พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในประวัติศาสตร์ จากรัชกาลที่ 7 ถึง รัชกาล 10

10 ธันวาคม เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หลังจากนั้นมีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญมาอีก 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ครั้งที่ 2 พระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495

ครั้งที่ 3 พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511

กระทั่ง ครั้งที่ 4 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อันเป็นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

ทั้งนี้ ขั้นตอนของพระราชพิธีได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในหมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุีลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แก่นายกรัฐมนตรี

เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

จบแล้ว ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพวงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัดและวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินกลับ

ทั้งนี้ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องมีทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้มีการจัดพระราชพิธีมีทั้งสิ้น 12 ฉบับ ประกอบด้วย

ธรรมนูญการปกครอง 2502 ธรรมนูญการปกครอง 2515 รัฐธรรมนูญ 2517 รัฐธรรมนูญ 2519 ธรรมนูญการปกครอง 2520 รัฐธรรมนูญ 2520 ธรรมนูญการปกครอง 2534 รัฐธรรมนูญ 2534 รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 รัฐธรรมนูญ 2550 และ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

“มีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อธิบายว่า พระราชพิธีดังกล่าวมีก็ได้ไม่มีก็ได้สุดแต่พระทรงจะมีพระราชประสังค์อย่างไร หากมีพระราชพิธีก็จะมีหมายกำหนดการของพระเจ้าอยู่หัวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำ แต่ถ้าไม่มีพระราชพิธีก็จะเป็นหมายกำหนดการภายในพระราชวัง

ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุผลที่พิธีการว่างเว้นไปตั้งแต่ปี 2511 กระทั่งถึงปี 2560ว่า พิธีการเหล่านี้ยังมีได้ แต่เราไม่มีมานานแล้วเพราะลำบาก เป็นเรื่องพระราชภาระและยุ่งยากในการจัด เพราะพระองค์ต้องปีนขึ้นไปที่ประทับจะยุ่งยาก ภายหลังมีการลงพระปรมาภิไธยที่พระตำหนักสวนจิตรลดา แต่ยังตั้งเครื่องราชูปโภคให้เห็นเป็นเกียรติยศ เพราะเวลาถ่ายรูปออกมาก็จะเห็นคอนโทรล กาน้ำ ที่เรียกว่า เครื่องเบญจราชูปโภค เพื่อให้พระราชพิธีดูขลัง