พรรคทักษิณ คณะธนาธร สะสมแต้มการเมือง หลุดเป้าเก้าอี้นายก อบจ.

กลายเป็นว่าศึกเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

พลิกล็อกแฟนคลับคณะก้าวหน้าของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และคณะ ที่ส่ง 42 ผู้สมัครชิงชัยเก้าอี้นายก อบจ. แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ 0 ที่นั่ง

สวนทางกับ “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง” ที่หลายแห่งยังปักหลัก ยึดเก้าอี้-อำนาจ ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ยุทธศาสตร์ “ล้มบ้านใหญ่” ของ “คณะก้าวหน้า” ไม่ประสบผลสำเร็จ

“ธนาธร” แถลงยอมรับความพ่ายแพ้ว่าเราไม่สามารถช่วงชิงตำแหน่งนายก อบจ.ได้เลยสักจังหวัด พวกเราตั้งใจทำงาน และตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าแม้มีปัจจัยอื่นมากมาย แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือการทำงานของพวกเราที่ยังทำงานไม่หนักพอ ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ขอโทษประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แม้ว่าตำแหน่ง
นายก อบจ.ไม่สามารถช่วงชิงมาได้ ซึ่งเราผิดหวังและเสียใจ แต่ไม่หมายความว่าเราไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

เราสามารถได้รับคะแนนทั้งหมด 2,670,792 คะแนน และนอกจากนี้ได้ช่วงชิงตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ. 57 คนใน 20 จังหวัด และมีส่วนร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้รับรู้ความสำคัญ บทบาทหน้าที่ อบจ.

“ธนาธร” เปรียบเทียบคะแนนเลือกตั้งปี 2562 ของพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนน 3,183,163 คะแนน จากผู้ใช้สิทธิ 19,629,451 คน กับคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.ของคณะก้าวหน้า 2,670,798 คน จากผู้ใช้สิทธิ 15,730,841 คน

“ดูจำนวนคะแนนเราได้รับคะแนนดิบน้อยลงจากการเลือกตั้งปี 2562 แต่เมื่อดูคะแนนเปอร์เซ็นต์ เราได้รับคะแนนนิยม 17% เทียบกับคะแนนนิยมของพรรคอนาคตใหม่ 16.2% คะแนนนิยม 1 ปีกว่าไม่ได้ลดลงเลย แต่เป็นที่รู้กันว่าคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เลือกตั้งนอกเขตผลคะแนนไม่ต่างกันเลย นอกจากคะแนนไม่ต่ำลงแล้ว ภายใต้ข้อจำกัดเช่นนี้ เรายังรักษาฐานคะแนนได้ถึง 17%”

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ที่ประเดิมส่งผู้สมัครในนามพรรคครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 25 คน แต่คะแนนที่ได้ออกมากวาดนายก อบจ.ได้ 9 ที่นั่ง รวมกับ 2 ผู้สมัคร ปทุมธานี และ ผู้สมัครสกลนคร ที่สมัครในนามกลุ่ม แต่ขอใช้โลโก้พรรค เป็น 11 ที่นั่ง

สนามที่ดุเดือดที่สุดคือ สนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นศึกสายเลือดคนเพื่อไทย เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร

เพราะพรรคเพื่อไทยส่ง นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต ส.ว.เชียงใหม่ ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวทักษิณ ชินวัตร สู้ศึกกับ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ซึ่งเป็นซุ้มการเมืองที่ผูกติดกับ “พรรคทักษิณ” มาตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทย

ปรากฏว่า สงครามเสื้อคลุมสีแดงแต่ต่างเฉด จบลงที่ ส.ว.ก๊อง “พิชัย” เข้าวิน ล้มแชมป์เก่า “บุญเลิศ” และ “ทักษิณ” ยังมนต์ขลังในการเรียกคะแนนเลือกตั้ง หลังทุ่มทุนสร้างอัดคลิป-ส่งจดหมาย อ้อนชาวเชียงใหม่ให้เลือก “พิชัย”

