หมอพรหมินทร์ ชี้หยุดโกลาหล โควิดติดเชื้อได้ แต่อัตราตายลดลง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เชื้อโควิดระบาดได้ แต่อัตราตายลดลงมาก

วันที่ 6 มกราคม 2564 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “การระบาดโรค COVID-19 ในประเทศไทยที่เริ่มแต่ช่วงปลายปี ต่อเนื่องจนช่วงปีใหม่ สร้างความตระหนกตกใจ ปนความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากควาบกพร่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ เนื่องจากการหาประโยชน์ของกลุ่มคนผิดกฎหมายที่ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย อีกทั้งการสั่งการ การจัดการและมาตรการของรัฐที่สร้างความโกลาหลในหมู่ประชาชนอีกระลอก”

สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากในรอบปีที่ผ่านไป ความรู้เรื่องธรรมชาติของโรค การรักษา การป้องกันการติดเชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกคน มาตรการ Social distancing การพัฒนายารักษาและวัคซีนป้องกัน ความเพียงพอของวัสดุอุปกรณ์ ทางการแพทย์ และสถานบริการรักษาโรค ความพร้อมในการเร่งผลิตจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น

สิ่งเหล่านี้ถ้ารัฐได้ให้การศึกษาประชาชน อย่างถูกต้องต่อเนื่อง ‘ความกลัวอย่างมีสติ และการจัดการที่ดี’ ย่อมลดความโกลาหล และช่วยจัดการทรัพยากรทั้งกำลังคน งบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ได้เหมาะสมและควบคุมโรคได้

โรคโควิดระบาดได้ แต่อัตราการตายลดลงมาก เป็นเช่นนี้ทั้งโลก รวมทั้งสถิติของไทย ศคบ. รายงานจำนาวนผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 ถึง 6 ม.ค. 2564 จำนวน 4,868 คน แต่รายงานผู้ตาย เพิ่ม เพียง 6 -7 ราย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากขนาดนี้ จะมีผู้เสียชีวิต ในระยะเดียวกัน เกือบ 10 เท่า (จากจำนวนติดเชื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 รวม 9331 ที่มีแต่รายงานการตาย สะสม 66 ราย)

นพ.พรหมินทร์ ระบุสาเหตุการระบาดรอบใหม่ และอัตราการตายลดลง อาจเกิดจาก สาเหตุ ดังนี้

  1. เชื้อไวรัส มีชีวิตอยู่ลำพังได้ไม่นาน ต้องอาศัยเซลของมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่และขยายพันธุ์ เชื้อสายพันธุ์รุนแรงทำให้ผู้ป่วยตาย เชื้อนั้นก็จะตายไปพร้อมผู้ป่วย เชื้ออยากมีชีวิตอยู่ยาวอยู่รอดได้ก็จะอยู่ในคนแข็งแรง เพื่อดำรงชีวิตได้ยาวนาน
  2. เรารู้จักเชื้อดีขึ้น รู้จักยาและวิธีรักษาดีขึ้นเรื่อย ๆ อัตราตายก็น้อยลงเรื่อย
  3. การติดเชื้อแล้ว มีผลตั้งแต่ ไม่มีอาการ asymptomatic (17-20%), มีอาการแต่ไม่รุนแรง, มีอาการต้องการการรักษาในโรงพยาบาล, ที่ส่วนหนึ่งพัฒนาถึงสถานะวิกฤต ต้องการใช้ ICU

ดังนั้นหากรัฐให้ความรับรู้ที่ถูกต้อง เปิดเผยและชี้แจงความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลง สร้างความมั่นใจว่า “รัฐรู้และมีการวางแผนเตรียมพร้อมอย่างไร การบริหารทรัพยากรเพียงพอและตรงเป้าหมายอย่างไร” จนประชาชนมั่นใจ และร่วมมือ บริหารอย่างเป็นฝ่าย “รุก” มากกว่า “ตั้งรับ” ตามกระแสสื่อ

ก็จะลดความโกลาหล เปลี่ยนเป็น ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก ก็จะไม่เกิดกรณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาครต้อง ประกาศขอรับบริจาค ระดมทุน ระดมความร่วมมือขอใช้ที่สร้าง รพ.สนาม จนมีประชาชนประท้วงทั้งในสมุทรสาคร และราชบุรี ดังกับว่าข้าราชการระดับจังหวัด ถูกปล่อยให้เผชิญปัญหาร่วมกับประชาชนในจังหวัดตามลำพัง ขาดจากการสนับสนุนจากส่วนกลางระดมคน งบประมาณ ทรัพยากรจากหน่วยงานข้างเคียงหรือส่วนกลาง เร่งควบคุมสถานการณ์ก่อนที่จะลุกลามไปกว่านี้

และที่สำคัญ รัฐต้องปลุกระดมให้ประชาชนร่วมกัน สวมหน้ากาก ดำเนินชีวิตแบบ social distancing, work from home ซึ่งถือเป็นมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค (Social Vaccination)ที่ได้ผลที่สุด ที่ประชาชนไทยเคยร่วมกันประสบผลสำเร็จมาแล้ว