อนุทิน ชง ครม. เพิ่มอำนาจสูงสุดคณะกรรมการ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุมโควิด

(แฟ้มภาพ) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข

อนุทิน รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข ชง ร่างพ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มอำนาจ คกก.โรคติดต่อ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว-ออกมาตรการต่าง ๆ ได้ เพื่อคุมโควิด-19 สมุทรสาคร ย้ำ ขณะนี้ยังมี ศบค. – พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอเรื่องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่า

เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น สืบเนื่องจาก จากการรับฟังเสียงของประชาชนที่ไม่ต้องการให้ประเทศอยู่ในสภาวะของการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนั้น จึงไปเพิ่มมาตรา ไปแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมในพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อเพิ่มอำนาจคณะกรรมการควบคุมโรคให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ได้ แต่ไม่มีผลกระทบในเรื่องของการปฏิบัติ

“ตอนที่ยังไม่มีสถานการณ์โรคโควิดระบาดใหม่ หลังปีใหม่ถ้ายังนิ่งอยู่ ก็อาจจะไม่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราก็ไปเพิ่มอำนาจในพ.ร.บ.โรคติดต่อ หลักมีแค่นี้ เป็นการระบุวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมในพ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ได้มีอะไรที่ต้องพูดคุยอะไรมากมาย เพราะแก้ไขไม่ทันแล้ว”

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนการล็อกดาวน์ประเทศ ต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 นายอนุทินกล่าวว่า กฎหมายมีอยู่แล้ว เพราะขณะนี้อยู่ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

“ถ้าไม่ใช่ต้องมีผลบังคับทั่วประเทศ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถออกมาตรการในพื้นที่ได้ทันที”

นายอนุทินกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จุดประสงค์ของการแก้ไขเพื่อใช้ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งใช้ในกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น และสามารถยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีความเข้มข้นขึ้นมาแทน และกล่าวว่า “ตอนนี้คงต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปก่อนมั้ง”