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาเห็นแก่เจตจำนงของประชาชน และเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ

เพราะการรับทุกร่างเท่านั้น ที่จะคลี่คลายวิกฤติทางการเมืองครั้งนี้ ให้พอมองเห็นทางออก

สำหรับท่านที่ตัดสินใจแล้วว่าจะลงคะแนนให้ร่างของภาคประชาชน ผมขอให้ท่านยืนหยัด มั่นคง และไม่ลังเลไปลังเลมา

สำหรับท่านใดที่ยังไม่แน่ใจถึงข้อดีของร่างของภาคประชาชน ผมขอเชิญชวนให้ท่านตั้งใจฟังการอภิปรายในรัฐสภาของผู้ชี้แจงจาก iLaw เมื่อวานอีกสักครั้ง

แต่สำหรับท่านใดที่กังวลใจกับข้อกล่าวหาต่างๆ ผมขอถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อกังวลหลักของหลายท่าน หากจะช่วยลดความหวาดระแวงและทำให้ท่านเปิดใจรับฟังมากขึ้น

  1. “อย่ากังวลเรื่องการล้มล้างการปกครอง”

บางท่านได้แสดงความกังวล ว่าการที่ร่างของภาคประชาชนเป็นร่างเดียวที่เปิดให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาทุกหมวดทุกมาตรา (รวมถึงหมวด 1 และ หมวด 2) จะเสี่ยงต่อการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมขออนุญาตคลายความกังวลของท่าน ดังนี้

  1. i) การแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 ไม่สามารถล้มล้างการปกครองได้

– มาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัด ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถทำได้หากนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ การเปลี่ยนรูปแบบรัฐจากการเป็นรัฐเดี่ยว

– มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่บางท่านเห็นชอบ ยังเปิดช่องให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ตราบใดที่มีการทำประชามติถามประชาชน

  1. ii) หมวด 1 และ หมวด 2 ถูกแก้ไขมาโดยตลอด และไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง

– จากรัฐธรรมนูญ 2540 มาสู่ รัฐธรรมนูญ 2550 มีการแก้ไข มาตรา 3 ในหมวด 1 โดยเติมประโยคที่ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” – การแก้หมวด 1 ตรงนี้ ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการตอกย้ำความสำคัญของหลักนิติธรรม

– จากรัฐธรรมนูญ 2550 มาสู่รัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขหมวด 2 หลังจากทำประชามติกับประชาชนไปแล้วรวมจำนวน 6 มาตรา รวมไปถึงการแก้มาตรา 16 ให้เขียนว่า พระมหากษัตริย์จะ “ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้” เวลาไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร – การแก้หมวด 2 ตรงนี้ ก็ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

iii) การเปิดให้พิจารณาหมวด 1 หมวด 2 เป็นวิธีเดียวในการหาฉันทามติจากทุกฝ่าย เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

– ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างสาธารณะ และเป็นเนื้อหาที่สำคัญต่อผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

– การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในรูปแบบของ สสร. ที่เปิดให้มีการพิจารณา หมวด 1 หมวด 2 จึงมีความจำเป็น ต่อการเปิดให้เนื้อหาสาระของทุกข้อเสนอด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ (ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย) ได้ถูกพูดคุยแลกเปลี่ยนและผสมผสานบนพื้นฐานของเหตุและผล เพื่อให้สังคมหาฉันทามติในเรื่องนี้ได้อย่างสันติวิธี ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาว่าให้มีการปฏิรูปหรือไม่มีการปฏิรูป และถ้าให้มีการปฎิรูป จะปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม

– เสรีภาพอย่างหนึ่งที่รัฐไม่มีทางควบคุมได้ คือเสรีภาพในความคิด และในวันที่ผู้คนมากมายมีความคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การพยายามบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันหรือหยุดคิดเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ และเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

– ในเมื่อความคิดนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ทางออกของรัฐที่มีวุฒิภาวะ จึงไม่ใช่การปิดประตูไล่ให้ทั้งสองฝ่ายไปแสดงความเห็นบนเวทีชุมนุมหรือในพื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นการเปิดประตูให้ทุกความใฝ่ฝันและทุกความกังวลได้ถูกพิจารณาในพื้นที่ปลอดภัยในระบบรัฐสภาอย่างเช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ

  1. “อย่ากังวลเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทุจริต”

บางท่านได้แสดงความกังวล ว่าการที่ร่าง iLaw มีการยกเลิกกฎหมาย ป.ป.ช. อาจนำไปสู่การตีความเพื่อให้คุณแก่ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดหรือกำลังถูกดำเนินคดีตามข้อกฎหมายนี้ ที่อาจเปรียบเสมือนการนิรโทษกรรมคนที่ถูกตัดสินว่าผิดในคดีทุจริตที่ผ่านมา ผมขออนุญาตคลี่คลายความกังวลของท่าน ดังนี้

i) ในทางกฎหมาย อาจไม่ตีความเป็นการให้คุณหรือนิรโทษกรรมเสมอไป – จากการปรึกษานักกฎหมายหลายคน มีความเห็นที่หลากหลายว่าการยกเลิกกฎหมายจะนำไปสู่การให้คุณย้อนหลังที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมได้จริงหรือไม่

