สุรชาติ : พยากรณ์ ประยุทธ์’64 พึ่งบารมี “คนละครึ่ง” ตั้งรับม็อบแรงงาน

ตั้งแต่เปิดศักราชปี 2563 รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็รากเลือด

ต้องเผชิญกับม็อบครั้งใหญ่ เป็นพลังนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากว่า 3 ทศวรรษ ต้องเผชิญกับภัยร้ายไวรัสโควิด-19 โรคระบาดรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

ใกล้สิ้นสุดปี 2563 ทั้งม็อบ ทั้งโควิด-19และพิษเศรษฐกิจ ยังไม่คลี่คลาย ไวรัสกลับมาระบาดซ้ำ

ประชาชาติธุรกิจ ให้ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ในปี 2564

เขาพยากรณ์การเมืองปี 2564 ว่า ปีหน้าปีวัว แต่ไม่ใช่ “วัวเชื่อง” แต่จะเป็น “กระทิงดุ” พุ่งเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

โควิดรอบใหม่ โจทย์ใหญ่รัฐบาล

“ศ.ดร.สุรชาติ” เริ่มต้นวิเคราะห์ว่า การเมืองไทยปี 2564 น่าจะเป็นกระทิงดุมากกว่าวัวดุ เพราะแนวโน้มจากปี 2563 พอคาดคะเนสถานการณ์ใหญ่ ๆ ในปี 2564 ได้ 8 เรื่อง

1.โรคระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในเวทีโลกเห็นอย่างหนึ่งว่า เวทียุโรปเป็นการระบาดระลอก 3 เพื่อนบ้านเมียนมามาเลเซีย อินโดนีเซีย ยังระบาดไม่หยุด การระบาดจากสมุทรปราการ และสมุทรสาคร หากนำไปสู่การระบาดใหญ่ ก็จะกลายเป็นโจทย์ชุดใหญ่ที่สุด

ผลที่ตามมาคือ 2.อาจทำให้เศรษฐกิจในปี 2564 ไม่สดใสอย่างที่คิด ซึ่งก่อนหน้านี้ มองจากมุมเศรษฐกิจในปี 2563 เศรษฐกิจน่าจะแตะพื้นแล้ว และปี 2564 น่าจะขยับขึ้นได้บ้าง แต่หากระลอก 2 เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่า คำว่าจุดต่ำสุดในปี 2563 เป็นจริงเพียงไร สิ่งที่คาดการณ์ได้ คือ เศรษฐกิจ 2564 จะไม่สดใส และยังถดถอยต่อเนื่อง

คนตกงาน คนจนขยายตัว

ส่งผลถึง 3.เมื่อเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่ตามมาคือการตกงานของคนงาน เพราะหลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก สิ่งที่เห็นตามมาคือโรงงานอุตสาหกรรมหลายส่วนยุติการผลิต ตามมาด้วยการตกงาน วิกฤตคนตกงานยังเป็นเรื่องใหญ่

4.เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธุรกิจในชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ในประเทศไทยเงียบเหงากว่าที่เป็นอยู่ ดัชนีของตลาดเป็นดัชนีของชีวิต หมายความว่าสิ่งที่เป็นคู่ขนานกับภาคของคนตกงานและเศรษฐกิจถดถอยคือ การขยายตัวของปริมาณคนจน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก โจทย์ใหญ่ที่ต้องตามมาคือ คนจนจะขยายตัวขึ้นอีกเพียงใดในปี 2564

ม็อบลุยต่อ-ฝ่ายค้านซักฟอก

“ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวว่า 5.แม้ว่ารัฐบาลอาจรู้สึกว่าการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ช่วงปลายปีอาจแผ่วลง แต่เชื่อว่าในปี 2564 ไม่ได้บอกว่า การประท้วงรัฐบาลจะยุติลงไป เว้นแต่การระบาดของโควิด-19 แล้วมีเงื่อนไขของการประท้วงทางการเมืองไม่สามารถจัดเวทีชุมนุมได้

