กรณ์ : ชงแจก 5 พัน ทำทันที ดีดลูกคิดเงินรัฐ 7.4 แสนล้าน เยียวยา 6 เดือน

สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

“กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-ขุนคลังโลก

เคยเสนอแผนการใช้เงินใน-นอกงบประมาณ และการกู้เงินเพื่อเยียวยา “โควิด” รอบแรก

ทั้งออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน ปรับ-ลด งบฯไม่เร่งด่วนและไม่จำเป็นทุกกระทรวง และการออก พ.ร.บ.งบฯกลางปี

ข้อเสนอของเขาบังเอิญตรงกับมาตรการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งแจกคนละ 5,000 บาท 3 เดือน ในชื่อโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”

การระบาดระลอกใหม่ “กรณ์” เสนอให้โยกเงินกู้ 6 แสนล้านบาท เยียวยาประชาชนอีกครั้ง

เขาถาม “พล.อ.ประยุทธ์” ผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ดัง ๆ ว่า “คุณรออะไรอยู่”

Q : การช่วยเหลือประชาชนภาคต่อจากการระบาดของโควิดรอบแรก

ในด้านเศรษฐกิจเหตุผลสำคัญ คือ ชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้ว เงินออมเงินเก็บก็หมด ภาระหนี้สินก็เพิ่มขึ้น รายได้การค้าการขายที่ดูจะโงหัวขึ้นมาก่อนหน้านี้ พอเจอการระบาดรอบสองก็ฟุบลงไปอีก ทำให้สับสนและขาดกำลังใจ

สิ่งแรกผมอยากให้นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า หนึ่ง รับรู้ความเดือดร้อน ความเจ็บปวด สอง มีความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีในการช่วยเหลือประชาชน ผ่อนหนักเป็นเบา และสาม จะทำโดยเร็ว

อย่างน้อยในทางจิตวิทยา สัญญาณที่ชัดเจนแบบนี้ทำให้คนมีกำลังใจ และจะสะสางความสับสนที่ชาวบ้านมี ว่า เอ๊ะ จะช่วยหรือไม่ช่วย และที่ไม่ช่วยเพราะเงินหมดหรือเปล่า การสื่อสารของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดการตีความ

สัญญาณที่ชัดเจน ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือ เงินไม่ได้เป็นปัญหาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ปี’64 ที่มีเงินทั้งในส่วนที่จัดสรรไว้เพื่อดูแลโควิด บวกกับงบฯฉุกเฉิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเองเป็นคนยืนยันว่า มี

บวกกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เรายังใช้เงินไปไม่ถึงครึ่ง ซึ่งคงเหลือประมาณ 6 แสนล้านบาท เราสามารถเรียกกลับคืนมาได้ แต่ต้องรีบดำเนินการ

งบฯเจ้าปัญหา คือ งบฯฟื้นฟู มีความพยายามที่จะกระจัดกระจายไปโครงการโน้น โครงการนี้อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนจากปัญหาที่เกิดจากโควิด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ผมคิดว่าในภาวการณ์ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอาจจะพอไปได้ แต่พอสถานการณ์กลับมาแบบนี้ มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีต้องสำรองเงินทุกบาทไว้ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน

Q : การให้ความสำคัญในการช่วยเหลือควรทุ่มไปที่คนกลุ่มไหนก่อน

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ ดูว่าการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเที่ยวที่แล้วอยู่ในสถานะค่อนข้างเปราะบางทางเศรษฐกิจ ช่วงนี้ยังเปราะบางอยู่เหมือนเดิม อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ คงไม่หนีกลุ่มเดิมที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยา บวกกับอาจจะมีกลุ่มใหม่ที่รัฐบาลควรพิจารณา

กลุ่มเดิม เช่น ประชาชนที่ขึ้นทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท 3 เดือน 20 กว่าล้านคน กลุ่มนี้มีการคัดกรองมาแล้วครั้งแรกว่า เป็นกลุ่มยากจน ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปคัดกรองอีก สามารถช่วยเหลือได้เลย

กลุ่มลูกจ้าง ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งงาน และได้รับการเยียวยาในฐานะสมาชิกประกันสังคมผ่านการชดเชยโดยกองทุนประกันสังคมสูงสุด 10,500 บาท 6 เดือน

กลุ่มนี้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไงยังหางานทำไม่ได้ แต่จะให้รับความช่วยเหลือจากประกันสังคมอีกรอบ คงเป็นไปไม่ได้ตามกฎหมาย

