“ศรีสุวรรณ”เตรียมขึ้นเวทีอภิปรายแฉรัฐบาลจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH

วันที่ 16 กรกฎาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย ผอ.สำนักนโยบายและแผนกรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ ได้แถลงข้อคัดค้านการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH โดยอ้างว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ( พรบ.)จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้กองทัพต้องมีหน้าที่ในการเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักรนั้น กรณีดังกล่าวสมาคมฯจะแถลงรายละเอียดและประเด็นการคัดค้านอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้เวลา 10.00-12.00 น. ในเวทีอภิปรายสาธารณะ “แก้ปัญหาคอรัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ? (ครั้งฉุกเฉิน 2) ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กทม. จากนั้นในวันที่ 20 กรกฎาคม จะหาข้อยุติด้วยการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.

“สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอคัดค้านข้อแถลงดังกล่าว เนื่องจากการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ไม่สอดคล้องใด ๆ กับรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ “รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศ” ไม่ได้กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้เพื่อป้องกันประเทศ” อีกทั้ง “การเตรียมกำลัง” ตาม พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มี “ พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497” บัญญัติไว้รองรับชัดเจนอยู่แล้ว ที่กำหนดให้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์เพื่อรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน ถือได้ว่าเป็น “การเตรียมกำลัง” ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยชัดแจ้ง ดังนั้น การอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH จึงเป็น “การตะแบง” ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การอ้างมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่คำนึงถึงมาตรา 3 วรรคแรกที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของกองทัพอากาศ หรือของกระทรวงกลาโหม หรือของรัฐบาลฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น กองทัพอากาศควรที่จะต้องไปพิจารณาและปฏิบัติให้เป็นไปตามหมวดที่ 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” ในมาตรา 51 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 62 และมาตรา 63 ด้วย จึงจะถูกต้อง

“การอ้างมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้นข้ออ้างดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐอย่างไร เมื่อเทียบกับ กรณีเขาพระวิหาร กรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้ามายึดครองที่ดินทำกินบริเวณหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กรณีพื้นที่ทับซ้อนแหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย และล่าสุดกรณีการอนุญาตให้สถาปนิก และวิศวกรจีนเข้ามาก่อสร้างและดำเนินการรถไฟความเร็วสูง อย่างไร กองทัพอากาศได้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง”

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า มาตรา 52 ดังกล่าวเป็นการบัญญัติให้ “รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ” ไม่ใช่กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้” แต่อย่างใด และในยุคไทยแลนด์ 4.0 จะเน้นการทูต และการข่าวที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขต สิทธิอธิปไตย ไม่ใช่ “การสะสมอาวุธ” ตามที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และในรอบ 50 ปีที่ผ่านมากองทัพไทยได้สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายเกินความจำเป็น

“ ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถามว่า สอดคล้องกับหลักความพอประมาณ หลักความมีเหตุผล หลักความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้อย่างไร ประชาชนคนธรรมดาสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพได้อย่างไร โดยวิธีการใด และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม .2555 ที่กล่าวอ้างนั้น กระทรวงกลาโหมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ที่มา   มติชนออนไลน์