แต่สิ่งที่ตกค้างจากเวทีชุมนุมคือ ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคนรุ่นใหม่ ปี 2564 จะยังเป็นปัญหาสำคัญ รัฐสภาไทยจะดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ดำเนินการโดยประธานรัฐสภา หวังว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นการถอดชนวนความขัดแย้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าความหวังเช่นนี้ในปี 2564 ยังเป็นจริงหรือไม่

6.การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นโจทย์อีกชุดหนึ่งของการเมืองในปี 2564 น่าสนใจว่า การอภิปรายจะมีข้อมูลใหม่ที่ทำให้สังคมรู้สึกถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลเพียงใด เชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2564 จะเข้มข้นขึ้น

7.ในการต่อสู้กับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ หรือของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งการใช้มาตรการจับกุมอย่างเหวี่ยงแห ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกำลังสร้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น และโยงไปถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ภาพลักษณ์ของรัฐบาลในเวทีโลกยังเป็นโจทย์สำคัญ แม้ว่ารัฐบาลไทยพยายามพูดเหมือนรัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศว่า เป็นเรื่องกิจการภายใน แต่ในเวทีโลกปัจจุบัน ภาพลักษณ์เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ชอบธรรม

การเมืองสหรัฐกระทบบิ๊กตู่

8.แรงกดดันจากโลกภายนอก มาจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองของทำเนียบขาว ใน 4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาไม่ได้ออกแรงกดดันให้รัฐบาลอำนาจนิยมหันกลับไปสู่ประชาธิปไตย หลังจากท่าทีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย สนใจแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐในกรอบแคบ ๆ

แต่การเปลี่ยนเป็น โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครต อาจเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐ โดยเฉพาะทิศทางการให้ความสำคัญของประชาธิปไตยในเวทีโลก อาจเห็นผู้นำสหรัฐคนใหม่แตกต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่สนใจประชาธิปไตยบนเวทีโลกเลย จึงเป็นประเด็นที่เป็นผลกระทบการเมืองไทยในปี 2564

สิ่งที่ต้องปรับใหม่ ประเทศไทยอาจต้องยืนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตัน และปักกิ่ง หมดเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะคิดว่า ปักกิ่งเป็นนักบุญสำหรับรัฐไทย หลังรัฐประหาร 2557 ไม่ว่าปีกนิยมจีน หรือกลุ่มทหาร มีความคิดที่ชัดเจนว่า จีนเป็นนักบุญให้กับทหารไทย

ใช้ประชานิยมล้างภาพเผด็จการ

ทั้ง 8 มรสุมที่กระหน่ำรัฐบาลประยุทธ์ “ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ผลสืบเนื่อง-ต่อยอดอีก 5 เรื่อง 1.รัฐบาลในปี 2564 จะมีเสถียรภาพมากน้อย รัฐบาลอาจคิดว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเกิดจาก ส.ส.ที่มากกว่าในสภา และมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แต่การเมืองไม่ได้อยู่แค่ในสภาเพราะการเมืองส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นบนท้องถนน

2.ปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลจะพูดอย่างไร แต่เหมือนไม่สามารถสร้างความรู้สึกว่า รัฐบาลมีความชอบธรรมในตัวเอง เนื่องจากกติกาที่สร้างขึ้นในการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ออกแบบให้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งในปี 2562 ภาพความชอบธรรมจะเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ได้

เว้นแต่รัฐบาลจะแสวงหาความชอบธรรมด้วยการสร้างประชานิยมบางอย่างเพื่อแก้ภาพลักษณ์ของตัวเอง ปี 2564 จะยังเห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาความชอบธรรม โดยใช้ประชานิยมเป็นเครื่องมือ

ภาพลักษณ์บิ๊กตู่ คือปัญหา

3.ความน่าเชื่อถือทางการเมือง มาจากปัญหาภาพลักษณ์ของรัฐบาล ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศ มีความกังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลไทย สิ่งที่ตามมาคือความน่าเชื่อถือของรัฐบาล จะยังมีมากน้อยเพียงใดในปี 2564