รัฐบาลควรหาวิธีช่วยเหลือโดยตรง เช่น การให้เงินโดยตรง เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งคราวที่แล้วกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ อย่าไปออกแบบระบบใหม่ให้เสียเวลา ระบบเก่าสามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้เลย

กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานบริการต่าง ๆ หรือได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ประชาชนไม่กล้าใช้บริการ

ทุกคนมีภาระค่าใช้จ่าย ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะให้บริการไม่ได้ แต่ภาระดอกเบี้ยยังมีอยู่ ค่าเช่ายังมีอยู่ ค่าจ้างแรงงานยังจ่ายอยู่ ซึ่งเราไม่อยากให้ใครต้องถูกปลดออกจากงาน รัฐบาลควรช่วยแบกรับค่าใช้จ่ายแทนผู้ประกอบการ
ที่เดือดร้อน

กลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับประโยชน์จากโครงการคนละครึ่งกว่า 1 ล้านราย ปัจจุบันคนออกไปตลาดน้อยลง อาจจะต้องหาวิธีเติมเต็มให้กับเขา

กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น นักร้อง ครูสอนพิเศษ จำนวน 4 ล้านคน ขณะนี้หากินยากขึ้น รัฐบาลไม่ควรมองข้ามที่จะหาวิธีนำเขาเข้ามามีส่วนร่วมการได้รับความช่วยเหลือ อาจจะเป็นการให้เงินโครงการ 5,000 บาท 3 เดือน

ข้อดีของการช่วยเหลือรอบที่สอง คือ อย่างน้อยเราเห็นทางออกแล้วนะครับ เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือ เรารู้ว่ามันมีวัคซีนแล้ว

รัฐบาลส่งสัญญาณว่า กลางปีนี้จะฉีดวัคซีน สิ้นปีนี้จะฉีดครบ อย่างน้อยคนไทยครึ่งหนึ่งของประเทศ การช่วยเหลือประชาชนให้เขามีชีวิตทางเศรษฐกิจและปากท้องอยู่ได้จนถึงวันนั้น

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เงินกู้ เงินงบประมาณต้องนำมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน ต้องช่วยในช่วงนี้ ถ้าไม่ช่วยในช่วงนี้ก็ไม่รู้จะช่วยในช่วงไหนแล้ว

Q : งบประมาณที่มีอยู่ 7.4 แสนล้านบาทต้องช่วยกี่เดือนแล้วเงินจะพอหรือไม่

เราคิดเผื่อไว้ 6 เดือน ช่วยจนกระทั่งสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ธุรกิจการค้าการขายจะกลับมาเอง หรือระยะเวลาที่สั้นกว่านั้น ถ้าพบว่าอัตราการแพร่เชื้อลดลง อาจจะลดภาระการใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนไปได้

รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดว่า รู้ และเข้าใจ ว่าประชาชนเดือดร้อน ตอนนี้ยังขาดสัญญาณนี้อยู่ ทำให้ประชาชนขาดกำลังใจ

ส่วนเงิน 7.4 แสนล้านบาท เยียวยา 6 เดือน เงินจะพอหรือไม่ ผมคิดว่าถ้าใช้ดี ๆ พอครับ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนได้มหาศาล คำถามคือ คุณรออะไรอยู่

Q : รัฐบาลจะแบ่งพื้นที่การช่วยเหลือ ตามระดับการระบาดเป็นโซนสีแดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง ถ้าคุณกรณ์เป็น รมว.คลังในรัฐบาลนี้ จะกำหนดแผนการในการช่วยเหลืออย่างไร

ผมจะแยกประเด็นเรื่องสาธารณสุขออกจากประเด็นเยียวยา ล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ ประชาชนเดือดร้อนอยู่ดี เพราะฉะนั้น อย่ามาผูกเรื่องของการช่วยเหลือกับการล็อกดาวน์ ล็อกดาวน์เป็นมาตรการทางสาธารณสุข การช่วยเหลือการเยียวยาเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ

สมมุติกรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ภูเก็ตไม่ใช่ หรือสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย ไม่ใช่ แต่ทำให้คนกรุงเทพฯไปเที่ยวไม่ได้ ถามว่าคนภูเก็ต คนสมุยเขาเดือดร้อนไหมครับ เพราะฉะนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนอยู่ในพื้นที่สีแดงหรือไม่

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องช่วย รัฐเป็นที่พึ่งเดียวที่เขามีตอนนี้ และกำลังเงินของรัฐก็มี อย่าเอาไปใช้ทำเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการต่าง ๆ ที่รอเสนอขอเงินฟื้นฟู พักเอาไว้ก่อนเถอะ