แต่ในภาพรวม เพื่อไทย-ก้าวหน้า ยังหลุดเป้าไปไกล

ก้าวหน้าวางยุทธศาสตร์พลาด

“สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ผู้เกาะติดเชิงลึกเลือกตั้งท้องถิ่น วิเคราะห์ทุกปรากฏการณ์

เริ่มจากสาเหตุ “คณะก้าวหน้า” ไม่สามารถล้ม “บ้านใหญ่” ได้แม้แต่จังหวัดเดียวว่า ท้องถิ่นเป็นเรื่องคอนเน็กชั่นในจังหวัด ถ้าบิลด์กระแสได้ไม่เท่าเลือกตั้งใหญ่ 2562 คณะก้าวหน้าก็ไม่มีทางไปชนะบ้านใหญ่ได้

“รอบนี้ต้องยอมรับ ก้าวหน้าบิลด์กระแสไม่ขึ้นเหมือนเลือกตั้งในระดับชาติ แต่ไปสร้างกระแสในจังหวัดแทน ทำให้เราไม่เห็นจุดแข็งเดิมของอนาคตใหม่ คือ ใช้ยุทธวิธีโซเชียลมีเดียแบบแมส ไม่ใช่เจาะเฉพาะพื้นที่เหมือนตอนเลือกตั้งนายก อบจ. เพราะถ้าไม่ไปตามเพจคณะก้าวหน้าก็จะไม่รู้ว่านายธนาธรปราศรัยอะไรบ้าง”

“คณะก้าวหน้าอาจไปเล่นเกมผิดตามเกมบ้านใหญ่ ที่ไล่เคาะประตูหาเสียง แทนที่จะเป็นสร้างกระแสในออนไลน์ ยิงแบบหว่านแห เพื่อกระตุกให้คนอยากกลับบ้านไปเลือกคณะก้าวหน้า แบบการเลือกตั้งใหญ่ ที่แม้คนไม่รู้จักผู้สมัครแต่ก็ยังไปเลือก”

“ดังนั้นเมื่อไม่ได้เป็นกระแสบวก จึงกลายเป็นกระแสลบแทน และได้กระแสเฉพาะคนในเมือง การที่คณะก้าวหน้าลงไปพื้นที่ที่ตนเองเข้าถึง แล้วเห็นคนตอบรับจึงรู้สึกว่าคะแนนดี แต่พอหัวไร่ปลายนาก็ไม่มีคะแนนก้าวหน้า เพราะเข้าไม่ถึงชาวบ้าน”

แพ้แต่กวาดคะแนนตกน้ำ

แต่ “สติธร” กระตุกให้คิดว่า ไม่ควรไปสมน้ำหน้า “คณะก้าวหน้า” เพราะให้ไปดูคะแนนที่ได้มาของคณะก้าวหน้า หากนำคะแนนนายก อบจ. 42 จังหวัด มาคำนวณตามสูตรเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ตอนเลือกตั้งปี 2562 จะได้คะแนนตกน้ำจำนวนมาก เช่น นนทบุรี ตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ ผู้สมัครอนาคตใหม่ได้คะแนน 1.6 แสนคะแนน เลือกตั้ง อบจ.ได้คะแนน 1.3 แสนคะแนน โดยคะแนนที่หายไปแค่ 2.5 หมื่นคะแนน ทั้งจังหวัด

ต่างจากเพื่อไทย ที่เลือกตั้งใหญ่ได้ 1.9 แสนคะแนน ส่วนเลือกตั้งนายก อบจ.ก็ได้ 1.9 แสนคะแนน เกณฑ์มาเต็มที่แล้ว ส่วนผู้สมัครอีกรายจากพรรคพลังประชารัฐ ตอนเลือกตั้งใหญ่ได้ 1.6 แสนคะแนน คือ นายฉลอง เรี่ยวแรง แต่เลือกตั้งนายก อบจ.ได้แค่ 6 หมื่นคะแนน ไม่มีคะแนนพรรคเข้ามาช่วย

