“กรณ์” เฉลย ทำไมวงการบันเทิงไทย ไม่ไปไกลเท่าเกาหลี?

หัวหน้าพรรคกล้า “กรณ์ จาติกวณิช” ตั้งคำถาม ทำไมวงการบันเทิงไทย ไม่ไปไกลเท่าเกาหลี? พร้อมตอบเอง 3 ข้อ

วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่เพจเฟซบุ๊ก พรรคกล้า – KLA Party โพสต์ข้อความถึงวงการบันเทิงไทย โดยตั้งคำถามว่า “ทำไมวงการบันเทิงไทย ไม่ไปไกลเท่าเกาหลี” โดย “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า เป็นผู้ตอบคำถาม ดังต่อไปนี้

[ ทำไมวงการบันเทิงไทย ไม่ไปไกลเท่าเกาหลี ]

ตอบโดย กรณ์ จาติกวณิช

“เพราะวงการสร้างสรรค์ของไทย ขาดการสนับสนุนของภาครัฐ”

ทำให้นโยบายที่จะเปลี่ยนวงการสร้างสรรค์ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องกลายเป็นแค่ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่เราจะมาดูกันครับ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น และทำไมวงการสร้างสรรค์ของบ้านเรา ไปไม่ได้ไกลเหมือนต่างประเทศ

1. Mindset ของเรายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งอุตสาหกรรม ว่าเป้าหมายของเราคือตรงไหน และจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เพื่อสร้างค่านิยมให้คนในประเทศไทยเห็นเป้าหมายเป็นภาพเดียวกัน เห็นคุณค่าของผลงาน และช่วยกันสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะวงการสร้างสรรค์จะเติบโตไม่ได้เลย ถ้าขาดการสนับสนุนของคนในประเทศ (ประเทศที่เป็นหนึ่งด้านวงการสร้างสรรค์มักจะเริ่มต้นการการขายผลงานให้คนในประเทศเกิน 50% ก่อน เช่นเกาหลี อเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่แค่คนในประเทศบริโภคก็สามารถทำให้อุตสาหกรรมอยู่ได้)

นอกจากนี้ความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่เดียว แต่ยังต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร ดังเช่นตัวอย่างของหนังองค์บาก ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักมวยไทย และทำให้ต่างชาติอยากเข้ามาเรียนมวยไทย จนกลายเป็นเทรนด์ของการท่องเที่ยว

2.Benchmark สร้างมาตรฐานเพื่อยกระดับวงการสร้างสรรค์ของไทย หลังจากที่เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราคงจะพุ่งตรงไปที่เป้าหมายอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่มีวิธีการและมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อที่จะเป็นเป็นที่ยอมรับ

ซึ่งในวันนี้ มาตรฐานการรับชมของผู้บริโภคเองก็สูงขึ้นเช่นกัน ด้วยผลกระทบด้านเทคโนโลยีที่เข้าถึงกันมากขึ้น content ต่างประเทศมากมายหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคยกระดับมาตรฐานในการรับชมเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในฐานะผู้ผลิตก็ควรต้องปรับตัวเช่นกัน

โดยผมอยากขอใช้คำว่าการสร้างมาตรฐานให้คลอบคลุมทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ของวงการ ทั้งการทำวิจัยต้องหาเทรนด์ใหม่ ๆ หาความรู้ใหม่ๆ รสนิยมของผู้ชมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเขียนบทละคร เทคนิคการถ่ายทำ ภาพ ความชัด และเสียงทุกองค์ประกอบควรถูกยกระดับไปพร้อม ๆ กัน

3. Response ดูแลรับผิดชอบ วางแผนและต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ใช่แค่การวางแผนยุทธ์ศาสตร์ กำหนดหลักเกณฑ์อย่างเดียว แต่ต้องเป็นแหล่งสนับสนุนองค์ความรู้ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ผลิตด้วย

ทั้งการจับคู่หาตลาดใหม่ ๆ การสนับสนุนแหล่งเงินทุน หรือ สปอนเซอร์ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในขออนุญาตใช้สถานที่ในการถ่ายทำ รวมถึงนโยบายเรื่องภาษี และ การใช้สื่อในการโฆษณา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานไหนทำหน้าที่ดูแลโดยตรง เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบเหล่านี้ จะถูกกระจัดกระจายไปตามแต่ละหน่วยงาน ซึ่งถ้าเป้าหมายของหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องด้วย ก็จะถูกจัดความสำคัญไปอยู่อันดับท้าย พร้อมกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด โดยไม่ได้พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สรุปง่าย ๆ ว่า วงการสร้างสรรค์ ยังมีโอกาสอีกมากที่จะพัฒนาให้เติบโตและผลักดันให้เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่ความฝันที่ ภาครัฐอยากสนับสนุนให้ทำ แต่ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องริเริ่มให้มีหน่วยงานที่เป็น “เจ้าภาพหลัก” ดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่เสนอนโยบายแล้วหายไป

ผมให้ฐานะตัวแทนพรรคกล้า ที่มีนโยบายผลักดันเรื่อง Soft Power ขอเชิญชวนพี่น้องที่สนใจเรื่องนี้
อ่านเพิ่มเติ่มที่ https://themomentum.co/korn-chatikavanij-soft-power
ถ้าทุกท่านคิดตรงกันกับผม และเห็นปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งการเติบโตของวงการสร้างสรรค์ไว้
มาลงมือทำ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกันครับ

#ไทยจะดีกว่าถ้ากล้าลงมือทำ #พรรคกล้า

#เรามาเพื่อลงมือทำ #เศรษฐกิจสร้างสรรค์ #Softpower