Q : กลไกการใช้เงินกู้ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ รอบนี้ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 5 และมาตรา 6 เขียนไว้ชัดว่า กรณีจำเป็นสามารถโยกเม็ดเงินส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟู แม้กระทั่งสาธารณสุขมาใช้ในการเยียวยาประชาชนได้ ขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง

Q : แหล่งเงินใหม่ ๆ นอกจาก พ.ร.ก.เงินกู้-พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

ความจำเป็นที่ต้องกู้เพิ่มไม่มี ด้วยเงิน 7 แสนล้านบาทที่มีอยู่ในมือ และประสิทธิภาพการเงินของรัฐก็ไม่ค่อยสู้จะดีนัก เวลาผ่านมาตั้งนานแล้ว พ.ร.ก.เงินกู้ยังใช้ไปได้แค่ 4 แสนล้านบาทเอง ขนาดเป็นงบฯฉุกเฉินนะครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า เงินพอ

แต่ต้องเผื่อไว้ คือ โอนเงินจากงบประมาณปี’64 รายการที่ไม่มีความเร่งด่วน จะได้มีกระสุนเพียงพอในมือในการใช้ในการช่วยเหลือประชาชน สามารถทำได้

Q : รัฐบาลประกาศไทม์ไลน์การจัดซื้อวัคซีนออกมาแล้ว ประเมินว่าจะส่งผลต่อมู้ดธุรกิจอย่างไร

ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ตอบสนองจากการทดลองวัคซีนต่าง ๆ ไปในทางบวก ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้น พฤศจิกายน 2563 ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างแรง แสดงว่าเขาประเมินไว้แล้วว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะฟื้นได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น หรือหลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกิดการระบาดระลอกสอง ระลอกสาม ในหลายประเทศรุนแรงมาก แม้แต่ประเทศอังกฤษ ซึ่งประกาศล็อกดาวน์ในระดับที่ไม่เคยต้องทำมาก่อน

นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกว่า ภายใน 21 วัน ประเทศอาจจะล่มสลาย ระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ได้ จึงต้องใช้มาตรการค่อนข้างเข้มข้นมาก ๆ

เรายังคาดหวังได้ว่า เมื่อมีวัคซีน ถ้า ณ วันนั้น เอสเอ็มอีเรายังไม่เจ๊งหมด ประชาชนไม่เป็นหนี้ซะจนต้องล้มละลายไป ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาอยู่ในสถานะเดิมได้ ผมคิดว่า เศรษฐกิจก็ฟื้นเร็วได้

รัฐบาลต้องช่วยตอนนี้ ช่วยก่อนที่ทุกคนจะล่มสลายไป ต้องเลี้ยงไข้ไว้ เพราะอีกไม่กี่เดือนกลับมาอยู่ในสภาพที่จะดูแลตัวเองได้เหมือนเดิม

Q : ข้อเสนอครั้งนี้รัฐบาลควรจะนำไปใช้ต่อยอดอย่างไร หรือรัฐบาลควรจะตัดมายาคติอะไรที่คิดว่าจะมี

ผมคิดว่า กฎหมายเขียนเผื่อไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ให้ทำได้ ความเห็นของผมคือ ต้องช่วย แต่ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำ คือ รัฐบาลมองว่าไม่จำเป็นต้องช่วย เอาเงินไปทำโครงการต่าง ๆ ในเรื่องที่ข้าราชการขอมา ผมคิดว่า ไม่เหมาะสม

ถ้าบอกว่า งบฯส่วนนี้ราชการขอมาแล้ว บางส่วนจัดสรรแล้วด้วยซ้ำไป อันนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้นำแล้วว่า ถ้าคุณตั้งใจจริง ๆ เพียงแค่เรื่องของการจัดสรร ไม่ใช่ปัญหา ส่วนงบฯที่ยังไม่ได้จัดสรร ยังไม่ต้องพูดถึง เอากลับมาได้ทันที

อาจจะมีหน่วยราชการบางหน่วย นักการเมืองบางคนที่นึกว่าจะได้งบฯ อาจจะต้องผิดหวังกันไป แต่เรากำลังพูดถึงความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะฉะนั้น ผมอยากจะเห็น action ของรัฐบาล และเป็นสาเหตุที่พรรคกล้าออกมาพูดตอนนี้

ผมคิดว่า รัฐบาลมีหน้าที่ และครั้งนี้ต้องยอมรับว่า ความรู้สึกของประชาชนไม่น้อยมองว่า การระบาดรอบสองเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองที่หละหลวม ยิ่งทำให้เขามีความรู้สึกว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบช่วยเหลือเขา