“ดังนั้น คณะก้าวหน้าแพ้แต่สามารถหวังอนาคตในจังหวัดนนทบุรีได้เลย แม้ไม่ได้ชนะเขตเหมือนเดิมแต่ได้คะแนนตกน้ำจำนวนมาก”

“ในการเลือกตั้งใหญ่ คณะก้าวหน้าซึ่งเป็นอนาคตใหม่เดิม มีคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า คะแนนกระแส แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.กระแสไม่เกิด ทำให้มีแค่คะแนนของคนที่อยู่ในจังหวัดบวกคนกลับบ้านนิดหน่อย แต่สิ่งที่น่าตกใจ เป็นคะแนนภายในจังหวัดแล้วเยอะขนาดนี้ คนอื่นที่เป็นหัวคะแนนกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก”

“ถ้าคนกลับบ้านมาเยอะ ๆ มีเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขตจังหวัด กระแสของคณะก้าวหน้าจะขนาดไหน เมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้ายังเป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนมีความหมาย ทุกพรรคก็ไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้าจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของการเมืองระดับชาติ ถ้ากลัวคณะก้าวหน้า-ก้าวไกล ก็ต้องแก้กติกาก่อน เพราะถ้าคะแนนออกมาอย่างนี้ถือว่าเหนื่อย”

ล้มบ้านใหญ่ ใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง

สาเหตุที่ “คณะก้าวหน้า” มักใช้วาทกรรม “ล้มบ้านใหญ่” แต่กลับไม่ได้ผลในชีวิตจริง “สติธร” กล่าวว่า เป็นเพราะบ้านใหญ่ไม่ได้อยู่เฉย ๆ กินบุญเก่า บ้านใหญ่เขาปรับตัวไปไกลเช่นกัน กลุ่มการเมืองที่เรียกบ้านใหญ่ หรือกลุ่มการเมืองที่ครองพื้นที่อย่างยาวนาน 3 สมัย 5 สมัย เขามีผลงานจับต้องได้หมด คณะก้าวไกลจะเอาอะไรไปล้มกลุ่มนี้

“คนที่เป็นนายก อบจ. 3 สมัย 5 สมัย เขาก็ทำงานหนักในการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ทำให้คนรู้จัก ไม่ใช่เป็นบ้านใหญ่เฉย ๆ ที่ปิดรั้วแน่นแล้วคนเข้าไปไม่ได้ แต่คือ 365 วันของชาวบ้าน ที่ต้องไปลงพื้นที่ อีกทั้งต้องคิดถึงการบริหารแนวใหม่ ๆ เพราะระบบราชการที่ตั้งเกณฑ์ให้รางวัล อบจ.แต่ละท้องที่ก็ต้องล่ารางวัล ทำให้ปรับตัว นายก อบจ.ต้องคิดนโยบายใหม่ ๆ ให้ทันต่อโลกเปลี่ยน เช่น บ้านใหญ่สมุทรปราการก็มีเรื่องอีสปอร์ต”

“สติธร” มองว่า ข้อกล่าวหาว่าบ้านใหญ่ผูกขาด-ผลประโยชน์ทับซ้อน และทุจริต ก็ไม่อาจทำให้ “บ้านใหญ่” สะเทือน เพราะเป็นเรื่องปกติ เหมือนซื้อเสียงซึ่งมีคนให้และมีคนรับ และคนรับก็ชอบ คนให้จึงต้องให้

