เพื่อไทย ลุ้น อบจ.เชียงใหม่ ตัวโก่ง คณะก้าวหน้า ยังมั่นใจได้ 10 ที่นั่ง

พรรคเพื่อไทย อบจ.

กกต. คาดไม่เกิน 2 ทุ่ม นับคะแนนเลือกตั้ง อบจ.เสร็จ คณะก้าวหน้า ลุ้นได้ 10 ที่นั่ง เกินเป้าที่คาดไว้แค่ 5 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทย รอลุ้นคะแนนเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่

วันที่ 20 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการปิดหีบเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศในเวลา 17.00 น. นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง คณะก้าวหน้าประเมินในเบื้องต้นว่าจะชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ประมาณ 10 จังหวัด โดยเบื้องต้น

อาทิ จ.สกลนคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.แพร่ จ.ตาก จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร ซึ่งได้มากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงแรก ที่คาดว่าจะได้นายก อบจ.เพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น แต่หลังจากเดินหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายเริ่มมีกระแสตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ซึ่งอยู่ติดกับ กทม.ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวันหยุดยาว จึงทำให้ประชาชนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไปใช้สิทธิได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ให้ความสำคัญกับการเกาะติดสนามเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่เป็นพิเศษ โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังรอลุ้นคะแนนเลือกตั้ง นายก อบจ.เชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นขณะนี้นับคะแนนได้เพียง 40 – 50% คาดว่าจะทราบผลช่วงดึกวันนี้

ทั้งนี้ การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นการขับเคี่ยวระหว่างนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมาย และคลิปวีดีโอถึงชาวเชียงใหม่ให้เลือกนายพิชัย ต้องแข่งกับแชมป์เก่านายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.ซึ่งมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้การสนับสนุน

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า พอใจภาพรวมการจัดการเลือกตั้ง โดยจากรายงานไม่มีจังหวัดใดที่มีปัญหา มีที่ จ.สุมทรสาครที่พบว่าผู้มาใช้สิทธิอาจจะเบาบางไปบ้างเท่านั้น และขณะนี้ทุกหน่วยเลือกตั้งอยู่ระหว่างการนับคะแนนซึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยที่เหลือราว 600 คนก็เชื่อว่าไม่เกิน 20.00 น.

การนับคะแนนจะเสร็จสิ้นและกรรมการประจำหน่วยสามารถติดประกาศผลคะแนนที่หน้าหน่วยเลือกตั้งได้ ก่อนที่จะมีการส่งผลคะแนนมารวมที่จังหวัดซึ่งจะมีการติดป้ายเพื่อประกาศผู้ได้รับคะแนนสูงสุดอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าทุกจังหวัดจะทราบผลได้ไม่เกิน 24.00 น.สำหรับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ กกต.ตั้งเป้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70คาดว่าจะทราบในวันพรุ่งนี้ว่าจะถึงหรือไม่

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนการประกาศรับรองผล ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดว่าหากการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเรื่องร้องเรียน กกต.สามารถประกาศรับรองผลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่หากพบว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต มีเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านก็ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังพบการฉีกบัตรเลือกตั้งใน 8 จังหวัด คือ ปทุมธานี พัทลุง ราชบุรี สงขลา อุตรดิตถ์ บึงกาฬ อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งมีในบางจังหวัดคาดว่าเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี ที่เข้าใจว่าเมื่อกาบัตรแล้วต้องฉีกส่วนที่กาไปหย่อนในหีบบัตร

สำหรับสถิติที่ประชาชนใช้บริการสอบถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งอบจ.ผ่านแฟนเพจ สำนักงานกกต.จำนวน 266 ครั้ง และช่องทางสายด่วน 1444 ระหว่างวันที่ 1 -20 ธ.ค. จำนวน 9,318 ครั้ง ส่วนใหญ่จะสอบถามเกี่ยวกับที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้ง ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องทำอย่างไร หย่อนบัตรผิดหีบทำอย่างไร และถ้าลืมบัตรประชาชนทำอย่างไร ทำไมใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่ได้

ส่วนเรื่องร้องเรียนล่าสุดกกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 140 เรื่อง มีทั้งที่รับเป็นคำร้องคัดค้านแล้วและที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งจำนวนเรื่องร้องเรียน 140 เรื่องถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมา แต่อาจจะมีเพิ่มเติมในภายหลังได้

ขณะที่ สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ร่วมกับศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองและภาคีเครือข่ายภาควิชาการภาคประชาสังคมทั่วประเทศ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 20 ธันวาคม 2563

โดยพบว่า ประชาชนให้ความสนใจต่อการเลือกตั้ง อบจ. เฉลี่ยอยู่ที่ 7.36 จากคะแนนเต็ม 10 ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกตั้งผู้สมัคร นายก อบจ.ส่วนใหญ่ 46.8% เลือกจากนโยบายของผู้สมัคร รองลงมา 39.9% เป็นผู้สมัคร และชื่อพรรคการเมือง กลุ่ม/สังกัด 13.3% คำถามว่า ผลการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน 53.4% เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างแน่นอน 26.8% เห็นว่า เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก และ 19.8% แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนช่องทางที่ใช้ติดตามข่าวสาร ติดตามจากการหาเสียงมากที่สุด 47.6% รองลงมาเป็นอินเตอร์เน็ต / โซเชียลมีเดีย Facebook, Line 21.9% คำบอกเล่าจากบุคคล 10.5% โทรทัศน์ 5.3% อื่นๆ 14.7% เมื่อถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อเสียงในเขตเลือกตั้งของท่านหรือไม่ ประชาชน 37.4% ตอบว่า “มีแน่นอน” 36.0% ตอบว่า น่าจะมี ในขณะที่ 22.3% ตอบว่า ไม่น่าจะมี และ 4.3% ตอบว่า ไม่มีแน่นอน