4.ประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐ และเศรษฐกิจมหภาค หากมีการระบาดระลอกใหม่ในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น สังคมคงต้องการเห็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และบริหารเศรษฐกิจมหภาค ดังนั้น คำถามสำคัญในปี 2564 รัฐบาลจะยังมีประสิทธิภาพบริหารจัดการมากน้อยเพียงใด

และ 5.ภาพลักษณ์ของตัวผู้นำ ท่าที การแสดงออก รวมถึงตัวนโยบายที่ใช้ดำเนินการ เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของผู้นำรัฐบาล ซึ่งภาพลักษณ์อย่างนี้ไม่พอที่จะนำสังคมไปสู่อนาคตได้

3 ทางออกคลายวิกฤต

แม้ว่ารัฐบาลประยุทธ์เจอมรสุมรุมเร้าทั้งเศรษฐกิจ-โควิด ทว่าโครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลเข็นออกมา ชาวบ้านร้านถิ่นถูกใจไม่น้อย นโยบาย “คนละครึ่ง” จะพยุงให้ไปต่อได้ไหม “ศ.ดร.สุรชาติ” มองว่า

ด้านหนึ่งเป็นโครงการหาเสียงทางการเมือง ดูจากความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหา คนอยากได้โครงการนี้ และมีความชัดเจนกว่าหลาย ๆ โครงการที่รัฐบาลผลักดันออกมา

แต่ถ้ามองอีกขั้นหนึ่ง โครงการคนละครึ่งกำลังแก้ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล ที่รัฐบาลไม่มีตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามองพ้นโควิด-19 ทางออกการเมืองไทย จะกลับมาพูดถึงระบบรัฐสภา รัฐบาลและตัวผู้นำจะหาทางออกจากวิกฤตอย่างไร

ถ้าไม่ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็สามารถยุบสภา รวมถึงถ้านายกฯตัดสินใจว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ปรับ ครม.และยุบสภา แต่ยังมีเงื่อนไขสำคัญคือ การลาออกของตัวนายกฯ เพื่อเปิดโอกาสให้การเมืองได้สะสางกันใหม่ น่าสนใจว่า อะไรคือทางออกของรัฐบาลในปี 2564

“หรือที่สุดแล้ว รัฐบาลเชื่อว่าโครงการต่าง ๆ เป็นหลักประกันที่สามารถกุมฐานเสียงของประชาชนได้ ก็คือการยุบสภา เชื่อว่าทางออกปี 2564 ไม่ใช่ทางออกพึ่งการเมืองนอกระบบ ซึ่งในปี 2563 คือ การรัฐประหาร ผมยังเชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่อะไรที่ง่าย แม้การยึดอำนาจในไทยอาจจะยังง่าย แต่ชีวิตรัฐบาลหลังรัฐประหารจะลำบากมากกว่า”

“แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะอยู่ต่อไป บนเงื่อนไขความสำเร็จจากโครงการประชานิยม ก็มีแรงกดดันเกิดขึ้นและจะไม่หายไปไหน”

จับตาม็อบแรงงาน

แกนนำม็อบถูกตัดตอนด้วยคดีต่าง ๆ ร้ายแรงที่สุดคือ มาตรา 112 พลังมวลชนยังกดดันรัฐบาลได้อยู่หรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” มองโจทย์ว่า ถ้าผู้นำชุมนุมเรียนรู้บทเรียนในช่วงปลายปีหลายอย่าง เชื่อว่าปี 2564 จะเป็นช่วงการปรับตัวของม็อบ แต่ถ้าโควิด-19 ระบาดมาก ก็แปลว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไปว่ากันอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้น การปรับตัวของม็อบคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด และขึ้นกับแกนนำที่เป็นตัวขับเคลื่อนมองประเด็นบทเรียนอย่างไร หรือยังเชื่อว่า สิ่งที่พวกเขาทำยังเดินหน้าต่อได้

