แบงก์เป็ด “ศรีสุวรรณ” ชี้มีความผิด แต่ ธปท. ยังไร้คำตอบ

แบงก์เป็ดม็อบ

การชุมนุมเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.63.) นอกจากจะจบลงด้วยความรุนแรง เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิง ยังมีดราม่าอีกหลายเรื่องตามมา หนึ่งในนั้นคือการใช้ “ธนบัตรจำลอง” 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ 1 วัน ทางเพจเฟซบุ๊ก คณะราษฎร โพสต์ข้อความระบุว่า ในการชุมนุม จะมีการใช้ธนบัตรจำลอง (เอกสารคล้ายธนบัตร) ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ ประเดิมแจกจำนวน 3,000 ใบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมนำไปใช้ซื้ออาหารกับ CIA (พ่อค้าแม่ค้าที่นำอาหารเข้าไปขายในม็อบ) ข้อความดังนี้

ธนบัตรของราษฎร พร้อมประกาศใช้แล้ว 25 พฤศจิกายน 2563 ประเดิมแจกหน้าสำนักงานทรัพย์สิน 3000 ใบ เพื่อช็อปปิ้งกับเหล่า CIA

ปล.สามารถใช้ซื้อของกับร้าน CIA ที่ร่วมรายการ และใช้ได้จริงตามมูลค่าหน้าธนบัตร

#ม็อบ25พฤศจิกา #เงินของราษฎร #กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก คณะราษฎร

ทางเพจฯ คณะราษฎร ยังได้โพสต์ภาพธนบัตรจำลองดังกล่าว ซึ่งใช้แทนคูปอง มูลค่า 10 บาท ตรงกลางเป็นภาพเป็นเหลืองสวมมงกุฎ คาดว่าเป็น “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” ที่สวมมงกุฏสีทอง พร้อมแขวนเหรียญรูป “เพนกวิน”

ส่วนด้านซ้ายเป็นภาพหมุดคณะราษฎร 2563 ด้านล่างมีข้อความว่า คณะราษฎร เงินของราษฎรได้มาโดยใช้แรงงานเข้าแลก ขณะที่ด้านขวาเป็นภาพนกพิลาบสีขาวกางปีกเหนืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีข้อความด้านล่างว่า ข้าพระพุทธเจ้า ราษฎรอิ่มแก๊สน้ำตาและนำสารเคมีจจากภาษีประชาชน ด้านบนขวาเขียนว่า ธนบัตรนี้ใช้ซื้อของร้าน CIA ได้

เมื่อเข้าสู่วันที่ 25 พ.ย. ก่อนที่กลุ่มราษฎร 63 จะเริ่มชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในเวลา 15.00 น. แนวร่วมกลุ่มราษฎร 63 ได้นำธนบัตรจำลองดังกล่าวมาโชว์สื่อมวลชน ก่อนแจกจริงให้กับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ทั้งหมด 3 พันใบ มูลค่า 3 หมื่นบาท มีเงื่อนไขว่าใช้ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น

วิธีการแจก เดิมจะแจกบริเวณเวทีปราศรัยคนละ 4 ใบ หรือ 40 บาท แต่เมื่อประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพราะส่วนใหญ่อยากได้เป็นที่ระลึกมากกว่านำไปใช้

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก สถาบันทิศทางไทย-Thai Move Institute ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยระบุว่า “#แบงค์เป็ดเหลือง ใช้แทนเงินสด ซื้อสินค้าในม็อบ!! มีความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”

กระทั่งวันนี้ (26 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ว่า

ตามที่กลุ่มคณะราษฎร นัดรวมตัวชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้ผลิตธนบัตร หรือ แบงก์เป็ด 3,000 ใบ มูลค่าใบละ 10 บาท แจกจ่ายกับผู้ชุมนุมให้ไปใช้ได้กับร้านค้าร่วมรายการ 10 กว่าร้านนั้น

การผลิต การจ่ายแจก หรือนำออกมาใช้ซึ่งธนบัตรเป็ดดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งผู้ผลิต ผู้จ่ายแจก ผู้นำไปใช้ และร้านค้าผู้รับธนบัตรดังกล่าว ใน 3 ความผิดคือ

ศรีพูดเรื่องแบงก์เป็ด
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ศรีสุวรรณ จรรยา

พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ในมาตรา 9 ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240  ที่บัญญัติว่า ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 400,000 บาท

ส่วนผู้ที่นำธนบัตรเปิดออกใช้จ่ายก็มีความผิดตาม มาตรา 244  ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 300,000 บาท ดังนั้น การผลิตและนำออกมาจ่ายแจกให้ผู้ชุมนุมและร้านค้าใช้ธนบัตรเป็ด จึงเข้าข่ายความผิดทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถดำเนินการจับกุมดำเนินคดีได้ทันที

หลังนายศรีสุวรรณโพสต์ข้อความดังกล่าว ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า หากการแจกแบงก์เป็ดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นการแจกคูปองส่วนลดหรือบัตรกำนัลของร้านค้าต่างๆ ก็น่าจะเป็นความผิดเช่นกัน เหตุใดนายศรีสุวรรณจึงไม่ร้องเรียนเรื่องนี้บ้าง

ด้าน ข่าวสด รายงานว่า จากการสอบถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกลุ่มไลน์ ที่ทางสื่อสารองค์กร ธปท. ได้เปิดไว้ให้สื่อมวลชน ฝากคำถามไปถึงผู้บริหาร ซึ่งที่ผ่านมาให้ความร่วมมือในการตอบเป็นอย่างดีนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นดังกล่าวไปตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า “แบงก์เป็ดในทางกฎหมาย สามารถทำได้หรือไม่” เนื่องจากมีการนำมาใช้แลกเปลี่ยนเสมือน ธนบัตร แต่มีการจำกัด มีมูลค่าเฉพาะพื้นที่ในการใช้ หรือ ตามความเห็น ธปท. พิจารณาว่า แบงก์เป็ด เข้าข่ายเป็น การปลอมแปลงธนบัตร หรือไม่อย่างไรนั้น

ปรากฏว่า จนถึงเวลา 12.30 น.ของวันที่ 26 พ.ย. ไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้บริหาร ธปท. ในฐานะกำกับดูแลเรื่องนี้ ออกมารับคำถามหรือให้ความเห็นแต่อย่างใด จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า การกระทำลักษณะนี้ ทำได้หรือไม่ หรือ ขัดกฎหมายหรือไม่