ii) ถึงจะมีความเสี่ยงต่อการตีความให้คุณแก่ผู้กระทำผิดจริง แต่เราสามารถปิดช่องไม่ให้การนิรโทษกรรมเกิดขึ้นได้ ในวาระที่ 2 โดยไม่ต้องปัดตกในวาระที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงการโหวตรับหลักการเกี่ยวกับการแต่งตั้งองค์กรอิสระและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมาใหม่ – เช่น การแปรญัตติประมาณว่า “การยกเลิก พ.ร.ป. ป.ป.ช. ตามข้อเสนอในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อคดีความที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือคดีความที่กำลังดำเนินการอยู่ตามกฎหมายนี้”

iii) iLaw ได้ประกาศชัด ว่าการยื่นข้อเสนอเรื่ององค์กรอิสระ ไม่ได้มีเจตนาในการนิรโทษกรรม แต่เป็นเจตนาของการรีเซ็ตองค์กรอิสระเพื่อให้โครงสร้างและกระบวนการสรรหามีความเป็นกลางมากขึ้น จากปัจจุบันที่ ส.ว. 250 คน มีอำนาจชี้ขาดในการอนุมัติรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ

  1. “โปรดกังวลเรื่องอนาคตของบ้านเมือง”

ผมไม่อาจล่วงรู้ว่าจดหมายฉบับนี้จะช่วยให้ท่านคลายกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ได้มากแค่ไหน แต่สิ่งสุดท้ายที่อยากวิงวอน คือขอให้ท่านโปรดกังวลต่ออนาคตของบ้านเมือง

ในวันที่ประชาชนถามหา “ความจริงใจ” ของรัฐบาลและรัฐสภาในการพิจารณาข้อเสนออันเรียบง่ายของพวกเขา ผมอยากเรียกร้องให้ท่านโหวตรับหลักการร่างของภาคประชาชนในวาระที่ 1 เพื่อให้ไปสู่การพิจารณาต่อในส่วนของรายละเอียดเนื้อหาในวาระที่ 2

ถึงแม้ร่างนี้อาจมีรายละเอียดบางส่วนที่ท่านไม่เห็นด้วย หรือถึงแม้ร่างนี้อาจมีบางข้อความที่ยังไม่รัดกุมเท่าที่ควรในแง่เทคนิคกฎหมาย แต่ผมไม่อยากให้ท่านนำตรงนั้นมาเป็นเหตุผลในการไม่รับหลักการของร่าง เพราะข้อกังวลทั้งหมดนี้สามารถถูกพูดคุยและคลี่คลายได้ในวาระที่ 2

หากตัดสินใจปัดตกร่างของภาคประชาชน ท่านอาจถูกประชาชนมองว่าท่านไม่มีความจริงใจที่จะคลี่คลายสถานการณ์ ไม่พิจารณาข้อเสนอของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม และไม่พร้อมที่จะประนีประนอม

นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตัวท่านเองแล้ว รัฐสภาที่ควรเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน จะถูกทำลายความเชื่อมั่น และการกระทำของท่านอาจเร่งให้อุณหภูมิของบ้านเมืองที่กำลังคุกรุ่นจากการใช้ความรุนแรงเกินเหตุของรัฐเมื่อวานนี้ พุ่งสูงขึ้นจนถึงจุดเดือด จนมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญเสีย ซึ่งไม่ว่าท่านหรือผม ล้วนไม่อยากเห็น

หากการรับฟังคำอธิบายของคนที่ท่านไม่รู้จักอย่างผม จะเป็นเรื่องลำบากหรือห่างไกลตัวท่านเกินไป ผมขอให้ท่านนึกถึงอนาคตของลูกหลานท่านเอง

ถ้าท่านอ่านมาถึงข้อความนี้ ก่อนจะลงมือโหวต ผมขอความกรุณาท่านหยิบมือถือขึ้นมาและโทรถามพวกเขาสักหน่อย ว่าพวกเขาอยากเติบโตขึ้นมาในอนาคตแบบไหน

อนาคตที่เสียงของเขาไม่สำคัญ หรือ อนาคตที่เขามี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันกับทุกคนในประเทศ

อนาคตที่เต็มไปด้วยการทุจริตและการโกง หรือ อนาคตที่ทุกองค์กรของภาครัฐถูกตรวจสอบได้

อนาคตที่รัฐปฏิบัติกับเขาด้วยมาตรฐานที่ต่างจากผู้มีอำนาจ หรือ อนาคตที่กฎหมายทุกฉบับถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

อนาคตที่เขากำหนดไม่ได้ หรือ อนาคตที่เขาเป็นเจ้าของ

โปรดเลือกอนาคตให้ลูกหลานในแบบที่พวกเขาปรารถนาเถอะครับ

ด้วยความเคารพ

พริษฐ์ วัชรสินธุ

#1ในแสนเสียงแก้รัฐธรรมนูญ #รับทุกร่างคือทางออก

ไอติมเชียร์รับทุกร่างคือทางออก