“เช่นเดียวกับผลประโยชน์ทับซ้อนถ้าทำแล้วมีประโยชน์ ก็เหมือนกับนโยบายประชานิยม เช่น ทำโครงการที่ดูแลคนแก่ แล้วคนแก่แฮปปี้ มีกิจกรรมให้ทำ มีการรักษา มีคนดูแลเวลาเจ็บป่วย ถ้าตัวนายก อบจ.ใช้บริษัทที่ครอบครัวตนเองไปลงทุน แต่ถ้าคนได้ประโยชน์ คนก็ไม่สนใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน”
“เพราะไม่ใช่คอร์รัปชั่นแบบโบราณที่กินเปอร์เซ็นต์ในโครงการก่อสร้าง แต่เป็นประชานิยมแบบทักษิณ ชินวัตร ที่นโยบายโดนใจคน คนได้ประโยชน์ แม้เอกชนที่มาลงทุนจะเอื้อประโยชน์กับนายก อบจ. เป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบกันมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย เพราะทุกคนก็ทำตัวเป็น ‘ทักษิณน้อย’ กันหมด”

บ้านใหญ่ลอยลำ

“สติธร” มองว่า ที่การเมือง “บ้านใหญ่” คัมแบ็กกลับมา เพราะคนออกไปเลือกตั้งน้อยตามคาด เช่นเดียวกับตอนเลือกตั้งนายก อบจ. ตอนปี 2555-2556 จึงเป็นเสียงจัดตั้ง เป็นคนที่อยู่ในจังหวัด คนที่อุปถัมภ์ค้ำจุนกันในจังหวัด เห็นหน้าค่าตากัน รู้ว่าผู้สมัครนายก อบจ.คนนี้ทำอะไรให้จังหวัด ไปงานบวช งานศพ งานแต่งงาน ดูแลเรื่องชีวิตประจำวัน

เวลามีปัญหาฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง โผล่หน้ามาตลอด ถึงเวลาแจกของก็มาทันที หรือเอารถสูบน้ำมาทันที พอเดือดร้อนทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีอยู่ก็ขนมาจัดการปัญหาทันที คนไม่หายหน้า ถึงเวลาเลือกตั้ง ผู้สมัครเดินมาขอคะแนนถึงบ้าน ชาวบ้านก็ให้

มนต์ขลัง ทักษิณ ยังไม่เสื่อม

ส่วนเขตช้างชนช้างในสนามเลือกตั้ง อบจ. จ.เชียงใหม่ สติธรพลิกคะแนนดูแล้วพบว่า “สู้กันหนัก” จนถึงชั่วโมงประกาศชัยชนะ

เมื่อ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จากเพื่อไทย ชนะคะแนน นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ 310,000 ต่อ 260,000 คะแนน

“กลุ่มนายบุญเลิศเอาคะแนนที่อยู่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐมารวม ก็ยังได้แค่นี้ เพราะกลุ่มที่ลงสมัครนายก อบจ.ที่อยู่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ คะแนนหายไปทั้งหมด เหลือแค่คะแนนไม่กี่หมื่น หากเปรียบเทียบคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อ 6 ปีก่อนที่พรรคเพื่อไทยแข่งกันเอง 2 ฝ่ายก็มีคะแนนรวมกันอยู่ที่ 6 แสนคะแนน ดังนั้น เมื่อถึงคราวเลือกตั้งนายก อบจ.ในปัจจุบัน จึงเป็นการตัดสินกันระหว่างคนเพื่อไทยด้วยกันเองว่าจะเชื่อทักษิณ หรือไม่ หรือเชื่ออดีตนายก อบจ.”

สุดท้าย “แบรนด์ทักษิณถือว่ายังขายได้ แต่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหนื่อย”

ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย ส่งคนลงสมัคร 25 เขต แต่ได้เพียง 11 ที่นั่งนั้น “สติธร” มองว่า “เสมอตัว” เพราะก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งก่อนๆ ผู้สมัครในสายเพื่อไทยก็แพ้ ภูมิใจไทยบ่อยแต่คนที่ไม่ส่งในนามพรรคแต่ใช้ฐานเสียงพรรคก็ยังชนะ

แต่เพื่อไทยมักจะกั๊กในสนามท้องถิ่นทำให้คนของพรรคภูมิใจไทยได้เปรียบ อบจ.มาหลายพื้นที่ และคนของภูมิใจไทยก็สำเร็จได้ตามเป้า