ลุ้นปลดล็อกการเมือง-โหวตกฎหมายลูก สัญญาณชี้ขาดเลือกตั้ง “บิ๊กตู่”

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะประกาศว่า เดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น

เบื้องต้นจะมีการประกาศ “วัน” เลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 ทำให้ตลาดหุ้นพุ่งกระฉูด

และแม้ว่าจะมีคำยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง

จากฝั่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) องค์กรที่มีหน้าที่ยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวว่า กรธ.ต้องร่างกฎหมายลูกให้เสร็จภายในกำหนด 240 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในต้นเดือนธันวาคมเป็นตัวบังคับ ถ้าทำไม่ทันพวกตนก็ต้องออก

จากฟากฝั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) องค์กรนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่คลอดกฎหมายลูกก็ยืนยันเช่นกันว่า ไม่เล่นเกม “ตุกติก” พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ระบุสัญญาณชัดเจนมาแล้ว ในส่วน สนช.คงไม่มีปัญหาอะไร จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดฝ่ายการเมืองยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ กลัวว่าจะมีการเลื่อน หรือว่า สนช.จะไม่ทำตามกระบวนการของกฎหมายลูกจนล่าช้า ขอให้ใจเย็น ๆ เพราะตอนนี้น่าจะมีแต่สัญญาณที่ดี

นั่นเพราะเงื่อนไขที่จะทำให้โรดแมป คสช.แหกโค้งในช่วงโค้งสุดท้ายก็มีเพียงการคว่ำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของ กรธ.และ สนช.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เท่านั้น

เพราะหากกฎหมายลูก 2 ฉบับเกิดอุบัติเหตุก็จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับไปจากที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องมีการยกร่างกันใหม่ ซึ่งทั้งสองฉบับ กรธ.ได้ยกร่างกันมาล่วงหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนบัดนี้ยังไม่เสร็จ

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำของแม่น้ำ 5 สาย จะออกมา “คอนเฟิร์ม” ว่าไม่มี “อุบัติเหตุ”เกิดขึ้น

แต่หากปรากฏการณ์เช่นว่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทำให้โรดแมปเลือกตั้งที่วางไว้ในปี 2559 ต้องเลื่อนยาวจนถึงเวลานี้

เมื่อย้อนไปดูสถานการณ์ก่อนจะถึงวัน “คว่ำ” รัฐธรรมนูญบวรศักดิ์ บรรดา สปช.ก็ออกมาการันตีเช่นกันว่าจะไม่มีการลงมติคว่ำเกิดขึ้น แต่กลับมีการเดินเกมใต้ดินจากใน-นอก สปช. และ สนช.สายทหาร ที่ “รับงาน” จากผู้มีบารมีนอกฝ่ายนิติบัญญัติอีกชั้นหนึ่ง

ว่ากันว่าผู้ที่รับงานคว่ำรัฐธรรมนูญครั้งนั้นมีถึง 6 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารในราชการประจำการอยู่ใน สปช.และ สนช. บวกกับนักการเมืองสายลากตั้ง ที่กระจายตัวอยู่ในหัวโขนนักปฏิรูป เมื่อถึงคิวโหวตก็พร้อมใจกันคว่ำ

ทำเอาช็อกความรู้สึกของแกนนำแม่น้ำ คสช.บางสายที่มาจาก “พลเรือน” จนใช้คำว่า “หักหลังกันเอง” มาแล้ว

เช่นเดียวกับครั้งนี้ เกมกฎหมายลูก แม้จะมี “สัญญาณดี” แต่อาจ “ไม่ใช่สัญญาณ” สุดท้ายก็เป็นได้

แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” มีอาการไม่อยากสวมหัวโขนผู้นำจากการรัฐประหารไปยืดยาวกว่าโรดแมป แต่บรรดาผู้มีอำนาจที่เกาะขบวน คสช. ยังออกอาการอยากอยู่ต่อ

สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า คนใน คสช.เองก็ยัง ช็อก ! กับท่าทีของนายกฯ ที่ประกาศวันเลือกตั้งออกไป เมื่ออังคารที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังฟังบรีฟไทม์ไลน์เลือกตั้งจากวงประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและ คสช.โดย “มีชัย” และ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย แหล่งข่าวจากคนในรัฐบาลกล่าวว่า “ทุกอย่างกำลังดี เศรษฐกิจกำลังดี ไม่ต้องรีบเลือกตั้ง พรรคการเมืองกำลังลำบาก ไปเรื่อย ๆ พักเดียว ฝ่ายการเมืองก็น็อกหมด แต่พอประกาศเลือกตั้งปั๊บ ปลาที่กำลังจะตายได้น้ำเลย”

ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคต้องทำขั้นตอนอย่างน้อย 7 ขั้น 1.แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคใหม่ภายใน 90 วัน 2.พรรคที่ตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ที่ยังมีสมาชิกพรรคไม่ถึง 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ครบจำนวนภายใน 180 วัน

3.ให้พรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน 4.ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คนชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 5.ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 1 ปี 6.จัดให้มีการประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ จัดทำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองให้ถูกต้องภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 7.จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ ประกอบกับโรดแมป คสช.ถูกขยับมาหลายครั้งหลายครา

ดังนั้นไม่แน่ว่าโรดแมปเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์อาจถึงคราวคว่ำอีกรอบก็ได้ ขึ้นอยู่กับสัญญาณสุดท้ายที่จะส่งยัง สนช.ก่อนโหวตคว่ำ-ไม่คว่ำ กฎหมายลูก รวมถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่…

นั่นจะเป็นคำตอบ