ไตรภาค-วิบากกรรม ‘ชินวัตร’ คดีจำนำข้าว ปิดฉากการเมือง ‘ยิ่งลักษณ์’

คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ล่วงเลยกระทั่งเหลือการไต่สวนเหลือเพียงนัดเดียวคือวันที่ 21 ก.ค. 2560

แต่ในการไต่สวนนัดรอบสุดท้ายที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ทีมทนาย “ยิ่งลักษณ์” ได้งัดไม้ตายสำคัญ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลฎีกาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5 กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560

เหตุผลของฝ่ายทนาย “ยิ่งลักษณ์” ระบุว่า ชั้นพิจารณาคดีของศาลใช้มาตรา 5 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ “ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” ทำให้โจทก์คืออัยการ อาศัยกฎหมายดังกล่าว เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่ ทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารอีกจำนวนกว่าแสนแผ่นเข้ามาในคดี

ทั้งเอกสารการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมว.ศึกษาธิการ เมื่อครั้งเป็นปลัดสำนักนายกฯ เข้ามาตรวจสอบ กับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวหานายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวกรวม 111 คนผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีเอกสารจำนวน 7 หมื่นกว่าแผ่น ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีของ “ยิ่งลักษณ์” เอามารวมอยู่ด้วย

ยำเงื่อนไขเพิ่มเติม รธน.ใหม่สู้

ขณะเดียวกันในระหว่างที่ศาลฎีกากำลังไต่สวนคดี “ยิ่งลักษณ์” รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 โดยมีบัญญัติ โดยในมาตรา 235 วรรค 6 บัญญัติว่า

“การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นหลักในการพิจารณา” และกำหนด “เงื่อนไขเพิ่มเติม” ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้”

ซึ่งแตกต่างและขัดแย้งกับมาตรา 5 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ที่ไม่มีเงื่อนไขว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” จึงถือว่ากฎหมายที่ศาลใช้รับเอกสารเพิ่มเติมใหม่ของโจทก์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเนื่องจากในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้

ยกฎีกาตีความเจตนารมณ์

จึงมีการ “หยิบยก” คำพิพากษาศาลฎีกาในอดีต มาเป็นตัวอย่างเรื่องการ “ตีความ” กฎหมาย โดยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12/2521 ตีความ “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ว่า “ต้องเป็นไปเพื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายด้วย”

หรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2544 ศาลฎีกาได้ตีความ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า

“เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร”

ซึ่งศาลฎีกาตีความว่า “บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานไว้ โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ และมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี และการให้ได้ความชัดแจ้งดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ”

ทุกวรรค-ทุกตอน เน้นย้ำคำว่าต้องเป็นประโยชน์แก่ “คู่ความ” ซึ่งในกรณีคดีปล่อยปละละเลยทุจริตจำนำข้าว คู่ความของคดีคืออัยการ ในฐานะโจทก์ และจำเลยคือ “ยิ่งลักษณ์”

สำนวนอ่อน อสส.ต้องเพิ่มพยาน

ย้อนความในวันที่ 4 กันยายน 2557 อัยการสูงสุด “ตีกลับ” สำนวนจำนำข้าวดังกล่าวของ ป.ป.ช. โดย “วันชัย รุจนวงศ์” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า “ยังมีข้อไม่สมบูรณ์” ของสำนวน และมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อสส.กับ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

5 ก.ย. 2557 “วิชา มหาคุณ” กรรมการ และโฆษก ป.ป.ช. ระบุกรณีดังกล่าวว่า “พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอหรืออะไรต่าง ๆ เพราะท่านยังไม่เห็นข้อมูลที่อยู่ในมือของเราในการเชื่อมโยงให้เห็นความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกเห็นใจท่าน อสส. เพราะขณะนี้สถานะท่านง่อนแง่นมาก จะเห็นได้เลยว่า ท่านอัยการสูงสุดคนก่อนก็ถูกปลดกลางอากาศทางโทรทัศน์ ตอนเวลา 2 ทุ่ม อย่างนี้น่าเห็นใจหรือไม่ ดังนั้น อย่าไปรุกเร้าท่านอัยการสูงสุดมากเลย เพราะน่าเห็นใจจริง ๆ”

แม้ว่าสำนวนอ่อน แต่ต่อมา 23 ม.ค. 2558 ก็อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แหล่งข่าวใกล้ชิดยิ่งลักษณ์ วงในพรรคเพื่อไทย ขยายความว่า “ในกระบวนการไต่สวนของศาล ให้ยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ซึ่งก่อนการสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกา ป.ป.ช.ยืนยันว่าสำนวนครบถ้วน สมบูรณ์ แต่ปรากฏว่าระหว่างการไต่สวน อัยการในฐานะโจทก์ได้เพิ่มเติมพยานหลักฐานเพิ่มขึ้นมากมาย แสดงว่าสำนวน ป.ป.ช.ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น และพยานหลักฐาน

ที่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นสำนวนของคดีอื่นทั้งสิ้น ประกอบกับเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ การเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นประโยชน์เฉพาะฝ่ายโจทก์ ไม่เช่นนั้นขัดรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น การพิจารณาวันที่ 21 ก.ค.นี้ “ยิ่งลักษณ์” ต้องฟังด้วยใจระทึกว่า ศาลจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ แต่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 212 บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรค่อนข้างชัดเจนว่า

“ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

เส้นทางโค้งสุดท้ายของคดี

ผลการดิ้นเฮือกสุดท้ายจึงออกได้ 3 หน้า หนึ่ง ศาลฎีกาสั่งเองว่าไม่ต้องส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ อันถือว่าการไต่สวนดำเนินการต่อในนัดสุดท้าย และนัดวันฟังคำพิพากษา

สอง ศาลฎีกาส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ซึ่งศาลพิจารณาต่อได้ แต่การพิพากษาต้องชะลอไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

สาม ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาและตัดสินว่าไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัย คำร้องก็จะตกไป

ยิ่งลักษณ์ ปลุกกระแสแฟนคลับ

ด้านความเคลื่อนไหวของ “ยิ่งลักษณ์” ใช้โอกาสระหว่างรอขึ้นไต่สวนนัดสุดท้าย เดินสายทำบุญ-เช็กกระแสมวลชน เริ่มจากเปิดบ้านในซอยโยธินพัฒนา จัดมีตติ้ง “แฟนเพจ” ครบ 6 ล้านไลก์ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2560

ต่อด้วย 4 และ 5 ก.ค. 2560 เปิดบ้านให้แฟนเพจ และพี่น้องประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันประดิษฐ์ดอกดารารัตน์ เพื่อถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 เช่นเดียวกับวันที่ 7 ก.ค. 2560 ไปศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์สำโรง จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน

11 ก.ค. 2560 ไปวัดช่องลม จ.ราชบุรี เข้าสักการะหลวงพ่อแก่นจันทน์ ก่อนปล่อยนก 109 ตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมร่วมประดิษฐ์ดอกดารารัตน์กับประชาชน

หลังจากนี้ “ยิ่งลักษณ์” จะมีอีเวนต์ในลักษณะดังกล่าวร่วมกับแฟนเพจ เหนือ-กลาง-อีสาน ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ โดยคิวที่จะไปคือ จ.พิจิตรและ จ.นครราชสีมา

การเดิมพันครั้งนี้ฝ่ายยิ่งลักษณ์สู้ทุกช่องทาง ทุกกลเม็ดแบบหมดเปลือก หากไม่ชนะก็ปิดเกม “ยิ่งลักษณ์” ปิดฉากการเมืองไตรภาค “ชินวัตร”