ไฟเขียว คุ้มครองพยาน “คดีความมั่นคง-ก่อการร้าย-ค้ามนุษย์”

ไตรศุลี-2 รองโฆษก

ครม.ไฟเขียว ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาเป็นกรณีพิเศษ ทั้งคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือ คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองพยานในคดีอาญา สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 เกี่ยวกับบทบัญญัติทั่วไปและมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน หน้าที่และอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยาน และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน รวมไปถึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน เพื่อให้พยานเกิดความเชื่อมั่นได้รับการคุ้มครอง และได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้พยานในคดีต่อไปนี้จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษ ได้แก่ คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือ คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

สำหรับมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานที่สำนักงานคุ้มครองพยานสามารถดำเนินการได้อย่างใดอย่างหนึ่งมี ดังนี้ ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่เหมาะสมแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยน ชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยาน

ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพ ให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสมช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ ดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น และดำเนินการอื่นใดให้พยานได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร

นอกจากนี้ยังให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นตัวบุคคลหรือยานพาหนะที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่อภัยอันตรายหรือคุกคามพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ในกรณีที่เป็นความผิดทางอาญาให้มีอำนาจจับกุมและแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจท้องที่เพื่อดำเนินการต่อไป