เปิด 6 แคนดิเดตนายกฯคนใหม่ “ใน-นอกบัญชี” คู่ “ผู้มีบารมีนอกสภา”

ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปม “บ้านพักในค่ายทหาร” ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 “พล.อ.ประยุทธ์” จะ “พ้นคณะ” หรือ “พ้นมลทิน” สิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดไปจนกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “สมัยสอง” จะ “ครบวาระ” หรือเกิดอุบัติเหตุต้อง “โบกมือลา”ตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนเวลาอันควร

คือใคร ? จะเป็น “นายกฯคนที่ 30” และจะเป็น “คนใน” หรือ “คนนอก”

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดทาง “นายกฯคนถัดไป” เส้นทางที่ 1 “นายกฯในบัญชีพรรคการเมือง” มี 5 คน จาก 2 พรรครัฐบาล 1 พรรคฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ซึ่งถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองไม่เกิน 3 รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเลือกตั้ง ประกอบมาตรา 159 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 หรือมี ส.ส.จำนวน 25 คนขึ้นไป

รายชื่อนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส. 25 คนขึ้นไป มีจำนวน 5 พรรค แบ่งออกเป็นพรรคฝั่งรัฐบาล 3 พรรค ได้แก่ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคได้แก่ เพื่อไทย และ ก้าวไกล

พรรครัฐบาล พลังประชารัฐ-แกนนำรัฐบาล 120 เสียง เสนอ “พล.อ.ประยุทธ์” ชื่อเดียว ทำให้เสียเปรียบพรรคอื่น

ทว่า เหลือเพียงชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ในบัญชีนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว

ดังนั้น หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “พ้นตำแหน่ง” จะทำให้ “หมดสิทธิ์” ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (8) กำหนดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีว่า

“ต้องไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง”

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ถูกจัดวางเป็น “เต็งหนึ่ง” ที่จะได้รับตำแหน่ง “นายกฯส้มหล่น” มากที่สุด เพราะมีจำนวน ส.ส. 61 เสียง เป็น “อันดับสอง” ของพรรครัฐบาล

แต่ “เสี่ยหนู” ยังไม่เล่นตามเกม “ขอเป็นรองนายกฯ ที่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ” ยืนยัน ไม่ทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ “มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน”

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรค 52 เสียง ยังคงมีชื่อ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อยู่ในแคนดิเดตนายกฯของพรรค แม้ลาออกจาก ส.ส.-ยุติบทบาทหัวหน้าพรรค แต่มีบทบาท “นอกพรรค” แสดงตัววาระการเมืองสำคัญ ๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปรองดอง-สมานฉันท์

พรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย 134 เสียง เหลือโควตา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ส่วน “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ชิงลาออกจากพรรคไปแล้ว

ส่วนพรรคก้าวไกล-อดีตพรรคอนาคตใหม่ ถึงแม้จะมา 54 เสียง แต่ต้อง “แพ้ฟาวล์” เพราะ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตแคนดิเดตพรรคสีส้ม ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง-หมดสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ก่อนที่ “นายกฯในบัญชี” จะก้าวข้ามธรณีประตูทำเนียบรัฐบาล-เหยียบเชิงบันไดตึกไทยคู่ฟ้า จะต้องคิดเลขเร็ว-ถอดสมการคณิตศาสตร์การเมืองในสภา เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสาม ต้องได้เสียงเห็นชอบ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. (487) หรือ 244 เสียง

ขณะนี้จำนวนเสียงของ “สองสภา” มีจำนวน 732 เสียง แบ่งออกเป็น ส.ส. 487 เสียง และ ส.ว. 245 เสียง

เสียงพรรคร่วมรัฐบาลรวมกันแล้ว 18 พรรค 275 เสียง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 120 เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วยเพื่อไทย 134 เสียง ก้าวไกล 54 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียง บวกกับอีก 1 เสียง ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (เศรษฐกิจใหม่)

ฝ่ายค้านอิสระ ไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้อำนาจวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกฯ โดยกำหนดให้ “ระหว่างห้าปีแรก” การให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว. (732) และต้องมีคะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” หรือ 367 เสียง

“นายกฯในบัญชี” ต้องผ่านด่านถึง “สองก๊อก”

ขณะที่ “นายกฯนอกบัญชี” รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เขียนไว้เพื่อ “ผ่าทางตัน” กรณีเกิด “เดดล็อก” ไม่สามารถเลือก “นายกฯในบัญชี” ได้ โดยให้สมาชิกทั้งสองสภา “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” หรือ 366 เสียง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอ “มติยกเว้น” ไม่ต้องเสนอชื่อ “นายกฯในบัญชี” โดยใช้เสียงเห็นชอบ “ไม่น้อยกว่าสองในสาม” ของสองสภา หรือ 488 เสียง

หากกล่าวถึง “คนนอก” มีทั้งที่เป็น “คนนอก” และ “คนใน” นอกบัญชีนายกฯ ที่มี “แสงในตัวเอง”

“คนใน” นอกบัญชีนายกฯ ที่ถูกพูดถึงในที่แจ้ง อย่าง “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ได้รับการยอมรับทั้งสภาล่าง-สภาสูง ตั้งแต่ก่อนนั่งบัลลังก์นิติบัญญัติ มีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เพราะมี “รายการคุณขอมา”

“อดีตนายกฯสองสมัย” วางบทบาท “ขุนค้อน” ได้รับความเคารพยำเกรงจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และ ส.ว.

ส่วน “คนนอก” ที่มีบทบาทโดดเด่น-มีแสงในตัวเองเพิ่มขึ้น ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีชื่อเป็น “นายกฯพิเศษ” เมื่อต้องการ “เปลี่ยนตัวนายกฯ” ทุกครั้ง คือ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขณะเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

หนาหูที่สุด คือ ในช่วงที่ “บิ๊กแดง” ใกล้เกษียนอายุราชการ แต่มาถูก “สยบข่าว” หลังจากถูก “งัดข้อกฎหมาย” จากทุกทิศทุกทาง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ประกอบ มาตรา 98 (14)กำหนด “คุณสมบัติต้องห้าม”

เนื่องจาก “บิ๊กแดง” เคยเป็น ส.ว. (โดยตำแหน่ง) และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 2 ปี ตำแหน่งล่าสุดของ “บิ๊กแดง” หลังเกษียณอายุราชการ คือ รองราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง อย่างน้อย 1 ตุลาคม 2565 ถึงจะสามารถเป็น “นายกฯคนนอก” ได้ บรรจบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะครบวาระ 25 กรกฎาคม 2566

“บิ๊กแดง” อาจจะอยู่รอ เป็น “ตาอยู่” นายกฯคนที่ 30 ก็เป็นได้