“ในอีกมุมหนึ่งเชื่อว่า แม้ว่าเราพูดถึงม็อบในบริบทนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ในขณะนี้ ม็อบอาจเกิดจากคนงานที่ตกงาน หรือเกิดจากคนจนที่ประสบปัญหา เป็น 2 ส่วนที่ละเลยไม่ได้”

แก้รัฐธรรมนูญ คือ โจทย์สำคัญ

ทว่า ฝ่ายความมั่นคงมักวิเคราะห์ว่า “ม็อบราษฎร” ใช้ยุทธวิธีเกินธง เสียงส่วนใหญ่แอนตี้ รัฐบาลจึงลอยตัว “ศ.ดร.สุรชาติ” มองกลับกัน

“รัฐบาลคิดเข้าข้างตัวเอง เชื่อว่าข้อ 3 (ปฏิรูปสถาบัน) ไปกลบข้อเรียกร้อง ข้อ 1 (พล.อ.ประยุทธ์ลาออก) ข้อ 2 (แก้รัฐธรรมนูญ) แต่คนในหลายส่วนไม่ได้มองว่า พอมีข้อเรียกร้องที่ 3 แล้ว ข้อเรียกร้องที่ 1 ที่ 2 ไม่ต้องคิดต่อ เชื่อว่าข้อเรียกร้องที่ 2 เรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นสำคัญ และขบวนการนิสิต นักศึกษา ไม่ได้มีขบวนเดียว แต่ขบวนที่สนใจมิติทางการเมือง โดยเฉพาะขบวนที่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีอยู่พอสมควรในมหาวิทยาลัย”

แม้วาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในสภาระหว่างกระบวนการดีไซน์สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หากสูตรของรัฐบาล คือ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง และ 50 คนมาจากการสรรหา ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็น ส.ส.ร.สืบทอดอำนาจ-เผด็จการ

“ศ.ดร.สุรชาติ” ประเมินว่า ที่รัฐบาลทำไม่ใช่ทางออก แต่เป็น “ทางเบี่ยง” ทำให้รัฐบาลอยู่ได้ แล้วมีผลกระทบน้อยที่สุด หากรัฐบาลตัดสินใจเลือกทางเบี่ยง คงมีกระแสเรื่องการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยังเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในปี 2564 ท่าทีจากปลายปี 2563รัฐบาลพยายามใช้ทางเบี่ยง ไม่ได้ต้องการสร้างทางออก ซึ่งรวมถึงกระบวนการสมานฉันท์ไม่ต่างกัน

“ผมเชื่อในความตั้งใจดีของประธาน ชวน หลีกภัย พยายามผลักดันโมเดลสมานฉันท์ออกมา แต่ท่าทีของรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้ว รัฐบาลอยากสมานฉันท์มากน้อยเพียงใด ถ้าเราพูดถึงสมานฉันท์ ต้องมีสัญญาณสมานฉันท์จากภาครัฐ เหมือนคำสั่ง 66/2523 แต่ถ้าประกาศสมานฉันท์แล้วยังเดินหน้าจับกุมไม่หยุด ก็จะเกิดการไม่ไว้วางใจ แล้วมองว่าการสมานฉันท์ของรัฐบาลเป็นการเล่นละคร”

แนะรัฐส่งสัญญาณสันติ

“รัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลเป็นตัวละครหลัก อำนาจอยู่ในมือของรัฐ และรัฐบาลต้องส่งสัญญาณ ถ้าจับกุมใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สมานฉันท์ไม่มีทางเกิด ในสิ่งที่ประธานชวนทำ จะกลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวของมันเอง การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทย และทำลายภาพลักษณ์ของตัวรัฐบาลค่อนข้างมาก”

“ศ.ดร.สุรชาติ” ปิดท้ายว่า ใน 2564 ไม่ใช่วัวเชื่องให้ผู้นำรัฐบาลรีดนมด้วยมือได้ง่าย ๆ แต่เป็นวัวที่พร้อมพุ่งเข้าชนรัฐบาล ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสามารถดำเนินการอย่างไรกับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2564